ตาลีบัน เรียกร้องนานาชาติช่วยอัฟกานิสถาน เลิกคว่ำบาตร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้ครบรอบ 1 เดือนพอดีที่ตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ในที่สุดตาลีบันก็เอาชนะในสงครามได้อย่างสมบูรณ์ แต่การชนะทางการทหารไม่ใช่ทุกอย่าง 1 เดือนผ่านไป มีหลักฐานหลายอย่างปรากฏออกมาว่า ตาลีบันกำลังมีความท้าทายหนักหลายอย่างในการบริหารประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาความแตกแยกภายใน และปัญหาเศรษฐกิจ

ไทม์ไลน์ "ตาลีบัน" ยึดอัฟกานิสถาน ปฏิบัติการฟ้าแลบโค่นรัฐบาลใน 3 เดือน

ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในสงครามอัฟกานิสถาน 20 ปี

รัฐบาลตาลีบัน เข้าไม่ถึงเงินกว่า 300,000 ล้านที่สหรัฐอเมริกา อายัดเอาไว้ ประชาคมโลกลังเลไม่ช่วยเหลือราคาสินค้าแพงขึ้น อาหารเริ่มขาดแคลน โครงการอาหารโลกสหประชาชาติ ระบุว่า อาหารสำรองของอัฟกานิสถานมีถึงแค่สิ้นเดือนนี้ ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลรักษาการของตาลีบันออกมาเรียกร้องให้โลกช่วยเหลือ ด้วยการเลิกคว่ำบาตร เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาปล่อยเงินอายัดไว้

การแถลงข่าวครั้งแรกของ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลตาลีบัน อาเมียร์ ข่าน มุตตากี ใจความสำคัญคือ  เรียกร้องให้ประชาคมโลกยอมรับรัฐบาลตาลีบัน เลิกกดดัน และกลับมาใช้ความช่วยเหลือัฟกานิสถานที่กำลังวิกฤต มีการระบุถึงพฤติกรรมของสหรัฐที่ลงโทษอัฟกานิสถานด้วยการอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถานไว้ทั้งๆที่ตาลีบันช่วยเหลือสหรัฐเต็มที่ในภารกิจถอนทหาร

หลังประกาศถอนทหาร รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน หรือ DAB ในสหรัฐฯกว่าราว 9.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 300,000 ล้านบาท โดยทรัพย์สินเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในนิวยอร์ก และสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง  นี่คือหนึ่งในวิธีการกดดันของสหรัฐต่อรัฐบาลตาลีบัน

อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ซึ่งคล้ายกับการคว่ำบาตรตาลีบัน ตัดแขนตัดขาตาลีบัน กำลังกระทบโดยตรงกับประชาชนธรรมดา

เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานจึงกำลังย่ำแย่เพราะขาดสภาพคล่อง นอกจากถูกสหรัฐอายัดเงินไว้แล้ว องค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังระงับความช่วยเหลือทางการเงินทั้งหมด ที่ผ่านมาอัฟกานิสถานพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 80% เมื่อความช่วยเหลือจากต่างชาติหยุดชะงัก จึงเกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจทันที

ข้าราชการและพนักงานของรัฐไม่ได้เงินเดือนมาหลายเดือนแล้ว ระบบการเงินและธนาคารหยุดชะงัก ค่าเงินอัฟกานีตกต่ำเพราะคนไม่มั่นใจในอนาคตประเทศผู้คนจำนวนมากตกงานและเริ่มอดอยาก เป็นระเบิดเวลาที่อาจจะทำให้เกิดความปั่นป่วนการประท้วงใหญ่ในอนาคตอันใกล้

ตอนนี้ประชาชนต้องขนเอาข้าวของเครื่องใช้ในบ้านออกมาขายเพื่อแลกกับเงินสด มีตั้งแต่ตู้เย็น พัดลม หมอน ผ้าห่ม พรม ไปจนถึงจานชาม หลายคนบอกว่า พวกเขากำลังอยู่ในสภาวะที่สิ้นหวัง และจะสิ้นหวังมากขึ้น เพราะที่นั่นกำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศที่หนาวจัดและโหดร้ายจะยิ่งทำให้คนลำบากมากขึ้น พวกเขาอาจจะไม่มีแม้แต่อาหารประทังชีวิต

ตอนนี้องค์กรบรรเทาทุกข์ เช่น โครงการอาการโลกแห่งสหประชาชาติ จึงเริ่มส่งความช่วยเหลือเข้าไปในอัฟกานิสถานอีกครั้ง  เที่ยวบินแรกที่ขนส่งอาหารที่ลงจอดในสนามบินนานาชาติฮามิด คาไซในกรุงคาบูลเมื่อวานนี้  เจ้าหน้าที่ของโครงการอาหารโลกระบุว่า ประมาณ 18 ล้านคน หรือ 1ใน 3 ของประชากรอัฟกานิสถานกำลังอดอยาก และจะทวีความรุนแรงขึ้นถ้าโลกไม่ให้ความช่วยเหลือ เพราะอาหารสำรองที่มีอยู่ในประเทศกำลังจะหมดไปภายในสิ้นเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม การส่งอาหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือ การที่อัฟกานิสถานต้องจัดการเศรษฐกิจของตัวเองให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายหากพิจารณาจากความซับซ้อนของปัญหานอกเหนือจากทรัพย์สินกว่า 300,000 ล้านบาทที่สหรัฐฯ อายัดเอาไว้ ประชาคมโลกยังคงลังเลในการเข้าไปช่วยอัฟกานิสถานฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เหตุผลสำคัญก็เนื่องจากหน้าตาของรัฐบาลตาลีบัน ที่มีการประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ปรากฏว่ามีหลายคนยังอยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้ายที่ FBI ต้องการตัว เช่น ซิราจุดีน ฮักกานี หัวหน้าเครือข่ายฮักกานีที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย

ในการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรงการต่างประเทศของตาลีบัน ได้มีการทวงถามสัญญาที่สหรัฐเ คยให้ไว้ในช่วงของการเจรจาสันติภาพกันว่า สหรัฐฯ จะถอดชื่อของแกนนำตาลีบันออกจากบัญชีผู้ก่อการร้าย

การได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกเป็นสิ่งที่รัฐบาลตาลีบันต้องทำให้ได้เพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านการเงินอีกครั้ง อีกความท้าทายหนึ่งที่ตาลีบันกำลังเจอคือ ความแตกแยกกันของกลุ่มก๊กและบรรดาขุนศึกที่กำลังแย่งชิงอำนาจกัน

 

ลือหึ่งเป็นหรือตาย? สองผู้นำตาลีบันหายหน้าจากสื่อ

สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น The Guardian / CNN/ BBC/ หรือ Aljazeera รวมถึงรอยเตอร์ รายงานข่าวการหายหน้าหายตาไปของคีย์แมนคนสำคัญของกลุ่มตาลีบัน นั่นก็คือ นายมุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน เขาเป็นนักรบมูจาฮิดีนรุ่นต่อสู้กับสหภาพโซเวียต เป็นมือขวาของมุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำคนแรกของกลุ่มตาลีบัน เคยถูกจับและถูกขังอยู่ในคุกของปากีสถานอยู่ 8 ปีก่อนจะถูกปล่อยออกมาเพราะสหรัฐต้องการให้เขาเป็นตัวเชื่อมในการพูดคุยเจรจาสันติภาพกับตาลีบัน

บาราดาร์ จึงได้เป็นหัวหน้าสำนักงานการเมืองของตาลีบันที่มีสำนักงานในกรุงโดฮาร์ของประเทศการ์ตา เขาคือตัวหลักในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลง และสหรัฐยอมถอนทหารในที่สุด หลังจากนั้น บาราดาร์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราวของตาลีบัน

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่เขาได้รับซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดคาด เพราะบทบาทที่สำคัญในฐานะผู้แทนในการการเจรจากับสหรัฐ เขาน่าจะได้ตำแหน่งที่สำคัญมากกว่านี้

นักวิเคราะห์หลายคน บอกว่า บาราดาร์กำลังถูกกีดกันออกไปออกวงของอำนาจ เพราะแนวคิดที่เป็นกลางและประนีประนอมเกินไปของเขา

กลุ่มคนที่คุมอำนาจตัวจริงในรัฐบาลตาลีบันขณะนี้คือ กลุ่มสายสุดโต่ง กลุ่มก๊กแรกคือ เครือข่ายฮักกานี กลุ่มติดอาวุธใต้ร่มธงตาลีบันที่อยู่ในบัญชีก่อการร้ายของสหรัฐ เครือข่ายฮักกานีได้ตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 4 ตำแหน่งในรัฐบาลตาลีบัน รวมถึงตำแหน่งสำคัญคือ รัฐมนตรีมหาดไทย ที่ตกเป็นของผู้นำเครือข่าย จุราฮิดีน ฮักกานี

อีกกลุ่มก๊กหนึ่งที่มีอำนาจจริงคือ กลุ่มของ มุลเลาะห์ ยาคุบ  ลูกชายของมุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำคนแรกของตาลีบัน มุลเลาะห์ ยาคุบ อายุเพียง 30 ต้นๆ แต่เชื่อกันว่ามีอิทธิพลและได้รับการยอมรับสูงมาก เป็นคนคุมกำลังรบของตาลีบัน และขณะนี้เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลตาลีบัน

วิเคราะห์กันว่า บาราดาร์ รองนายกรัฐมนตรีผู้มีแนวคิดสายกลางมีความเห็นขัดแย้งกับ 2 กลุ่มนี้ อย่างหนักในเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีและการจัดระเบียบกองทัพ

การที่บาราดาร์ไม่ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะชนมาหลายวันกำลังกลายเป็นข่าวที่ทุกคนจับตามอง รายงานบางชิ้นระบุว่า เขาเสียชีวิตแล้วจากการถูกยิง หลังจากเกิดการโต้เถียงและต่อสู้กับอำนาจอีก 2 ก๊กในกลุ่มตาลีบัน

ล่าสุดโฆษกกลุ่มตาลีบันปฏิเสธข่าวนี้ผ่านทวิตเตอร์ โดยระบุว่าข่าวการเสียชีวิตของบาราดาร์เป็นข่าวเท็จ และยังเผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกภาพบาราดาร์ที่กำลังประชุมอยู่ในเมืองกันดาฮาร์ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดและฐานที่มั่นของตาลีบัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครสามารถตรวจสอบว่าคลิปนี้ถ่ายไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่และเป็นคลิปจริงหรือไม่

 

อีกคนที่สื่อสงสัยว่าหายไปไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ คือ ไฮบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดของกลุ่มตาลีบัน ที่ไม่ได้ออกมาปรากฏตัวตั้งแต่ตาลีบันเข้ายึดอัฟกานิสถานครั้งล่าสุด

ตาลีบันเคยให้สัมภาษณ์ก่อนเผยรายชื่อรัฐบาลใหม่ว่า ไฮบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกันดาฮาร์ และจะออกสื่อเร็วๆ นี้

ผู้คนสงสัยว่าผู้นำสูงสุดหายหน้าหายตาไปไหน แต่แตกต่างจากกรณีของบาราดาร์ ยังไม่มีสมาชิกตาลีบันออกมาปฏิเสธข่าวลือการเสียชีวิตของ ไฮบาตุลเลาะห์ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คน ๆ นี้ไม่ได้มีชื่อในคณะรัฐบาลใหม่ แต่ทางตาลีบันจะยังให้เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อไป โดยให้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและการตัดสินกฎหมายชารีอะห์มากกว่าการบริหารประเทศ

ที่ผ่านมาตาลีบันพยายามปกปิดสถานะสุขภาพและข่าวการเสียชีวิตของสมาชิกคนสำคัญ

ย้อนไปตอนปี 2015 ตาลีบันประกาศว่า มุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำตาลีบันคนแรกเสียชีวิตแต่เป็นการเสียชีวิตตั้งแต่ 2 ปีก่อน จึงค่อยประกาศออกมา คาดกันว่าที่ต้องปกปิดเพราะหวั่นเกรงว่า ข่าวการเสียชีวิตของสมาชิกคนสำคัญอาจกระทบต่อความมั่นคงและฐานอำนาจของตาลีบัน

 

ผู้หญิงอัฟกันแสดงพลังบนโลกออนไลน์ด้วยเสื้อผ้าสีสดใส

ด้านเสียงต่อต้านยังคงเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้มีผู้คนออกมาประท้วง จนทำให้ตาลีบันประกาศว่า ต่อไปนี้จะชุมนุมประท้วงต้องขออนุญาตก่อน  ล่าสุดบรรดาผู้หญิงอัฟกันจึงเปลี่ยนไปเปล่งเสียงบนโลกออนไลน์แทน

ขณะนี้แฮชแทก Do Not Touch My Clothes กำลังเป็นที่นิยมของผู้หญิงอัฟกันทั้งในและนอกประเทศ  พวกเธอลงภาพตัวเองในชุดเสื้อผ้าพื้นเมืองสีสันสดใส เพื่อบอกกับตาลีบันว่า เสื้อผ้าเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอัฟกานิสถาน และผู้หญิงอัฟกันแต่งตัวกันแบบนี้มาก่อนที่จะมีตาลีบัน

อย่างภาพนี้ที่เจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ เล่าว่า ผู้หญิงในภาพคือแม่ของเธอที่ตอนนั้นกำลังตั้งครรภ์เธออยู่ นี่คือชุดเสื้อผ้าที่แท้จริงของผู้หญิงชาวอัฟกัน ที่ไม่จำเป็นต้องคลุมผมแบบที่ตาลีบันต้องการ

แคมเปญออนไลน์เกิดขึ้น หลังไม่กี่วันก่อนเพิ่งจะปรากฏภาพของผู้หญิงอัฟกันในชุดบุรกาออกมาสนับสนุนตาลีบัน

โดยพวกเธอแต่งตัวเหมือนกันด้วยบุรกาสีดำ ถือธงชาติใหม่ เดินขบวนไปตามท้องถนน ภายใต้การคุ้มครองจากสมาชิกตาลีบันติดอาวุธ

ในประเทศผู้หญิงออกมาประท้วงไม่ได้ แต่ที่นอกประเทศพวกเธอทำได้ นอกจากแสดงพลังบนโลกออนไลน์แล้ว ล่าสุดเมื่อวานนี้ปรากฏภาพของผู้หญิงชาวอัฟกันจำนวนหนึ่งมารวมตัวถือป้ายประท้วงตาลีบันที่สถานทูตอัฟกานิสถาน ในกรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน

นอกจากนั้นในป้ายยังมีข้อความที่ระบุว่า “ปากีสถานออกไป” และ “ปากีสถานหยุดฆ่าคนอัฟกัน” ด้วย

 

ตาลีบันอนุญาตให้เล่นกีฬาได้ แต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น

หลังยึดกรุงคาบูลได้ ในช่วงแรกที่ตาลีบันขึ้นปกครอง พวกเขารับปากว่าสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงอัฟกันจะยังคงเดิม แต่หลังจัดตั้งรัฐบาล กลับมีเงื่อนไขเพิ่มออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ห้ามนั่งเรียน หรือนั่งทำงานรวมกับผู้ชาย ไปจนถึงล่าสุดคือ ห้ามผู้หญิงเล่นกีฬา

ล่าสุดมีภาพจากสนามกีฬาในกรุงคาบูล โดยเป็นพิธีโชว์เล็ก ๆ ที่มี บาเชียร์ รูซุมไซ รักษาการประธานคณะกรรมการกีฬาอัฟกานิสถานเป็นประธาน

บาเชียร์ระบุว่า ตาลีบันอนุญาตให้คนอัฟกันสามารถเล่นกีฬาต่าง ๆ ได้ถึง 400 ประเภท รวมถึงสนับสนุนมวยไทยเป็นพิเศษ และอัฟกันเองมีนักกีฬามวยเก่ง ๆ มากมายที่สามารถไปแข่งขันยังเวทีโลก

หลังแถลงก็มีนักกีฬาที่ทั้งหมดเป็นเด็กหนุ่มชาวอัฟกันออกมาโชว์ความสามารถด้านกีฬา มีตั้งแต่ต่อยมวย กระบี่กระบอง ไปจนถึงโรลเลอร์สเก็ต  ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยมีสมาชิกตาลีบันติดอาวุธยืนคุมอยู่ตามจุดต่างๆ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ห้ามผู้หญิงเล่นกีฬา ซึ่งตาลีบันยังไม่เปลี่ยนแปลงกฎข้อนี้

อย่างไรก็ตามการอนุญาตให้ผู้ชายเล่นกีฬาได้ก็นับเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะย้อนไปช่วงปี 1996 - 2001 สมัยที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน ในตอนนั้นกีฬาถูกห้ามทั้งหมด และสนามกีฬาก็ถูกใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตหรือตัดมือคนที่ทำผิดกฎหมายชารีอะห์

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ