สหรัฐฯ ชี้วัคซีน “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” ต้านสายพันธุ์เดลตา ได้ 66%


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สหรัฐฯ และอังกฤษ เปิดผลการศึกษาที่พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงจากเดิม หลังเกิดการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา

CDC เผย ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เสี่ยงเข้าโรงพยาบาลมากกว่าคนฉีด 29 เท่า

อย.สหรัฐฯ "อนุมัติ" วัคซีนไฟเซอร์ ไบออนเทค สำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เต็มรูปแบบ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ทำการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิดแบบ mRNA เปรียบเทียบจากช่วงก่อนและหลังจากที่่เชื้อสายพันธุ์เดลตาระบาดรุนแรงในสหรัฐฯ

ผลการฉีดวัคซีนทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จาก 6 รัฐ พบว่า ประสิทธิภาพการต้านเชื้อสายพันธุ์เดลตา ลดลงจาก 91% (ช่วงระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2020 – 10 เมษายน 2021) มาอยู่ที่ 66% (ช่วงหลายสัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาดหนักในสหรัฐฯ)

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังคงยืนยันว่าวัคซีน mRNA ยังสามารถลดอาการป่วยรุนแรงได้ถึง 90% ที่ผ่านมา มีผลการศึกษาหลายฉบับที่ชี้ให้เห็นว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงเมื่อเจอกับเชื้อสายพันธุ์เดลตา แต่การที่วัคซีนยังคงประสิทธิภาพไว้ได้ถึง 2 ใน 3 ก็ยังสะท้อนถึงประโยชน์และความสำคัญของการฉีดวัคซีน

ขณะเดียวกัน รายงานประจำสัปดาห์ของ CDC ยังชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วยังติดเชื้อ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า "Breakthrough Case" (เบรกธรู เคส) เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นในสหรัฐฯ เช่น ที่ ลอสแอนเจลิส เคาน์ตี พบผู้ติดเชื้อที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 25.3% จากทั้งหมด 43,000 คน

 

ขณะที่อังกฤษ ก็เพิ่งมีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มประชากรกว่า 1 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว พบว่า ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ ลดลงจาก 88% (หลังฉีดครบ 1 เดือน) เหลือ 74% (หลังฉีดครบ 5-6 เดือน) ส่วนประสิทธิภาพของแอสตร้าเซนเนก้า ลดลงจาก 77% เหลือ 67% (หลังฉีดครบ 2 เข็ม 4-5 เดือน)

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัย ระบุว่า ประสิทธิภาพที่ลดลง ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ฉีดวัคซีน แต่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้น

 

ส่วนที่เวียดนาม นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบหารือกับประธานาธิบดีเหงียน ซวน ฟุก และนายกรัฐมนตรีฟาม หมิง ชินห์ ของเวียดนาม ที่กรุงฮานอยในวันนี้ (25 ส.ค.) ระหว่างการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการ 

โดยรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะมอบวัคซีนโควิด-19 แก่เวียดนามเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ทำให้เวียดนามได้รับบริจาควัคซีนจากสหรัฐฯ ทั้งหมด 6 ล้านโดส เมื่อรวมกับวัคซีนที่ได้รับผ่านโครงการโคแวกซ์ไปก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน นางแฮร์ริสได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรุงฮานอย โดยสำนักงานประจำภูมิภาคแห่งใหม่นี้ จะทำงานร่วมกับสำนักงานของ CDC ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ CDC ในการปฏิบัติภารกิจปกป้องบรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์เพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพสำคัญที่มีร่วมกัน

สำหรับการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีจุดหมายเพื่อตอบโต้การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยได้เยือนสิงคโปร์เป็นประเทศแรกก่อนจะเดินทางต่อมาถึงเวียดนามเมื่อคืนวานนี้ (24 ส.ค.)

 

อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องออกเดินทางจากสิงคโปร์ล่าช้าไปสามชั่วโมง หลังมีรายงานเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในเวียดนามล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ด้วยอาการคล้ายกับ "ฮาวานา ซินโดรม" คือวิงเวียนคลื่นไส้ ปวดศีรษะรุนแรง (ไมเกรน) และหลงลืม ซึ่งเกิดจากรังสีไมโครเวฟโดยตรง โดยอาการนี้พบครั้งแรกเมื่อปี 2016 ในกลุ่มเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮาวานาของคิวบา

 

Photo : HAZEM BADER / Robyn Beck / AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ