ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน โควิด-19 อัฟกานิสถานอาจเลวร้ายลง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“กลุ่มตาลีบัน” ปกครองอัฟกานิสถาน ไม่เพียงสร้างความกังวลเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ แต่ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจเลวร้ายลง

องค์การอนามัยโลก (WHO) แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงสื่อหลายสักทั่วโลก ต่างแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอัฟกานิสถาน ซึ่งปัจจุบันต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของ “กลุ่มตาลีบัน” อีกครั้ง หลังผ่านไป 20 ปี

เหตุที่กังวล เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันแสดงท่าทีชัดเจนไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคใด ๆ ก็ตามให้กับประชาชน ทำให้ทั่วโลกเกรงว่า จะเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโควิด-19 และจะไม่มีการควบคุมสถานการณ์การระบาด

ชาวอัฟกัน ปักหลักรอบสนามบินคาบูล "ตาลีบัน" เตือน สหรัฐฯถอนกำลังช้าอาจมีผลตามมา

นโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันแต่ละประเทศ หลัง "ตาลีบัน" คืนชีพ

อนาคตอัฟกานิสถานและโลก ในวันที่ “ตาลีบัน” หวนคืนอำนาจ  

ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของอัฟกานิสถานซึ่งมีจนถึงวันที่ 14 ส.ค. (1 วันก่อนตาลีบันยึดกรุงคาบูล) ระบุว่า มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 1.87 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรราว 8 แสนคน หรือคิดเป็น 2% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยเทียบ เมื่อเทียบกับเป้าหมายการฉีดที่ต้องฉีดให้ได้ 70% จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นว่า ขณะนี้ อัตราการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประชากรอัฟกานิสถาน ลดลงไปกว่า 77% ซึ่งทำให้ไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์โควิด-19 แท้จริงในอัฟกานิสถานขณะนี้เป็นอย่างไร

ปัจจุบัน มีข้อมูลว่าอัฟกานิสถานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมราว 152,000 ราย เสียชีวิตกว่า 7,000 ราย แต่คาดว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้

ข้อมูลอัพเดตขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ระบุว่า “สถานการณ์และการเข้าควบคุมสนามบินในอัฟกานิสถาน ทำให้การส่งเสบียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนต้องชะงักและล่าช้า”

โดยมีสื่อต่างประเทศรายงานในวันนี้ (25 ส.ค.) ว่า อุปกรณ์การแพทย์รวมถึงยาที่ใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ในอัฟกานิสถานเหลืออยู่ไม่มาก และอาจอยู่ได้อีกเพียง “สัปดาห์เดียว” เท่านั้น

นอกจากนี้ WHO ยังชี้ว่า “การรวมตัวแออัดในสถานบริการสุขภาพและค่ายผู้ลี้ภัยเนื่องจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในประเทศ จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคอื่น ๆ ได้”

WHO เสริมว่า ในพื้นที่ที่ผู้คนหลบหนีจากกลุ่มตาลีบัน ทั้งในกรุงคาบูลและเมืองใหญ่อื่น ๆ มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ภาคสนามระบุว่า พบผู้ป่วยท้องร่วง ขาดโภชนาการ ความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่มีอาการคล้ายโควิด-19 และภาวะแทรกซ้อนทางอนามัยการเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้น

ชาฮิด มีซาน ที่ปรึกษาขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งใช้เวลาหลายปีอยู่ในอัฟกานิสถาน กล่าวว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาท้องถิ่นในบางพื้นที่

“ตัวอย่างเช่น ในเขตปักเทีย (Paktia) ของอัฟกานิสถานตะวันออก กลุ่มตาลีบันได้ติดประกาศเตือนห้ามประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 สร้างความท้อแท้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข” เขากล่าว

ด้าน มูซา โจยา อาจารย์ด้านฟิสิกส์การแพทย์ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์คาบูล กล่าวว่า “หากกระบวนการฉีดวัคซีนหยุดลง สถานการณ์โควิด-19 จะควบคุมได้ยากในอัฟกานิสถาน”

อย่างไรก็ตาม โจยาบอกว่า สถานการณ์โควิด-19 ในอัฟกานิสถานแต่เดิมมีแนวโน้มเลวร้ายลงอยู่แล้ว เนื่องจากประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีนอยู่เป็นทุนเดิม “ประชาชนไม่ไว้วางใจในระบบการแพทย์และหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขของประเทศเองก็ไม่สามารถให้ออกซิเจนหรือยาที่จำเป็นได้ ... นอกจากนี้ ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ไม่เชื่อในการป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีน”

คาร์ล แลตคิน รองหัวหน้าภาควิชาอนามัย พฤติกรรม และสังคม วิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์จอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก กล่าวว่า “ความโกลาหลในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับกลุ่มที่เปราะบางที่สุดที่มีทรัพยากรน้อยในการป้องกันและรักษาโควิด-19”

เขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจอย่างหนึ่งของการที่ผู้คนหลบซ่อนตัวอยู่แต่บ้านเนื่องจากกลัวกลุ่มตาลีบัน อาจเป็นการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างดีเยี่ยม และอาจช่วยลดการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้

ใกล้เส้นตายสหรัฐฯถอนกำลังทหาร หวั่นอพยพได้ไม่หมด | 24 ส.ค. 64 | รอบโลก DAILY

อาเมช อะดัลจา นักวิชาการอาวุโสของศูนย์ความปลอดภัยด้านสุขภาพจอห์น ฮอปกินส์ กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดว่าสถานการณ์ในอัฟกานิสถานจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากร

“ในอดีตเคยกลุ่มตาลีบันเคยต่อต้านการฉีดวัคซีนโปลิโออย่างรุนแรงมาแล้ว และทำให้ปัจจุบันอัฟกานิสถานยังคงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ไวรัสโปลิโอยังคงแพร่กระจายอยู่” อะดัลจาบอก

การห้ามฉีดวัคซีนของตาลีบันนับเป็นความล้มเหลวในการกำจัดโรคโปลิโอในอัฟกานิสถาน ประเทศนี้เป็นเสมือน “บ้านหลังสุดท้าย” ของโรคโปลิโอ ในปี 2020 มีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอ 56 รายในอัฟกานิสถาน

การห้ามฉีดวัคซีนมีผลบังคับใช้ในทุกพื้นที่ที่กลุ่มตาลิบันครอบครองในปี 2020 โดยพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไม่มีประชากรคนใดได้รับการฉีดวัคซีนโปลิโอมาเกือบ 3 ปีแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กประมาณ 1 ล้านคน ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของประชากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการทวีความรุนแรงและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ของไวรัสโปลิโอ

จึงมี “ความจำเป็นอย่างมากในการเจรจาเรื่องวัคซีนกับกลุ่มตาลีบัน” ทั้งวัคซีนโปลิโอ และวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อสวัสดิภาพ ของประชากรในอัฟกานิสถาน

แลตคินแนะนำว่า อาจให้กลุ่มตาลีบันมีส่วนร่วมในกระบวนการแจกจ่ายวัคซีน “เพราะอาจทำให้พวกเขาเห็นประโยชน์และได้รู้ว่า วัคซีนไม่ใช่ภัยคุกคาม”

ด้านมีซานกล่าวว่า “สิ่งที่อาจสร้างความแตกต่างจากอดีตคือ กลุ่มตาลีบันกำลังแสวงหาความช่วยเหลือจากนานาชาติ และต้องการการยอมรับในวงกว้าง นั่นหมายความว่า พวกเขาจะต้องร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ กับทั้งโลก เพื่อให้ได้การยอมรับหรือเสียงสนับสนุน หนึ่งในนั้นอาจเป็นเรื่องการฉีดวัคซีน

 

ผู้นำสหรัฐฯคงเส้นตายถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน 31 ส.ค.

เรียบเรียงจาก News Medical / SBS / The Print

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ