นโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันแต่ละประเทศ หลัง "ตาลีบัน" คืนชีพ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รวมนโยบายของแต่ละประเทศที่มีต่อผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันที่พยายามหลบหนีจากการปกครองของกลุ่มตาลีบัน

การกลับมายึดครองอำนาจการปกครองอัฟกานิสถานสำเร็จอีกครั้งของ “กลุ่มตาลีบัน” ทำให้ปรากฏภาพประชาชนชาวอัฟกันหลายพันคนพยายามดิ้นรนเพื่อหนีออกจากอัฟกานิสถาน

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า มีผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันหลบหนีออกจาอัฟกานิสถานไปแล้วมากน้อยเพียงใด แต่ปัจจุบัน กลุ่มตาลีบันได้ควบคุมจุดผ่านแดนหลักทั้งหมดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงสนามบินหลายแห่งไว้แล้ว โดยกลุ่มตาลีบันแสดงความต้องการชัดเจนว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ชาวอัฟกันออกจากประเทศ

สหรัฐสั่งสายการบินช่วยอพยพคนจากอัฟกานิสถาน

แฉ “ตาลีบัน” ล่าตัวชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้ทหารสหรัฐฯ-พันธมิตร

"ตาลีบัน" ขวางชาวอัฟกันเดินทางไปสนามบิน สกัดหนีออกนอกประเทศ

ด้านโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า “ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศผ่านช่องทางปกติ ... ณ วันนี้ผู้ที่อาจตกอยู่ในอันตรายยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน”

มีรายงานว่า ชาวอัฟกันหลายพันคนได้ข้ามไปยังปากีสถานได้สำเร็จ ไม่นานหลังจากที่กลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมคาบูล และมีชาวอัฟกันราว 1,500 คนหนีไปยังอุซเบกิสถานได้สำเร็จ

ส่วนในกรุงคาบูล ประชาชนหลายพันคนยังคงพากันมุ่งหน้าไปยังสนามบินนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นสนามบินแห่งเดียวที่ยังปิดทำการอยู่ในประเทศ เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะหลบหนี

มีข้อมูลจาก UNHCR ว่า ณ ปี 2020 มีชาวอัฟกานิสถานลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นราว 2.2 ล้านคน และคาดว่า หลังการกลับมาของตาลีบัน ตัวเลขในปีนี้อาจพุ่งสูงขึ้น แต่หากตาลีบันควบคุมการเข้าออกประเทศได้เบ็ดเสร็จ ตัวเลขก็อาจดิ่งลงแทน

ในปี 2020 พบว่า ประชาชนเกือบ 1.5 ล้านคนหลบหนีไปยังปากีสถาน รองลงมาเป็นอิหร่าน 780,000 คน เยอรมนีรั้งอันดับ 3 โดยมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 180,000 คน ในขณะที่ตุรกีรับไปเกือบ 130,000 คน

ขณะนี้นานาชาติกำลังช่วยผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันอย่างไรบ้าง?

การหวนคืนอำนาจของตาลีบันในอัฟกานิสถาน ทำให้มีบางประเทศที่เสนอที่พักพิงที่ปลอดภัยให้กับชาวอัฟกัน แต่ก็มีบางประเทศเช่นกันที่ระบุว่า พวกเขาจะไม่ให้สถานที่หลบภัยแก่ผู้ที่หลบหนีออกนอกประเทศ

อิหร่าน

อิหร่านได้จัดตั้งแคมป์ฉุกเฉินสำหรับผู้ลี้ภัยใน 3 จังหวัดที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงมหาดไทยของอิหร่านกล่าวว่าชาวอัฟกันที่ข้ามไปยังอิหร่านจะ “จะถูกส่งตัวกลับประเทศหากสถานการณ์ดีขึ้น”

ปากีสถาน

นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน กล่าวเมื่อเดือน มิ.ย. ว่า หากตาลีบันยึดอัฟกานิสถานสำเร็จ ประเทศของเขาจะปิดพรมแดนด้านที่ติดกับอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่า มีชาวอัฟกันหลายพันคนได้หลบหนีเข้าไปยังปากีสถานได้สำเร็จ และจุดผ่านแดนอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ยังเปิดอยู่

ทาจิกิสถาน

มีรายงานระบุว่า มีชาวอัฟกันอย่างน้อยหลายร้อยคน รวมทั้งทหารจากกองทัพแห่งชาติอัฟกัน ได้ข้ามไปยังทาจิกิสถานในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทาจิกิสถานประกาศว่า พร้อมรับผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานมากถึง 100,000 คน

อุซเบกิสถาน

มีชาวอัฟกันประมาณ 1,500 คนข้ามพรมแดนอัฟกานิสถาน-อุซเบกิสถานและตั้งค่ายพักพิง รายงานระบุว่า กลุ่มตาลีบันอนุญาตให้ผู้ที่มีวีซ่าที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะข้ามแดนไปอุซเบกิสถานได้

สหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรได้ประกาศแผนการรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน 20,000 คนในระยะยาว โครงการนี้ตั้งเป้าที่จะอนุญาตให้ชาวอัฟกัน 5,000 คนตั้งถิ่นฐานในสหราชอาณาจักรในปีแรก โดยเน้นให้สิทธิ์กลุ่มผู้หญิงและเด็ก ตลอดจนชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อาจตกอยู่ในอันตรายที่สุดจากกลุ่มตาลีบัน

สหรัฐฯ

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน อนุมัติงบประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.66 หมื่นล้านบาท) สำหรับ “การรับผู้ลี้ภัยและการอพยพฉุกเฉินของเหยื่อจากความขัดแย้ง และบุคคลอื่นที่มีความเสี่ยงอันเป็นผลมาจากสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน รวมถึงผู้ยื่นขอวีซ่าผู้อพยพแบบพิเศษ” แต่สหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศว่า จำนวนผู้ลี้ภัยที่จะรับอยู่ที่เท่าไร

แคนาดา

แคนาดากล่าวว่า จะให้ชาวอัฟกัน 20,000 คนได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามา โดยจะมุ่งเน้นรับกลุ่มผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายจากกลุ่มตาลีบัน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำสตรี

ออสเตรเลีย

ออสเตรเลียกล่าวว่า มีโครงการเปิดวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมแก่ชาวอัฟกันที่หนีออกจากประเทศ 3,000 สิทธิ์ แต่สิทธิ์เหล่านี้จะมาจากโครงการวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมที่มีอยู่เดิม และจะไม่มีการเพิ่มจำนวนสิทธิ์

สหภาพยุโรป

เจ้าหน้าที่ในหลายประเทศในสหภาพยุโรปกล่าวว่า พวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงการรับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ เนื่องจากเคยเกิดวิกฤตผู้อพยพในปี 2015 จากฟีดแบ็กของประชาชนในประเทศที่เกิดความไม่พอใจต่อการรับผู้ลี้ภัย เข้ามาในสหภาพยุโรป

เยอรมนี

เยอรมนีระบุว่า จะรับชาวอัฟกันบางส่วน แต่ไม่ได้ระบุตัวเลข

ฝรั่งเศส

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่ายุโรปต้อง “ปกป้องตนเองจากคลื่นผู้อพยพผิดกฎหมายจำนวนมาก” จากอัฟกานิสถาน เขากล่าวว่าฝรั่งเศสจะ “ปกป้องผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายที่สุด ... แต่ยุโรปไม่สามารถรับผลที่ตามมาจากสถานการณ์ปัจจุบันได้เพียงลำพัง”

ออสเตรีย

ออสเตรียประกาศไม่รับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน แต่อาจจัดตั้งศูนย์ลี้ภัยชั่วคราวเพื่อส่งตัวผู้ลี้ภัยต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน ในกรณีที่ไม่สามารถข้ามแดนจากอัฟกานิสถานไปยังประเทศเหล่านั้นได้โดยตรง

สวิตเซอร์แลนด์

สวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า จะไม่รับผู้ลี้ภัยที่เดินทางโดยตรงมาจากอัฟกานิสถาน

ตุรกี

ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่ ารัฐบาลของเขาจะทำงานร่วมกับปากีสถานเพื่อช่วยให้อัฟกานิสถานมีเสถียรภาพและป้องกันคลื่นผู้อพยพที่มุ่งหน้ามายังตุรกี รัฐบาลยังได้เร่งก่อสร้างกำแพงชายแดนด้านที่ติดกับอิหร่านเพื่อป้องกันผู้อพยพชาวอัฟกัน

มาซิโดเนียเหนือ แอลเบเนีย และโคโซโว

มาซิโดเนียเหนือและแอลเบเนียกล่าวว่าพวกเขาจะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัยหลักร้อยคนตามคำขอของสหรัฐฯ จนกว่าจะสามารถจัดเตรียมเอกสารสำหรับวีซ่าส่งตัวไปยังสหรัฐฯ ได้ ส่วนโคโซโวยังวางแผนจัดหาที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยที่มุ่งหน้าไปยังสหรัฐฯ เช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวน

ยูกันดา

ยูกันดาตกลงรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน 2,000 คน

 

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก AFP

“ตาลีบัน” จะทำอย่างไรกับ “ขุมทรัพย์มูลค่าล้านล้าน” ในอัฟกานิสถาน

อนาคตอัฟกานิสถานและโลก ในวันที่ “ตาลีบัน” หวนคืนอำนาจ

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ