ไทม์ไลน์ "ตาลีบัน" ยึดอัฟกานิสถาน ปฏิบัติการฟ้าแลบโค่นรัฐบาลใน 3 เดือน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เรียบเรียงไทม์ไลน์กลุ่มตาลีบันยึดอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถานสำเร็จ เพียง 3 เดือนหลังกองกำลังนานาชาติถอนตัว ปิดฉากการสู้รบ 2 ทศวรรษ

กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อ “กลุ่มตาลีบัน (Taliban)” เข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน และเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานได้สำเร็จ ขณะนี้กำลังดำเนินการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถานมาอยู่ในมือรัฐบาลตาลีบัน

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเชื่อกันว่า กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการถอนกำลังของกองทัพนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO)

ตาลีบันประกาศชัยเหนือกองทัพ รบ.อัฟกานิสถาน

ตาลีบันยึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน

สหรัฐฯ เริ่มอพยพคนหลังตาลีบันบุกกรุงคาบูล

เมษายน

โดยเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดออกจากพื้นที่สงครามในอัฟกานิสถาน โดยทหารจำนวนทั้งหมดประมาณ 2,500 คน จะออกจากพื้นที่สงครามภายในวันที่ 11 ก.ย. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 20 ปีโศกนาฏกรรม 9/11” ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ การโจมตีโดยกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ซึ่งขณะนั้นเชื่อกันว่าได้รับการสนับสนุนและให้ที่หลบซ่อนโดยรัฐบาลตาลีบัน

ความเคลื่อนไหวนี้ของสหรัฐฯ เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบัน ในสมัยที่ โดนัด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ซึ่งลงนามกันที่กรุงโดฮาของกาตาร์เมื่อเดือน ก.พ. 2020

ข้อตกลงระบุว่า สหรัฐฯ ต้องถอนทัพออกจาอัฟกานิสถาน ส่วนกลุ่มตาลีบันจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีไปยังกองกำลังสหรัฐฯ กลุ่มตาลีบันต้องไม่ให้กลุ่มหรืออัลกออิดะห์ และกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ เข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุม รวมถึงจะต้องเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพในระดับชาติต่อไป

ขณะที่ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก หัวหน้าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ออกมากล่าวว่า พันธมิตรได้ตกลงที่จะถอนกองกำลังประมาณ 7,000 นายออกจากอัฟกานิสถานเช่นกัน โดยจะเริ่มถอนกำลังภายในวันที่ 1 พ.ค.

คำสั่งถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่า สงครามระหว่างกลุ่มตาลีบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถานจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และผลปรากฏว่า “กลุ่มตาลีบันยังมุ่งโจมตีกองกำลังและพลเรือนของอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง”

พฤษภาคม

ในช่วงต้นเดือน พ.ค. นาโตเริ่มถอนกำลังทหารจากภารกิจในอัฟกานิสถาน โดยมีทหารทั้งสิ้น 9,600 นายที่จะถอนกำลังออกมา รวมถึงชาวอเมริกัน 2,500 คนตามคำสั่งของไบเดนด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน การต่อสู้ระหว่างกลุ่มตาลีบันกับกองกำลังของรัฐบาลรัฐบาลอัฟกานิสถานในจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) ทางใต้ของประเทศ ก็ทวีความเข้มข้นขึ้น

วันที่ 8 พ.ค. เกิดเหตุระเบิดนอกโรงเรียนหญิงในกรุงคาบูล มีผู้เสียชีวิต 85 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน การโจมตีนี้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือกลุ่มตาลีบัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ออกมาแสดงตัวอ้างความรับผิดชอบก็ตาม

ต่อมาในช่วงกลางเดือน กองกำลังสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอัฟกานิสถานในเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ

จากนั้นกลุ่มตาลีบันเริ่มรุกคืบเข้ายึดเขตต่าง ๆ ในจังหวัดวอร์ดัก (Wardak) และโจมตีอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญ นั่นคือจังหวัดกัซนี (Ghazni) ซึ่งมีถนนที่เชื่อมตรงระหว่างเมืองหลวงกับดาฮาร์

มิถุนายน

กลางเดือน มิ.ย. กลุ่มตาลีบันได้ยึดครองหลายเขตในจังหวัดทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ส่งผลให้กองทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถานต้องถอยทัพ ต่อมาในวันที่ 22 มิ.ย. กลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมชายแดนอัฟกานิสถาน-ทาจิกีสถาน ที่จุดผ่านแดนเชอร์ข่านบันดาร์ (Shir Khan Bandar)

กรกฎาคม

วันที่ 2 ก.ค. ทหารอเมริกันและนาโตทั้งหมดถอนกำลังจากบาแกรม (Bagram) ซึ่งเป็นฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถาน เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติการสู้รบกับกลุ่มตาลีบันที่นำโดยสหรัฐฯ ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และอีก 2 วันต่อมา กลุ่มตาลีบันเข้ายึดเขตปันจไว (Panjwai) ในกันดาฮาร์สำเร็จ

ต่อมาในวันที่ 9 ก.ค. กลุ่มตาลีบันประกาศการควบคุมชายแดนอัฟกานิสถาน-อิหร่าน ที่เมืองชายแดนอิสลาม คาลา (Islam Qala) ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนที่ใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถานกับอิหร่าน

วันที่ 14 ก.ค. กลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมชายแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน ที่เมืองชายแดนสปิน โบลดัก (Spin Boldak) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างสองประเทศ

การโจมตีของกลุ่มตาลีบันรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเป้าหมายหลักคือเมืองลัชคาร์กาห์ (Lashkar Gah) กันดาฮาร์ และเฮรัต (Herat)

สิงหาคม

วันที่ 3 ส.ค. มีผู้เสียชีวิต 8 คนจากการโจมตีด้วยระเบิดและอาวุธปืน เป้าหมายคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอัฟกานิสถาน และสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนในกรุงคาบูล และในวันที่ 6 ส.ค. กลุ่มตาลีบันยิงหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสื่อของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่มัสยิดในกรุงคาบูลจนเสียชีวิต

ต่อมากลุ่มตาลีบันยึดเมืองซารันจ์ (Zaranj) “โดยไม่มีการต่อสู้ขัดขืน” ในวันต่อมา เมืองทางเหนืออื่น ๆ หลายแห่งถูกยึดครอง เช่น เชเบอร์กาน (Sheberghan), คุนดุซ (Kunduz), ซาร์เอโปล (Sar-e-Pul), ทาโรกาน (Taloqan), ไอเบก (Aibak), ฟาราห์ (Farah) และ โปลเอกุมรี (Pul-e-Khumri)

แม้จะมีการนองเลือดและการบุกยึดหลายเมือง ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ก็ไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีว่าจะชะลอการถอนกำลังทหารออกจาอัฟกานิสถาน ซึ่งคาดว่า การถอนกำลังจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค. ก่อนวันครบรอบ 20 ปีของการโจมตี 9/11

ด้าน ประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน อัชราฟ กานี ได้บินไปยังเมืองมาซาร์อีชาริฟ (Mazar-i-Sharif) เมื่อวันที่ 11 ส.ค. เพื่อระดมกำลังทหารรับมือกับกลุ่มตาลีบัน แต่เมื่อไปถึง เขากลับพบว่าทหารอัฟกานิสถานหลายร้อยนายในคุนดุซและไฟซาบัด (Faizabad) ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้ยอมจำนนต่อกลุ่มตาลีบันแล้ว

วันที่ 12 ส.ค. กลุ่มตาลีบันยึดกัซนีได้สำเร็จ ห่างจากกรุงคาบูลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 150 กิโลเมตร (90 ไมล์) และในวันเดียวกันก็ยึดเฮรัตได้ และอีกหนึ่งวันต่อมา กลุ่มตาลีบันก็ยึดกันดาฮาร์และลัชคาร์กาห์ได้

“ตาลีบัน” รุกคืบประชิดเมืองหลวงอัฟกานิสถาน ยึดแล้ว 18 เมือง

"ตาลีบัน" อาจยึดเมืองหลวงอัฟกานิสถานได้ใน 90 วัน

ในวันเสาร์ (14 ส.ค.) เมืองอาซาดับ (Asadab) การ์เดซ (Gerdez) และมาซาร์อีชาริฟ ซึ่งกานีเพิ่งไปเยือน ก็ถูกยึดครองสำเร็จ

ต่อมาในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ (15 ส.ค.) เมืองจาลาลาบัดก็ถูกยึดครอง ส่งผลให้เหลือกรุงคาบูลเป็นเมืองใหญ่แห่งเดียวในอัฟกานิสถานที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอัฟกานิสถาน

ด้านประธานาธิบดีกานีลี้ภัยออกนอกประเทศ โดยมีข้อมูลว่าเดินทางไปยังทาจิกิสถาน เป็นการเปิดทางให้กลุ่มตาลีบันเข้าสู่เมืองหลวงได้สำเร็จ และในที่สุดก็เข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีได้

โดยทีมโฆษกกลุ่มตาลีบันเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถาน ซึ่งจะเสร็จสิ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยยืนยันว่าประชาชน โดยเฉพาะในกรุงคาบูล จะปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมรับรองว่าจะคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง ผู้สื่อข่าว และนักการทูต

ต่อมา ประธานาธิบดีกานีซึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศไปแล้วนั้น ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า “กลุ่มตาลีบันชนะแล้ว”

กลุ่มตาลีบันคือใคร?

ชื่อกลุ่ม “ตาลีบัน” มีความหมายว่า "นักเรียน" ในภาษาปาทาน (Pashto) พวกเขาเริ่มปรากฏตัวในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทางตอนเหนือของปากีสถาน หลังจากกองทัพโซเวียตถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถาน

เชื่อกันว่ากลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นชาวปาทานโดยส่วนใหญ่ มีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งเชื่อในคำสอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีแบบสุดโต่ง

กลุ่มตาลีบันให้คำมั่นสัญญาว่า จะนำสันติภาพและความมั่นคงกลับคืนมาในพื้นที่ที่มีคนเชื้อสายปาทาน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในทั้งปากีสถานและอัฟกานิสถาน และบังคับใช้กฎหมายอิสลาม หรือกฎหมายชารีอะห์ (Sharia) เมื่อพวกเขาขึ้นสู่อำนาจ

หลังจากนั้น พวกเขาก็เริ่มขยายอำนาจอย่างรวดเร็วจากภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ มาในเดือน ก.ย. ปี 1995 ตาลีบันยึดจังหวัดเฮรัต ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนอิหร่าน และ 1 ปีหลังจากนั้น ก็เข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงอัฟกานิสถานได้สำเร็จ โดยโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี บูร์ฮานุดดีน รับบานี หนึ่งในผู้ต่อตั้งกลุ่มติดอาวุธมุญาฮิดีน ซึ่งขับไล่กองกำลังโซเวียตออกไปสำเร็จ

ชาวอัฟกานิสถานในขณะนั้น เบื่อหน่ายกับการทุจริตและการต่อสู้ภายในของกลุ่มมุญาฮิดีน จึงต้อนรับกลุ่มตาลีบันเมื่อพวกเขาปรากฏตัวครั้งแรก โดยความนิยมในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่มาจากความสำเร็จในการขจัดปัญหาการทุจริต ควบคุมความไร้ระเบียบ และทำให้ถนนและพื้นที่ภายใต้การควบคุมของพวกเขาปลอดภัยสำหรับการค้าขาย

แต่ต่อมากลุ่มตาลีบันได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามชารีอะห์ หรือกฎหมายในลักษณะ “เลือดแลกเลือด เนื้อแลกเนื้อ” ที่เข้มงวดและเคร่งครัด โดยมีการประหารผู้ที่ประพฤติผิดประเวณี ตัดแขนขาผู้ที่ลักขโมยทรัพย์

รวมถึงมีการบังคับให้ผู้ชายต้องไว้เครา ผู้หญิงต้องสวมชุดคลุมปกปิดทั้งร่างกาย สั่งห้ามให้มีการเสพสื่อโทรทัศน์ ดนตรี และภาพยนตร์ และไม่อนุญาตให้เด็กผู้หญิงอายุ 10 ปีขึ้นไปไปโรงเรียน

กลุ่มตาลีบันถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรมต่าง ๆ ตัวอย่างที่โด่งดังคือในปี 2001 ที่กลุ่มตาลีบันได้ทำลายพระพุทธรูปบามิยันอันโด่งดัง

แต่โลกได้รู้จักกับกลุ่มตาลีบันหลังจากเกิดเหตุ 9/11 ในสหรัฐฯ โดยตาลีบันถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์ และที่พักพิงกับผู้ต้องสงสัยหลักอย่างนายโอซามา บิน ลาเดน

นำมาสู่การบุกโจมตีตาลีบันในอัฟกานิสถานโดยกองกำลังร่วมที่นำโดยสหรัฐฯ และขับไล่รัฐบาลตาลีบัน จนเกิดรัฐบาลอัฟกานิสถานในภายหลัง แต่ยังคงมีการปะทะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด “รัฐบาลตาลีบันก็กำลังจะกลับมา”

หลังจากนี้ อัฟกานิสถานจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไรบ้าง และสงครามตลอด 20 ปีมานี้สิ้นสุดลงแล้วจริง ๆ หรือ จะมีการก่อสงครามใหม่ เพื่อยึดอัฟกานิสถานคืนจากกลุ่มตาลีบันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

เรียบเรียงจาก BBC / Reuters / The Guardian

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ