ข่าวกรองสหรัฐฯ ศึกษาข้อมูลพันธุกรรมจากแล็บอู่ฮั่น หวังพบต้นตอโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ อ้าง พบฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของแล็บอู่ฮั่น กำลังเร่งศึกษาเพื่อหาต้นตอโควิด-19

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยกับสื่อต่างประเทศ CNN ว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐกำลังเร่งถอดรหัสข้อมูลทางพันธุกรรมจากแล็บอู่ฮั่น โดยระบุว่า นี่อาจเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดเผยต้นกำเนิดของโควิด-19

ฐานข้อมูลดังกล่าวมีขนาดใหญ่ เป็นพิมพ์เขียวทางพันธุกรรมที่ดึงมาจากตัวอย่างไวรัสที่ศึกษาในห้องทดลองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่บางคนเชื่อว่าอาจเป็นแหล่งที่มาของการระบาดของโควิด-19

รายงานพรรครีพับลิกันสหรัฐฯ อ้างพบหลักฐานโควิด-19 หลุดจากแล็บอู่ฮั่น

จีนค้านแผนสืบหาต้นตอโควิด-19 ระยะที่สองขององค์การอนามัยโลก

“อนามัยโลก” ย้ำ ไม่มีอำนาจบังคับจีนเผยข้อมูลต้นตอโควิด-19

ไม่ชัดเจนว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างไรหรือเมื่อใด แต่ระบบที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและประมวลผลข้อมูลทางพันธุกรรมไวรัสประเภทนี้มักจะเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ ทำให้คาดว่ามีโอกาสถูกแฮกได้

ถึงกระนั้น การแปลข้อมูลทางพันธุกรรมดิบจำนวนมากให้เป็นข้อมูลที่ใช้งานได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และเดดไลน์หาคำตอบต้นตอโควิด-19 ให้ได้ใน 90 วันของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ก็ใกล้เข้ามาเต็มที ในการประมวลผลทั้งหมด หน่วยข่าวกรองต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติของกระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีปัญหาด้านกำลังคน โดยหน่วยข่าวกรองไม่เพียงแต่ต้องการนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลที่มีทักษะเพียงพอในการตีความข้อมูลลำดับพันธุกรรมที่ซับซ้อนและเก็บความลับได้เท่านั้น แต่ยังต้องรู้ภาษาจีนกลางด้วย เนื่องจากก้อนข้อมูลทางพันธุกรรมดังกล่าวเขียนเป็นภาษาจีนด้วยคำศัพท์เฉพาะทาง

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ บอกกับ CNN ว่า “แน่นอนว่ามันมีนักวิทยาศาสตร์ที่ปลอดภัย (ในการเก็บความลับ) แต่คนที่รู้ภาษาจีนกลาง นั่นมีน้อยมาก และไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์อะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านชีวะด้วย คุณจะเห็นเลยว่ามันยากขนาดไหน”

เจ้าหน้าที่คาดหวังว่า ข้อมูลทางพันธุกรรมนี้จะช่วยตอบคำถามได้ว่า ไวรัสโควิด-19 แพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ได้อย่างไร การไขปริศนานี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อในท้ายที่สุดจะตัดสินได้ว่า เชื้อโควิด-19 รั่วไหลออกจากห้องแล็บหรือจากสัตว์ในป่ากันแน่

ผู้ว่าฯภูเก็ต แสดงความเสียใจ นักท่องเที่ยวสวิตฯ เสียชีวิต ยันเร่งสางคดี คืนความยุติธรรม

ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้พยายามค้นหาข้อมูลพันธุกรรมตัวอย่างไวรัส 22,000 ตัวอย่างของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (WIV) มาช้านาน โดยข้อมูลดังกล่าวถูกลบออกจากอินเทอร์เน็ตโดยเจ้าหน้าที่จีนตั้งแต่เดือน ก.ย. 2019 และตั้งแต่นั้นมาจีนก็ปฏิเสธที่จะส่งมอบข้อมูลนี้และข้อมูลดิบอื่น ๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ให้องค์การอนามัยโลก (WHO) และสหรัฐฯ

รหัสพันธุกรรมของไวรัสแต่ละตัวเป็นเหมือน “ลายเซ็น” ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกความต่างระหว่างไวรัสต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถให้เบาะแสว่า ไวรัสนั้น ๆ มีการปรับตัวหรือกลายพันธุ์อย่างไร รวมถึงแสดงสัญญาณการระบาดสู่มนุษย์ เป็นหนึ่งในประวัติทางพันธุกรรมที่นำมาใช้ย้อนดูพัฒนาการของไวรัสได้

นักวิทยาศาสตร์หลายคนยังคงเชื่อว่า ทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ไวรัสแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนโดยธรรมชาติ แต่แม้จะทำการทดสอบกับสัตว์หลายพันตัวแล้ว นักวิจัยก็ยังระบุไม่ได้ว่า สัตว์ตัวกลางที่แพร่ไวรัสมาสู่มนุษย์คือตัวอะไร

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าข้อมูลทางพันธุกรรมเหล่านี้อาจไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุปว่าต้นตอโควิด-19 มาจากที่ไหน แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับหน่วยสืบราชการลับกล่าว เพราะแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมศึกษาว่าไวรัสกลายพันธุ์อย่างไร แต่พวกเขาอาจมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะบอกว่า เชื้อรั่วไหลมาจากห้องแล็บ

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก AFP

เตือนทาสแมว-ทาสสุนัข ระวังโรคพิษสุนัขบ้าไม่มียารักษาแต่ป้องกันได้

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ