โอลิมปิก 2020 จากฟุกุชิมะสู่โควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โตเกียวเกมส์ หรือโอลิมปิก 2020 ที่จัดขึ้นในญี่ปุ่นกำลังจะได้ชื่อว่าเป็นโอลิมปิกที่เงียบเหงาที่สุดเพราะการแข่งขันต้องดำเนินภายใต้มาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ไม่มีผู้ชม ท่ามกลางการจับตาจากหลายฝ่ายว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะรอดพ้นจากโควิดหรือไม่ มีหนึ่งประเด็นที่ถูกลดทอนความสำคัญ และเป็นประเด็นที่ทำให้ญี่ปุ่นอาสาเป็นเจ้าภาพในการจัดงานนี้ สิบปีแล้ว หลังเกิดวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ วันนี้มหันตภัยกำลังถูกบอกเล่าอีกครั้ง ผ่านการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ

นักกีฬานานาชาติทยอยเดินเข้าสนาม ดนตรีต้อนรับดังกระหึ่ม พวกเขาโบกมือตามธรรมเนียม แม้ส่วนใหญ่ของที่นั่งบนอัฒจรรย์จะว่างเปล่า สโลแกนปรากฏขึ้น Faster,Higher,Stronger เพิ่มคำว่าTogether เข้ามาในฐานะปีแห่งโควิด

พิธีเปิดสลับด้วยความสนุกเร้าใจจากการแสดงของประเทศเจ้าภาพ ที่ขนเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นผสานรวมเข้ากับ Pop Culture ได้อย่างลงตัวก่อนจะถึงช่วงเวลาสำคัญที่สุด

ย้อนดูไทม์ไลน์ เจ้าภาพญี่ปุ่น กว่าจะมาถึงพิธีเปิด "โอลิมปิก 2020"

หมู่บ้านโอลิมปิก มาตรการเข้ม ตรวจหาเชื้อโควิดนักกีฬาทุกวัน

นักกีฬานานาชาติทยอยเดินเข้าสนาม ดนตรีต้อนรับดังกระหึ่ม พวกเขาโบกมือตามธรรมเนียม แม้ส่วนใหญ่ของที่นั่งบนอัฒจรรย์จะว่างเปล่า สโลแกนปรากฏขึ้น Faster, Higher, Stronger เพิ่มคำว่า Together เข้ามา ในฐานะปีแห่งโควิด-19

พิธีเปิดสลับด้วยความสนุกเร้าใจจากการแสดงของประเทศเจ้าภาพ ที่ขนเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นผสานรวมเข้ากับ Pop Culture ได้อย่างลงตัว ก่อนจะถึงช่วงเวลาสำคัญที่สุด นั่นคือการจุดคบเพลิง อันเป็นสัญลักษณ์เปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ผู้คนทั่วโลกมีภาพจำกับญี่ปุ่นแบบใด ทั้งหมดถูกสะท้อนผ่านพิธีเปิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี คืออีเว้นท์ระดับโลกที่หลายประเทศแข่งขันกันเป็นเจ้าภาพ เพราะไม่เพียงได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากยังรวมถึงได้เผยแพร่ Soft Power เช่นที่ญี่ปุ่นทำ

แต่นอกเหนือจากการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจ ยังมีสารสำคัญที่ญี่ปุ่นตั้งใจสื่อออกมาคือการมอบความหวังแก่บรรดาผู้ประสบภัยจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อปี 2011

ย้อนไปเมื่อปี 2013 ตอนที่คณะกรรมการโอลิมปิกคัดเลือกประเทศที่จะจัดโอลิมปิก 2020 เวลานั้นญี่ปุ่นกำลังชอกช้ำจากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ธีมการจัดงานเพื่อฟื้นฟูฟุกุชิมะเรียกความเห็นใจจากนานาชาติ และในที่สุดญี่ปุ่นก็ได้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่สองหลังครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1964

ฟุกุชิมะ กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของงาน จังหวัดนี้ถูกมั่นหมายให้เป็นจุดเริ่มต้นวิ่งคบเพลิงไปทั่วประเทศ และยังเป็นสนามเปิดการแข่งขันแรก

ความหวังใหม่ผลิบาน เพราะสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเมื่อ 10 ปีก่อน  พวกเขากำลังถูกลืมเลือน โอลิมปิก 2020 จึงเป็นดังสปอตไลท์ที่จะฉายเรื่องราวให้โลกได้รับรู้อีกครั้ง

หมู่บ้านโอลิมปิก มาตรการเข้ม ตรวจหาเชื้อโควิดนักกีฬาทุกวัน

PPTVHD36 เอาใจแฟนกีฬาร่วมยิงสดโอลิมปิกเกมส์

เวลา 14.46 นาฬิกา ของวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 คือจุดเริ่มต้นของหายนะ แรงสั่นสะเทือนขนาด 9 แมกนิจูดที่นอกชายฝั่งทางตะวันออกส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิเข้าพัดถล่ม ภัยพิบัติคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 18,000 คน อีกราว 2,500 คนหายสาบสูญ

ฟุกุชิมะ มิยากิ และอิวาเตะ คือสามจังหวัดที่ได้รับความเสียหาย แต่หนักที่สุดคือฟุกุชิมะ เพราะคลื่นซัดเข้าถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ทำลายเตาปฏิกรณ์และเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี

กัมมันตรังสีที่รั่วไหลส่งผลให้หลายพื้นที่ไม่อาจอยู่อาศัยได้ และวันนี้แม้จะผ่านมา 10 ปี แต่หลายพื้นที่ยังคงปิดตาย

การเปิดสนามแข่งขันสนามแรก ตลอดจนกำหนดให้จังหวัดที่เสียหายที่สุดเป็นจุดเริ่มต้นวิ่งคบเพลิงกำลังบอกว่า วันนี้ฟุกุชิมะปลอดภัยแล้ว

สัญลักษณ์มากมายถูกนำมาใช้ ตั้งแต่คบเพลิงที่ทำจากอลูมิเนียมจากบ้านที่ถูกทำลายในเขตภัยพิบัติ ดอกไม้ที่ปลูกขึ้นใน 3 จังหวัดถูกนำมาใช้เป็นดอกไม้เพื่อมอบให้นักกีฬา และแม้แต่อาหารที่ใช้เลี้ยงนักกีฬา วัตถุดิบก็ยังมาจากพื้นที่ประสบภัย ซึ่งญี่ปุ่นยืนยันว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบสารปนเปื้อนและค่ารังสีอย่างถี่ถ้วน

ทั้งหมดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนญี่ปุ่นและนานาชาติ อย่างไรก็ตามความพยายามเหล่านี้เผชิญกับอุปสรรคใหญ่ เมื่อโควิด-19 อุบัติขึ้น

วิกฤตโรคระบาดที่ใหญ่ที่สุดในรอบร้อยปีส่งผลให้โอลิมปิกเลื่อนจากเดือนกรกฎาคมปี 2020 มาเป็นปี 2021 แทน

โควิด-19 เปลี่ยนความสนใจของผู้คนเช่นกัน จากที่ญี่ปุ่นตั้งใจว่างานนี้จะฟื้นฟูความหวังและเยียวยาฟุกุชิมะ แต่โลกกลับสนใจว่าพวกเขาจะจัดงานอย่างไรท่ามกลางวิกฤตการระบาด มีเสียงเตือนว่ามหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดอาจกลายไปเป็นคลัสเตอร์ใหญ่

ในขณะเดียวกัน ธีมกีฬาสร้างความสามัคคี ก็เผชิญกับความขัดแย้งกันเองภายในชาติ เนื่องจากคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมองว่า หากดื้อดึงจัดงานจะได้ไม่คุ้มเสีย จนเกิดการประท้วงต่อต้าน

อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้ว หลังเลื่อนมา 1 ปีเต็ม โอลิมปิกก็ถูกจัดขึ้น ภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การแข่งขันดำเนินไปโดยที่ไม่มีผู้ชม แม้แต่พิธีเปิดสุดแสนอลังการ ชาวญี่ปุ่นก็ต้องชมผ่านหน้าจอ

การอุบัติขึ้นของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลให้ประเด็น ฟุกุชิมะ กลายเป็นเรื่องรอง และโควิด-19 กลายมาเป็นเรื่องหลัก

ภายใต้มาตรการควบคุม สนามแข่งขันแรกอันเป็นสัญลักษณ์เปิดงานถูกห้ามเข้าชม การแข่งขันซอฟต์บอลระหว่างทีมญี่ปุ่นกับออสเตรเลียจึงเกิดขึ้นโดยปราศจากเสียงเชียร์ และดวงหน้าของคนฟุกุชิมะ

วิกฤตไวรัสยังกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหนัก หลายเมืองที่คาดหวังว่าจะได้เม็ดเงินจากชาวต่างชาติในช่วงโอลิมปิกเป็นอันต้องพับความฝัน รวมถึงที่ฟุกุชิมะ

สำหรับเจ้าของร้านขายของที่ระลึกรายนี้ เขาสงสัยว่าเมืองจะฟื้นฟูได้อย่างไรในทางเศรษฐกิจ 10 ปีแล้วหลังเหตุการณ์ในวันนั้น แต่ทุกวันนี้ยังมีคนอีกราว 2,000 คนที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว เพราะพวกเขาไม่มีที่ไปและมีปัญหาทางการเงิน

ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยหวาดกลัวการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี ส่งผลให้หลายพื้นที่ที่อาศัยอยู่ได้ยังคงว่างเปล่า ซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ส่งผลให้เมืองยิ่งดูเงียบเหงา

อย่างไรก็ตาม แม้หลายสิ่งที่ญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้จะไม่เป็นตามที่คาดหวัง แต่สารที่ส่งออกไปยังคงเดิม เพราะหนึ่งในคนญี่ปุ่นที่ส่งต่อคบเพลิงในพิธีเปิดก็คือ กลุ่มเด็กๆ จากพื้นที่ประสบภัย และคบเพลิงได้ถูกส่งต่อให้หมอพยาบาลผู้เป็นแนวหน้าของการต่อสู้กับโควิด-19

ท่ามกลางวิกฤตเลวร้าย ประชาคมโลกต้องการปลอบประโลม

การแข่งขันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ และเป็นการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่

แต่เมื่ออะไรๆ ไม่เป็นไปตามแผน ญี่ปุ่นจะฟื้นฟูตัวเองอย่างไรจากการขาดทุนมหาศาล เมื่อไม่มีผู้ชมและสปอนเซอร์มากมายถอนตัว

จากธีมงานเพื่อการฟื้นฟู วันนี้เมื่อมีอุปสรรคจากโควิด คำถามสำคัญคือโอลิมปิกจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการเยียวยาบรรดาผู้ประสบภัยหรือไม่

โปรแกรมแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

คลายสงสัยชาติ ROC และ EOR ในโอลิมปิก 2020

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ