LONG COVID มีผลแค่ไหนกับโรคสมองและระบบประสาท
LONG COVID มีอาการมากกว่า 200 อาการ โดยโรคสมองและระบบประสาทเป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลอย่างเห็นได้ชัดและมีอาการดังนี้
หากคุณเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว ให้คุณลองสังเกตตัวเองดูอีกทีว่าอาการที่เคยมีขณะที่ติดเชื้อ อย่างอาการเหนื่อยเพลียนั้นยังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ “ยังมีอยู่” มันมีความเป็นไปได้ว่าคุณกำลังตกอยู่ในภาวะ ลองโควิด (LONG COVID)
รู้จัก LONG COVID
อาการและอาการแสดงของโรคโควิด-19 คล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว
อาการ Long Covid หลังติดเชื้อโควิด 19 โอกาสที่เป็น พบได้บ่อย และเป็นนานขนาดไหน
4 อาการ Long Covid พบบ่อย ส่งผลต่อ "ระบบหัวใจและปอด" หลังป่วยโควิด-19
และอาจมีบางอาการที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ เช่น การไม่ได้กลิ่นหรือการไม่ได้รส อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อสามารถมีอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาหายจากโรคแล้วได้ด้วย ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านั้นเรียกว่า ภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID)
อาการ LONG COVID
- ระบบทางเดินหายใจ – อาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด – อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว
- ระบบทางเดินอาหาร – ปวดท้อง ท้องเสีย ลดความอยากอาหาร
- อาการอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อระบบใด ๆ– ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย
- ความผิดปกติที่พบได้จากการตรวจเลือดโดยไม่มีอาการ – เช่น ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นผิดปกติ ค่าการกรองและการทำงานของไตลดลง ค่าการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลลดลงในผู้ป่วยเบาหวาน และค่าระบบการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ เป็นต้น
อาการลองโควิด (Long COVID) ที่พบได้บ่อย คือ อาการในส่วนของระบบประสาทและจิตเวชศาสตร์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ภาวะสมองล้า (Brain Fog) ภาวะสับสน (Delirium) ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Dysfunction) ภาวะเครียดภายหลังภยันตรายหรือพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) อาการซึมเศร้า กลุ่มอาการย้ำคิดย้ำทำ และภาวะวิตกกังวล (Anxiety) เป็นต้น
ภาวะสมองล้า (Brain fog) คือ ภาวะที่สมองมีการทำงานลดลง โดยส่งผลให้การคิดและตัดสินใจช้าลง การวางแผนและแก้ปัญหาลดลง รวมถึงการลดลงของสมาธิ (Attention) บางคนอาจเป็นมากจนส่งผลให้ลืมความจำระยะสั้น หรือทำให้ไม่สามารถทำงานที่เคยทำเป็นประจำได้
ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ มี 2 ภาวะที่มักพบ ได้แก่
- กลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome: POTS) ซึ่งลักษณะของกลุ่มอาการนี้คือ หัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติเวลาเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืนหรือนั่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ไปจนถึงหน้ามืดและหมดสติได้
- ภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Myalgia Encephalitis/Chronic Fatigue Syndrome, ME/CFS) ซึ่งอาการของภาวะนี้คือ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สมองล้าคิดได้ช้าลง ขาดสมาธิ และมีปัญหาเรื่องการนอน
LONG COVID กับโรคทางระบบประสาทและสมอง
จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า การมีโรคประจำตัวทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสัน ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) แต่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว หากมีการติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบและทำให้อาการของตัวโรคแย่ลงเร็วกว่าคนที่ไม่มีการติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อมูลพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนทางสมอง หรือทำให้อาการโรคเดิมแย่ลงได้มากกว่าการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดอื่น
โดยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (สมองขาดเลือดและเลือดออกในสมอง) โรคสมองเสื่อม และโรคทางจิตเวช (เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล) มากกว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่าคนไข้จะมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากขึ้น หากมีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ (Intensive Care Unit, ICU) หรือมีภาวะสับสน (Delirium) ขณะรักษาในโรงพยาบาล
ดังนั้นไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทมาก่อนหรือไม่ การติดเชื้อโควิด-19 สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ทั้งหมด หากไม่มีโรคประจำตัวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ หลังการติดเชื้อ แต่หากมีโรคประจำตัวมาก่อน การติดเชื้อจะทำให้การดำเนินโรคนั้นแย่ลงเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ ในภาวะ Long COVID ตามมาด้วยเช่นกัน และถึงแม้ว่าการมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทจะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น Long COVID มากกว่าประชากรโดยทั่วไป แต่การที่โรคประจำตัวแย่ลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็นย่อมส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
รักษา LONG COVID
ส่วนใหญ่การรักษาโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) จะเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก ยังไม่มีการรักษาจำเพาะต่อภาวะนี้ อย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากเพื่อค้นหาการรักษา รวมถึงแนวทางในการป้องกันภาวะนี้ ซึ่งคงต้องรอติดตามผลการศึกษาดังกล่าวต่อไป สิ่งที่สามารถทำได้ดีที่สุดในตอนนี้เพื่อป้องกันภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) คือการป้องกันตัวเองให้ไม่เป็นโควิด-19 ดูแลสุขภาพร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที
คำถามนี้มีคำตอบ! ผู้ติดเชื้อโควิด ควรกักตัวกี่วัน 10 วันอาจไม่ใช่คำตอบตายตัว ดร.อนันต์ แจงสาเหตุ
ผลศึกษาชี้วัคซีนโควิด-19 สร้างภูมิจัดการ BA.2 ได้มากกว่า BA.1
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล