ต้องเร่งฉีด! พบฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มเดียวสู้ "เบตา-เดลตา" ไม่ไหว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




งานวิจัยใหม่พบ การฉีดวัคซีนโควิด-19 “แอสตร้าเซเนก้า” หรือ “ไฟเซอร์” เพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพต่ำในการรับมือสายพันธุ์ “เบตา-เดลตา”

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ “วัคซีนโควิด-19” เป็นอาวุธสำคัญที่หลายประเทศต่างเร่งจัดหาเพื่อที่อย่างน้อยจะได้ฉีดให้ประชากรของตนบางส่วน

แต่งานวิจัยล่าสุดจากสถาบันวิจัยปาสเตอร์ ฝรั่งเศส กำลังจะทำให้วัคซีนมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ค. นักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาที่ได้รับการตรวจสอบซ้ำโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว ระบุว่า “การฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียงเข็มเดียวไม่เพียงพอต่อการต้านไวรัสสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) และเดลตา (อินเดีย)”

แผน “ไฟเซอร์” สู้สายพันธุ์เดลตา “ฉีดเข็ม 3-พัฒนาวัคซีนใหม่”

โควิด-19 คร่าชีวิตทั่วโลก 4 ล้านคน สายพันธุ์เดลตาแพร่ 100 ประเทศ

รวมข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่า “เดลตา” จริงหรือ?

ทั้งสายพันธุ์เบตาและเดลตาจากถูกจัดอยู่ในระดับ “สายพันธุ์ต้องกังวล (Variant of Concern; VOC)” โดยองค์การอนามัยโลก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในหลายพื้นที่ และลดประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 หลายยี่ห้อได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว

งานวิจัยนี้ระบุว่า มีหลักฐานใหม่ว่าสายพันธุ์เดลตาสามารถหลีกเลี่ยงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายได้บางส่วน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนหนาม (Spike Protein) บนผิวของมัน ซึ่งทำให้แอนติบอดีของมนุษย์โจมตีเชื้อได้ยากขึ้น

ทีมวิจัยได้ทำการทดลองในห้องแล็บ วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากกลุ่มตัวอย่าง 59 คนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มที่ 2 แล้ว และพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าหรือไฟเซอร์เพียงเข็มเดียว มีเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถต้านสายพันธุ์เบตาและเดลตาได้

นักวิจัยสรุปว่า “การฉีดแอสตร้าเซเนก้าหรือไฟเซอร์เพียงเข็มเดียวมีประสิทธิภาพต่ำหรือไม่มีประสิทธิภาพเลยเมื่อนำไปรับมือกับสายพันธุ์เบตาและเดลตา”

และเมื่อวิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้ที่ได้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าหรือไฟเซอร์ครบ 2 โดส พบว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ถึง 95% ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า วัคซีน 2 โดสยังสามารถป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน 1 โดสยังช่วยลดโอกาสการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างที่มีการสื่อสารตลอดมา และแนะนำว่า ผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ยังคงต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อบางสายพันธุ์ เพราะจากการทดลอง ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 รับมือกับสายพันธุ์เดลตาได้ไม่ดีนัก

ยังมีงานวิจัยในลักษณะคล้ายกันนี้จากสหราชอาณาจักร ระบุว่า สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าหรือไฟเซอร์เพียงเข็มเดียว จะมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 33% เท่านั้น นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าว 1 โดสเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 51%

โมนิกา คานธี แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า สหราชอาณาจักรใช้กลยุทธ์ในการเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับผู้คนและชะลอการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม แต่นั่นกลับนำไปสู่การติดเชื้อขั้นรุนแรงโดยการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

เธอบอกว่า งานวิจัยชิ้นใหม่เหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบโดส เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดหนักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ งานวิจัยเหล่านี้ยังเป็นเพียงการทดลองในแล็บเท่านั้น ยังต้องมีการขยายขนาดการทดลอง รวมถึงการทดลองในโลกความเป็นจริง (Real World) ด้วย เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือกว่านี้

อย่างไรก็ตาม หากงานวิจัยเหล่านี้ได้รับการขยายต่อและผลยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบ 2 เข็มจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่กำลังถูกโควิด-19 สายพันธุ์เดลตารุกหนัก เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีประชากรได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วเพียง 692 ล้านคน หรือ 8.9% ของประชากรทั้งโลก ส่วนประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ครบ 2 โดสประมาณ 3.2 ล้านคน หรือ 4.5% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น

คำถามสำคัญคือ ประเทศต่าง ๆ ในโลก (โดยเฉพาะประเทศไทย) จะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าหรือไฟเซอร์ได้เพียงพอต่อการฉีดให้ประชากรครบ 2 โดสทุกคนหรือไม่

 

เรียบเรียงจาก Los Angeles Times / Washington Post

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ