รวมบทลงโทษทั่วโลก “ปกปิดไทม์ไลน์-ให้ข้อมูลเท็จ” พบ “ไทย” ปรับน้อยติดคุกนาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่มีการปกปิดหรือโกหกไทม์ไลน์โควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกต่างพบสถานการณ์คล้ายกัน มีการกำหนดบทลงโทษหนักเบาต่างกันออกไป

กางบทลงโทษ ผู้ป่วยโควิด-19 ปกปิดข้อมูล โซเชียล จวกยับ ดารา-จนท.รัฐ ปิดบังไทม์ไลน์

ด่วน!! งานเข้า "แก๊งดีเจมะตูม" กทม.เค้นไทม์ไลน์ หากยังปกปิดดำเนินคดี ผบ.ตร.ลั่นหากเป็นตำรวจโดนแน่

“การปกปิดไทม์ไลน์” ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อได้ และกำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมไทย

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่เกิดเรื่องทำนองนี้ ในต่างประเทศเองก็มีเช่นกัน และหลายประเทศก็เพิ่มบทลงโทษให้ครอบคลุมการโกหกของคนบางกลุ่มที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย

สำหรับประเทศไทย มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 17 ) ข้อ 4 เรื่องโทษ ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  ย่อมเป็นความผิดซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว นับว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโทษจำคุกสูงมากสำหรับการปกปิดไทม์ไลน์หรือให้ข้อมูลเท็จ

ขณะที่ประเทศที่กำลังเกิดการระบาดหนักของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง อังกฤษ เอง ก็เกิดการให้ข้อมูลปลอมเช่นกัน แต่ส่วนมากเป็นการให้ข้อมูล “คนอื่น” เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าคนที่ไม่ชอบหน้าติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้คน ๆ นั้นต้องเข้ารับการกักตัว และสูญเสียรายได้ เป็นการแก้แค้นทางหนึ่งซึ่งรัฐบาลออกมาบอกว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงมีกฎหมายระบุว่า หากผู้ใดให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งต่อคนที่ไม่ชอบหน้า และคนใกล้ชิดที่ต้องการเลี่ยงการกักตัว รวมถึงการปกปิดข้อมูลเสี่ยงของตนเอง จะต้องโทษปรับ 1,000 ปอนด์ (ราว 41,000 บาท) สำหรับความผิดครั้งแรก หากกระทำผิดซ้ำ โทษปรับจะทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงโทษปรับสูงสุด 10,000 ปอนด์ (ราว 410,000 บาท) ทั้งนี้ไม่มีโทษจำคุกแต่อย่างใด

ขยับมาที่ประเทศในเอเชียอย่าง เกาหลีใต้ เคยเกิดเหตุผู้ชายคนหนึ่งหลอกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าตนเองตกงานอยู่ ทำให้ไม่ได้เดินทางไปไหนเลย แต่ในความเป็นจริงชายคนนี้เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ จนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับชายคนนี้ราว 60 ราย

หลังเกิดเหตุดังกล่าว ส่งผลให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ (KCKC) ยื่นคำขาด กำหนดบทลงโทษ ผู้ที่ให้ข้อมูลเท็จหรือหลอกลวงอันเป็นอุปสรรคมในการสอบสวนโรค ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10 ล้านวอน (ราว 268,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเราอย่าง สิงคโปร์ ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเคยเกิดเหตุคู่รักคู่หนึ่งเดินทางกลัจากจีนวันที่ 22 ม.ค. 2020 พบว่าติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 31 ม.ค. และโกหกไทม์ไลน์ระหว่างวันที่ 22-29 ม.ค. ทำให้สาธารณสุขสิงคโปร์ส่งฟ้องศาล

ร้อมกันนี้ สิงคโปร์กำหนดว่า หากมีการโกหกหรือปกปิดไทม์ไลน์อีก อาจต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สิงโปร์ (ราว 225,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะรับมือสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี แต่ก็มีจุดผิดพลาดจนสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก รวมถึงเรื่องของข้อมูล ทำให้ล่าสุด ญี่ปุ่นเร่งพูดคุยถึงการเพิ่มโทษเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ให้ครอบคลุมขึ้น

เบื้องต้นญี่ปุ่นวางแผนว่า จะกำหนดโทษให้กับผู้ที่ปล่อยข่าวลวง รวมถึงผู้ที่ปกปิดประวัติการใช้ชีวิตและการเดินทางของตนเอง โดยยังไม่มีโทษจำคุก แต่วางแผนปรับเป็นเงิน 500,000 เยน (144,000) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นเรื่องลงมติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะออกบทลงโทษผู้ที่โกหกหรือปกปิดไทม์ไลน์ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งไม่มีอะไรเลยทั้งโทษจำโทษปรับ แม้เคยเกิดเหตุผู้ติดเชื้อโควิด-19 โกหกเส้นทางไทม์ไลน์ของตัวเองจนประกาศปลดล็อกดาวน์ก่อนกำหนดทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาแล้วก็ตาม

กระนั้น แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีบทลงโทษที่บังคับใช้ทั่วประเทศในเรื่องของการปกปิดไทม์ไลน์ แต่คำสั่งขอองหน่วยงานสาธารณสุขในรัฐต่าง ๆ ก็เริ่มมีการกำหนดค่าปรับสำหรับการจัดทำเอกสารที่เป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดระหว่างการข้ามพรมแดน

ตัวอย่างเช่นในรัฐนิวเซาท์เวลส์ อาจมีการปรับ 4,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 91,000 บาท) หากให้ข้อมูลเท็จหรือปลอมแปลงข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ที่พรมแดน

เราจะผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในส่วนของประชาชนนั้นเราอาจทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ทั้งหารสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือสม่ำเสมอ และหากติดโควิด-19 ก็ต้องแจ้งข้อมูลและไทม์ไลน์ “ทั้งหมด” ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่เองก็ต้องโปร่งใส ให้รายละเอยีดที่จำเป็นทั้งหมดแก่ประชาชนเพื่อให้ป้องกันการแพร่ระบาดได้ มิเช่นนั้นแล้ว ต่อให้การ์ดไม่ตก เราก็โดนน็อกก่อนหมดยกได้อยู่ดี

เรียบเรียงจาก ราชกิจจานุเบกษา / ABCCNA / Evening Standard / Korea Herald / Mainichi

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ