กระเป๋า “หนังเห็ด” เส้นทางสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของวงการแฟชั่น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แวดวงแฟชั่นหันมามอง “หนังเห็ด” เป็นวัสดุในการทำกระเป๋า เสื้อผ้า มากขึ้น เพราะเป็นเส้นทางที่ยั่งยืน ลดการเบียดเบียนสัตว์ ลดโลกร้อน

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะได้ยินการรณรงค์เรื่องลดการรับประทานเนื้อสัตว์ และหันมารับประทานอาหารที่เป็นพืช หรืออาหารที่เป็นโปรตีนจากพืชแทน หรือที่เรียกกันว่า “วีแกน” เพราะอุตสาหกรรมปศุสัตว์มีส่วนในการก่อให้เกิดภาวะโลกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างมาก

แต่นอกจากอาหารแล้ว “วีแกน” ยังอาจหมายความรวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากวัตถุดิบจากสัตว์ เช่น กระเป๋าหนังสัตว์ เสื้อคลุมขนสัตว์ ฯลฯ

โลกร้อนเป็นเหตุ ในอนาคตอันใกล้ “อาร์กติกจะมีฝนตกมากกว่าหิมะ”

ภาพวาดโลกในอีก 500 ปีข้างหน้า หากเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้

ระดับการตัดไม้ทำลายป่า “แอมะซอน” ของบราซิล สูงสุดในรอบ 15 ปี

ดังนั้นแล้ว การเปลี่ยนมาใช้ของที่ไม่ได้ทำจากสัตว์ นอกจากจะลดการเบียดเบียนสัตว์โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้

ทางออกของเรื่องนี้ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังแฟชั่นล่าสุดที่ต้องมีอย่าง “กระเป๋าหนังเห็ด” ซึ่งทำจาก “ไมซีเลียม (Mycelium)” หรือวัสดุที่ปลูกจากเชื้อรา ซึ่งสามารถนำมาออกแบบให้ดูเหมือนหนังลูกวัวหรือหนังแกะได้ เท่ากับเป็นกระเป๋าที่เก๋และสวยเหมือนทำจากหนังสัตว์จริง และสามารถช่วยโลกได้อีกด้วย

ดร.แมตต์ สคัลลิน ซีอีโอของ MycoWorks บริษัทวัสดุชีวภาพ คาดการณ์ว่า หนังเห็ดอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ยั่งยืนของวงการแฟชั่น

ไฟน์ไมซีเลียม (Fine Mycelium) เป็นวัสดุที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว สามารถเติบโตจากเชื้อราในถาดได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เลียนแบบรูปลักษณ์และความรู้สึกของหนังสัตว์ได้ ในขณะเดียวกันก็ให้ประสิทธิภาพที่เหนือกว่าในด้านความแข็งแรงและความทนทาน วัสดุนี้เพิ่งถูกนำไปใช้ในแบรนด์ดังอย่างกระเป๋าถือของแอร์เมส (Hermès) รุ่นพิเศษเช่นกัน

“มันสามารถให้ความรู้สึกทางอารมณ์ได้เช่นเดียวกับหนังสัตว์ มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นของหายาก” สคัลลินกล่าว บนดาวเคราะห์ที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด สคัลลินเชื่อว่า ทั้งเทคโนโลยีและแนวความคิดเรื่องหนังเห็ดที่มีความ “เป็นกลางทางคาร์บอน” อาจเป็น “การปฏิวัติ” และมีผลกระทบต่อภาคการผลิตอื่น ๆ นอกเหนือจากแฟชั่น

เมอร์ลิน เชลเดรก นักชีววิทยา และผู้เขียนหนังสือ “Entangled Lives: How Fungi Make Our Worlds, Change Our Minds, and Shape Our Futures” กล่าวว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้สนับสนุนโลกแฟชั่นในความพยายามที่จะสร้างความยั่งยืนให้มากขึ้น เชื้อรามีศักยภาพมากมายที่จะเอาชนะปัญหาบางอย่างที่เรากำลังเผชิญ” เขากล่าว

เชลเดรกมองว่า แฟชั่นที่ใช้หนังเห็ดเป็นการ “นำเชื้อรามาคิดอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน” และเสริมว่า หนังเห็ดสามารถปลูกเป็นชิ้น ๆ ตามรูปร่างและขนาดเฉพาะที่นักออกแบบต้องการได้ ลดการเกิดของเสีย

รายงานโดยดัชนีความยั่งยืนวัสดุของฮิกก์ (Higg Materials Sustainability Index) ระบุว่า หนังวัวสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าวัตถุดิบอื่น ๆ รวมถึงหนังสังเคราะห์ที่ทำจากพลาสติก เนื่องจากจะต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างพื้นที่เลี้ยงวัว และการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเรอ หรือตด ของวัว

ตัวสินค้าเครื่องหนังที่คิดเป็น 15% ของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในปี 2019 ตามรายงานของ Statista Consumer Market Outlook Luxury Leather Goods

เห็ดอาจไม่มีภาพลักษณ์ที่เย้ายวนใจ แต่หนังจากเชื้อรากลายเป็นวัสดุพิเศษ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่สตูดิโอออกแบบแฟชั่นชั้นสูงที่ใช้ผ้าแคชเมียร์และผ้าไหมออร์แกนซา

แต่เพื่อสร้างความยั่งยืน วัสดุจะต้องสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ต่ำกว่า “เรากำลังทำงานกับแฟชั่นสุดหรูเป็นอันดับแรก เพราะพวกเขาอยู่เหนือคู่แข่งในด้านความยั่งยืน แบรนด์เหล่านี้เป็นแบรนด์ที่สามารถคิดการใหญ่และคิดระยะยาวได้” สคัลลินกล่าว

บริษัท MycoWorks เองกำลังจะเปิดโรงงานแห่งที่สองในสหรัฐฯ การขยับขยายนี้ก็เพื่อทำให้แบรนด์ต่าง ๆ มั่นใจได้ว่า บริษัทสามารถผลิตวัสดุนี้เพื่อใช้ในวงการแฟชั่นหรือในเบาะรถยนต์ได้อย่างเพียงพอแน่นอน

ทั้งนี้ นักชีววิทยาเตือนว่าการออกแบบที่ไม่ละเอียดอ่อนอาจบ่อนทำลายคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไมซีเลียม โดยหากกระเป๋าถือหรือแจ็คเก็ตผลิตขึ้นโดยนำส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น ขอบกระเป๋า กาว สายรัด และตัวยึด ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การทำเช่นนั้นจะทำลายผลดีของการใช้หนังเห็ด เพราะสุดท้ายก็จะมีส่วนประกอบอื่นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ดี

“เราสามารถนำความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพมาสู่แบรนด์ต่าง ๆ ได้ แต่ยังคงมีปัญหาใหญ่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการคิดอย่างยั่งยืน” สคัลลินกล่าว

นอกจาก MycoWorks แล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่ให้ความสนใจกับการทำให้วงการแฟชั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น Bolt Threads ซึ่งเป็นบริษัทวัสดุชีวภาพอีกแห่งหนึ่งที่ทำงานกับหนังเห็ด ซึ่งร่วมมือกับ Stella McCartney ในกระเป๋าถือที่จัดแสดงที่ปารีสแฟชั่นวีค และกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์กับอาดิดาส (Adidas)

ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ทั่วโลกที่พยายามผลักดันให้มีการใช้วัสดุหรือวัตถุดิบในการผลิตกระเป๋าและเครื่องแต่งกายโดยไม่ส่งเสียกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญว่า วงการแฟชั่นเองก็กำลังพยายามปรับตัวรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

พบแล้ว! สาเหตุฉีดวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

เปิดผลทดสอบชุดตรวจ ATK จากแล็บยุโรป หาโอมิครอนได้หรือไม่ พบบางยี่ห้อมีขายในไทย

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก MycoWorks / The Guardian

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ