ถอดรหัสสภาล่ม ฝ่ายค้านต้องการอะไร?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การปล่อยให้สภาล่ม สรุปแล้วเป็นความผิดของใคร และ ใครได้ประโยชน์จากเหตุการณ์สภาล่ม แม้ฝ่ายค้านจะยืนยันมาตลอดว่าหน้าที่รักษาองค์ประชุม เป็นของรัฐบาล แต่การขอนับองค์ประชุมบ่อยๆก็ทำให้ฝ่ายค้านถูกมองว่ากำลังเล่นเกมโดยไม่สนใจเรื่องการทำหน้าที่ จนทำให้เมื่อวาน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ฝ่ายค้านเล่นเกมแบบนี้เพราะ มีนายทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลัง ล่าสุด พีพีทีวี พูดคุยกับ แกนนำฝ่ายค้าน ยืนยันว่าไม่เป็นเรื่องจริง

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเกมนับองค์ประชุมเป็นยุทธศาสตร์ที่เขาและพรรคเพื่อไทยร่วมกันคิด ไม่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวหาว่า นายทักษิณ อยู่เบื้องหลังเกมการเมืองครั้งนี้ พร้อมยอมรับการขอให้นับองค์ประชุมต่อเนื่องเป็นเกมการเมืองที่ฝ่ายค้านเดินหน้าทำ เพราะ เป็นกลไกเดียวในสภาที่ฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงน้อยกว่ารัฐบาล จะใช้ต่อกรกับรัฐบาลซึ่งมีเสียงมากกว่า 

สภาล่ม! รัฐบาลซัดฝ่ายค้านเล่นเกมการเมือง

“สุเทพ” โยน “ทักษิณ” อยู่เบื้องหลัง เกมยุบสภา

นอกจากนี้ มองว่า หากรัฐบาลมีเสถียรภาพมากพอก็ต้องคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้ พร้อมย้ำว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนชัดว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ

นายสุทิน ยืนยันว่า ฝ่ายค้านกำลังทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอยู่ อยากให้ประชาชนเข้าใจเกมการเมืองนี้ แม้ว่าการที่สภาล่มบ่อยๆจะไม่ส่งผลดีต่อฝ่ายค้านด้วย แต่ก็พร้อมทำเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการทำหน้าที่แล้ว

สอดคล้องกับความเห็นของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดใจว่า ไม่ได้อยากให้สภาล่ม เพราะ รู้ดีว่าการที่สภาล่มทำลายศรัทธาของประชาชน แต่ที่ต้องทำ เนื่องจาก เป็นมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน และเพื่อรักษาเสถียรภาพของฝ่ายค้าน แต่ลึกๆก็เชื่อว่าเกมนับองค์ประชุมอย่างเดียวไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลยุบสภาไม่ได้

พีพีทีวี พยายามถามทั้งนายรังสิมันต์ และ นายสุทิน ว่า จริงๆแล้วเกมของฝ่ายค้านต้องการให้รัฐบาลยุบสภาโดยเร็วใช่หรือไม่ เราได้คำตอบว่า ฝ่ายค้านอยากให้ยุบสภา แต่ก็เชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ทำ  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่เสร็จ

เมื่อถามว่า หากเดินหน้ากดดันแบบนี้ต่อไป รัฐบาลอาจใช้ช่องทาง ยุบสภา และ ออกกฎหมายลูกเป็นพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. แทน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจทำให้ฝ่ายค้านเสียเปรียบในการเลือกตั้งใหม่ เพราะ กฎหมายที่ออกเป็น พ.ร.ก. จะออกโดย คณะรัฐมนตรีเพียงฝ่ายเดียว

ประเด็นนี้นายรังสิมันต์ ยอมรับว่า กังวลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลพร้อมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตอนนี้ รวมถึงมั่นใจว่า ท้ายที่สุดรัฐบาลจะเลือกการออกกฎหมายลูกตามช่องทางปกติ เพราะ มีความโปร่งใส่มากกว่า

สำหรับเส้นทางการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และ การยุบสภา พีพีทีวี รวบรวมข้อมูล พบว่า หากจะยุบสภาจริงๆสามารถทำได้เลย ส่วนการเลือกตั้งใหม่ อาจต้องรอการทำกฎหมายลูกก่อน ซึ่งตอนนี้ มี 2 ฉบับที่รอการพิจารณา คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.

แต่หากรัฐบาลเลือกเส้นทางยุบสภาตอนนี้ จะต้องเดินหน้าออกพระราชกำหนด แทนกฎหมายปกติ แนวทางนี้ นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี บอกว่าทำได้ แต่ไม่แนะนำเพราะจะถูกครหาว่า รัฐบาลออกกติกาเอง ซึ่งหมายความว่า หากฝ่ายค้านเลือกกดดันให้สภาล่มต่อเนื่องจนยุบสภาก็เสี่ยงที่จะมีกติกาการเลือกตั้ง ที่ออกโดยรัฐบาลฝ่ายเดียว

หรือหากรอตามกระบวนการ คือ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะมีการประชุมรัฐสภา (ส.ส.และส.ว.) เมื่อ กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับเข้าสภา หากผ่านวาระแรก ก็จะมีใช้เวลาดำเนินการวาระ2-3 รวม 180 วัน และ รอประกาศใช้กฎหมายอีก 90 วัน หรือหมายความว่า จะใช้เวลา รวมประมาณ 8 เดือน (นับจากผ่านวาระที่ 1) จึงจะมีกฎหมายการเลือกตั้งที่พร้อมเลือกตั้งใหม่

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ