ตาลีบัน ขอเปิดตัวบนเวทียูเอ็น หวังประชาคมโลกยอมรับ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การที่ตาลีบันยึดประเทศได้อย่างสมบูรณ์ยังไม่ได้เป็นตอนจบ แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นบทใหม่ของปัญหาที่ตอนนี้มีทั้งจากที่เกิดขึ้นภายในและภายนอก ปัญหาภายในใหญ่ที่สุด คือ เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลเกี่ยวพันกับปัญหาภายนอกนั่นก็คือ ตาลีบันยังไม่ได้การรับรองจากประชาคมโลก

ตาลีบันตั้งทูตประจำ UN ขอร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

ตาลีบัน เรียกร้องนานาชาติช่วยอัฟกานิสถาน เลิกคว่ำบาตร

ทำไมตาลีบันต้องการได้การรับรองจากประชาคมโลก? เพราะถ้าไม่ได้ก็อยู่ลำบาก เนื่องจากร้อยละ 80 ของเศรษฐกิจอัฟกานิสถานขึ้นอยู่กับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เงินเดือน ค่าเงินที่ตกต่ำทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูง ธุรกิจที่ปิดตัวทำให้คนตกงาน สถานการณ์แบบนี้อาจนำไปสู่การประท้วงใหญ่หรือสงครามกลางเมืองในอนาคตอันใกล้ แต่ประชาคมโลกยังลังเลที่จะช่วยเหลือ

 

ล่าสุดตาลีบัน ต้องพยายามพาตัวเองไปหาประชาคมโลกเอง ด้วยการร้องขอขึ้นเวทีเพื่อสื่อสารกับโลกในการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติที่กำลังประชุมกันอยู่ที่มหานครนิวยอร์คของสหรัฐฯ

สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีที่ดูแลกิจการต่างประเทศของรัฐบาลตาลีบัน อาเมียร์ ข่าน มุตตากี ได้ยื่นคำร้องขอไปที่สหประชาชาติ เพื่อขอขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ที่กำลังจัดขึ้นในมหานครนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกา

โดยการประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติเป็นการประชุมประจำปี ที่สมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศมารวมตัวกัน โดยปกติแล้วผู้ที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมประะชุมคือผู้นำประเทศ เรียกง่าย  ๆ คือ เวทีนี้เป็นการรวมตัวกันของผู้นำโลกที่ใหญ่ที่สุด พิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของการประชุมสมัชชาใหญ่ คือ การให้ผู้นำประเทศขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์

สุนทรพจน์เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาที่ประเทศตนและโลกกำลังเผชิญ และที่สำคัญ คือ เป็นโอกาสที่ผู้นำเหล่านั้นจะได้แสดงจุดยืนต่อปัญหาดังกล่าว สุนทรพจน์ของผู้นำเหล่านี้บางครั้งบางคราวยังบ่งชี้แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้

จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลตาลีบันจะขอโอกาสในการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีนี้ เพราะหากได้รับโอกาสขึ้นพูด นั่นแสดงว่าประชาคมโลกเริ่มยอมรับในความชอบธรรมของรัฐบาลตาลีบัน ซึ่งจะนำไปสู่การที่อัฟกานิสถานจะได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลกอีกครั้ง

 

เห็นชัดเจนว่าตาลีบันกำลังพยายามอย่างยิ่งในการที่จะมีพื้นที่ในเวทีโลกเพื่อให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมามีความชอบธรรม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีประเทศใดรับรองรัฐบาลตาลีบันอย่างเป็นทางการ

สหรัฐฯ และชาติตะวันตกสงวนท่าที เนื่องจากบุคคลที่ได้รับตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลชุดนี้เป็นคนที่อยู่ในรายชื่อที่ FBI ต้องการตัว หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มที่สหรัฐขึ้นป้ายว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย เช่น ซิราจุดดิน ฮักกานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนี่เองที่สหรัฐฯ ใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ยังอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทของธนาคารกลางอัฟกานิสถานที่ฝากไว้กับสถาบันการเงินในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศออกมาบอกว่า การโดดเดี่ยวรัฐบาลตาลีบันไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาในอัฟกานิสถานหนึ่งในนั้นคือ ประเทศกาตาร์ ที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ยูเอ็นเมื่อคืนที่ผ่านมา หรือแม้แต่เลขาธิการใหญ่ของยูเอ็น ก็เคยออกพูดหลายครั้งว่า ประชาคมโลกไม่ควรโดดเดี่ยวรัฐบาลตาลีบัน เพราะจะทำให้อัฟกานิสถานเข้าสู่หายนะ

 

ยิ่งโดดเดี่ยวอัฟกานิสถาน ผู้คนยิ่งลำบากหนักขึ้น

การถูกโดดเดี่ยวทำให้ขณะนี้ทำให้ชีวิตของผู้คนลำบากอย่างหนักในแทบทุกมิติ ชาวอัฟกันอย่างน้อย14 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประเทศกำลังอดอยากเนื่องจากราคาอาหารเพิ่มสูงและพืชผลการเกษตรถูกทำลายจากภาวะสงคราม ส่วนคนที่ทำงานในหน่วยงานราชการไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือนแล้ว

อีกวิกฤตหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการถูกโดดเดี่ยว คือ วิกฤตด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงคาบูลเริ่มมีรายงานการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ไม่ต้องนับรวมถึงในพื้นที่ห่างไกล

ก่อนหน้านี้สหประชาชาติ ได้พยายามระดมเงินช่วยเหลืออัฟกานิสถาน และหลายชาติบริจาคเข้ามาเกือบ 3.3 หมื่นล้าน แต่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นบอกว่า การบริจาคเงินอย่างเดียวไม่พอ วิกฤตที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานรุนแรงมาก และการโดดเดี่ยวอัฟกานิสถานด้วยการตัดเงินช่วยเหลือหรืออายัดเงินแบบที่สหรัฐทำจะยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  โดยเขาระบุว่า ควรจะหาวิธีการในการอัดฉีดเงินสดเข้าระบบเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานก่อนที่ระบบจะล่มสลาย

 

หากอัฟกานิสถานล่มสลาย ไอซิสผงาด ยาเสพติดเฟื่องฟู

ภาวะล่มสลายของประเทศในทุกมิติของอัฟกานิสถานจะส่งผลสะเทือนหลายอย่างที่โลกเป็นกังวลคือ กลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลไคดาหรือ ISIS K จะเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะ ISIS K ที่มีการลงมือก่อการร้ายใหญ่ไปแล้ว นั่นคือระเบิดฆ่าตัวตายบริเวณสนามบินนานาชาติฮามิด คาไซในช่วงที่สหรัฐอพยพคนออกเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ส่งผลให้มีทหารสหรัฐเสียชีวิต 13 นาย และคนอัฟกันที่รอการอพยพเสียชีวิตกว่า 70 คน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเกิดเหตุก่อการร้ายอีก คราวนี้เกิดที่เมืองจาลาลาบัด เมืองเอกของจังหวัดนานการ์ฮา ทางตะวันออกของประเทศ

ล่าสุดกลุ่มไอซิสเคออกมา ระบุว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุครั้งนี้ และทางกลุ่มสามารถสังหารสมาชิกกองกำลังตาลีบันได้ถึง 35 คน  โดยในการออกมาครั้งนี้ของไอซิสเคยังปล่อยคลิปภาพขณะก่อเหตุระเบิดออกมาด้วย

หากอัฟกานิสถานเข้าสู่วิกฤต ผู้คนอดอยากเพราะถูกโดดเดี่ยว ไม่เพียงแต่จะเกิดสูญญากาศทางการเมืองและทำให้เกิดบรรดากลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งที่จะเฟื่องฟูขึ้นคือ ยาเสพติด โดยเฉพาะฝิ่นและเฮโรอีน

 

จากข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) อัฟกานิสถานเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่สุดของโลก ฝิ่นที่ผลิตจากอัฟกานิสถานมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของอุปทานของโลก ฝิ่นคือสารตั้งต้นในการทำยาเสพติดหลายชนิด รวมถึงเฮโรอีน นี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่อยู่ในการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบัน นั่นก็คือ ตาลีบัน ต้องจัดการปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างจริงจัง เพื่อแลกกับการถอนทหารสหรัฐฯออก

ไม่แน่ใจว่าสัญญานี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายจากปัญหาที่รุมเร้า ดูเหมือนยาเสพติดอย่างฝิ่นและเฮโรอีนยังคงเฟื่องฟู

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อินเดียประกาศว่า สามารถยึดเฮโรอีนเกือบ 3 ตัน มูลค่าราว 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 90,000 ล้านบาทได้ที่ท่าเรือในรัฐคุชราต ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ อินเดีย ระบุว่า ต้นทางของเฮโรอีนล็อตนี้คือ ประเทศอัฟกานิสถาน โดยคาดว่า ส่งผ่านมาอิหร่านก่อนที่จะมาถึงท่าเรือที่อินเดีย การก่อการร้าย ยาเสพติด คือปัญหาใหญ่ที่รอวันปะทุหากอัฟกานิสถานยังคงปั่นป่วนวุ่นวาย เหล่านี้คือที่มาของข้อเสนอว่า ประชาคมโลกไม่ควรโดดเดี่ยวรัฐบาลตาลีบัน แต่ควรเข้าช่วยเหลือ ประคับประคอง

นอกจากกาตาร์ที่ขึ้นพูดบนเวทียูเอ็นแบบนี้แล้ว มีท่าทีที่น่าสนใจจากอีกหนึ่งมหาอำนาจคือ รัสเซีย

 

รัสเซีย ชี้ควรช่วยอัฟกานิสถาน ก่อนจะกระทบทั้งภูมิภาค

 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำรัสเซียประธานาธิบดีปูตินจัดประชุมองค์กรที่เรียกว่าองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) เป็นองค์กรพหุภาคิที่มีสมาชิกหลักอยู่ในเอเชียกลางและใต้ รัสเซีย จีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน อินเดียและปากีสถาน

ประธานาธิบดีปูตินพูดในที่ประชุมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานกำลังส่งผลกระทบกับภูมิภาคนี้โดยตรง ทั้งเรื่องการก่อการร้ายและยาเสพติด และการโดดเดี่ยวตาลีบันไม่ใช่วิธีการจัดการปัญหานี้ ที่น่าสนใจคือ ประธานาธิบดีปูตินบอกว่า องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้สามารถเล่นบทบาทในการช่วยเหลืออัฟกานิสถานได้

น่าสนใจมากสำหรับองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ที่กำลังเพิ่มอิทธิพลบารมีในทางระหว่างประเทศ ส่วนในระดับขององค์กรระดับโลกอย่างยูเอ็นก็น่าจับตามองว่า ในที่สุดจะรับรองความชอบธรรมของตาลีบันด้วยการเปิดเวทีให้กล่าวสุนทรพจน์ตามที่ร้องขอหรือไม่

รัฐบาลตาลีบัน ขอเปลี่ยนตัวทูตอัฟกานิสถานประจำ ยูเอ็น

นอกเหนือจากการขอขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ รัฐบาลตาลีบันยังขอให้มีการเปลี่ยนตัวทูตอัฟกานิสถานประจำสหประชาชาติจาก กูลาม ไอซาคไซ มาเป็น ซูฮารี ซาฮีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของตาลีบัน และเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในทีมเจรจาสันติภาพกับสหรัฐฯ  ตาลีบันให้เหตุผลในการขอเปลี่ยนตัวทูตว่า กูลาม ไอซาคไซ ได้รับการแต่ตั้งในรัฐบาลชุดก่อนที่นำโดยอดีตประธานาธาธิบดีอัชราฟ กานี เมื่อรัฐบาลนั้นหมดอำนาจไปแล้ว ก็สมควรที่จะต้องมีทูตคนใหม่ที่แต่งตั้งโดยตาลีบัน

คำขอของรัฐบาลตาลีบันกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการของยูเอ็นที่ทำหน้าที่คัดสรรผู้ที่จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์

บีบีซี รายงานด้วยว่า รายชื่อคนที่อยู่ในคณะกรรมการเป็นความลับ เท่าที่รู้คือมีตัวแทนจากทั้งหมด 9 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ จีนและรัสเซีย จะเป็นก้าวย่างสำคัญถ้าตาลีบันได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์จริง

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ