อนามัยโลก เบรกตั้งโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" เหตุคนไม่ฉีดวัคซีนยังอันตราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกในรอบสัปดาห์นี้สูงถึง 15 ล้านคน นับเป็นตัวเลขสูงที่สุด ทำลายสถิตินับตั้งแต่มีการระบาดของโควิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกยังคงเตือน แม้โควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้อาการป่วยน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ก็ยังคงอันตราย โดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน นอกจากนั้นยังรายงานความคืบหน้า ปัจจุบันกว่า 90 ประเทศทั่วโลกยังคงฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้าที่ องค์การอนามัยโลก ตั้งไว้คือ ร้อยละ 40 ของประชากร เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ องค์การอนามัยโลก ยังไม่รีบประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

ได้ผล! ชาวแคนาดาแห่จองฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก หลังโดนขู่เก็บภาษี

ผู้นำอังกฤษถูกกดดันลาออกเซ่นปาร์ตี้ฉาว

การแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO  นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวถึงการระบาดอย่างรวดเร็วของโอมิครอน ที่ดันตัวเลขผู้ติดเชื้อในรอบสัปดาห์ให้สูงถึง 15 ล้านคน สูงที่สุดนับตั้งแต่พบการระบาดของโควิด โดยระบุว่า โอมิครอนมีอาการน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ก็ยังอันตราย โดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์จะสูงทำลายสถิติ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ได้สูงตาม

โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ที่อนามัยโลกรายงานอยู่ที่ 48,000 คน  เป็นจำนวนเท่ากับตัวเลขช่วงการระบาดสูงสุดของสายพันธุ์เดลตาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ปัจจุบันกว่า 90 ประเทศทั่วโลกยังคงฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ไม่ถึงเป้าที่อนามัยโลกตั้งไว้ คือร้อยละ 40 ของจำนวนประชากร โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาที่ร้อยละ 85 ของประชากรยังคงไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

 

ข้อเท็จจริงที่ว่า โอมิครอนมีอาการรุนแรงน้อยกว่าและมีประชากรจำนวนมากที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้มีหลายประเทศกำลังพิจารณาลดสถานะของโควิดจาก “โรคระบาด” มาเป็น “โรคประจำถิ่น”  ประเทศที่ว่ารวมถึงไทย ที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า กำลังพิจารณาแผนรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนมกราคมปีนี้ให้เข้าสู่การเป็น "โรคประจำถิ่น" เนื่องจากโอมิครอนมีระดับความรุนแรงน้อย แม้จะแพร่กระจายได้รวดเร็ว แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ

สหราชอาณาจักรและสเปนก็เช่นเดียวกัน ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องนี้ โรคระบาดและโรคประจำถิ่นต่างกันอย่างไร และจะมีผลอย่างไรกับชีวิตของประชาชน

 

เข้าใจปัจจัยในการลดระดับโควิดลงมาเป็น “โรคประจำถิ่น”

ระดับของโรคมี 4 ระดับสูงที่สุดคือ การระบาดใหญ่ทั่วโลก หรือ Pandemic ซึ่งหมายถึงโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

รองลงมาคือ Epidemic หมายถึงโรคระบาดที่แพร่กระจายยวงกว้างในพื้นที่นั้นๆ เช่น กรณีของไวรัสอีโบลา ในแอฟริกาตะวันตก

ตามมาด้วย Outbreak หมายถึงการระบาด เช่น จู่ ๆ จำนวนผู้ป่วยโรคประจำถิ่นก็เพิ่มขึ้นผิดปกติ นอกจากนั้นยังใช้นิยามการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ด้วย

และในระดับต่ำที่สุดคือ Endemic หรือโรคประจำถิ่น หมายถึงโรคที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ แต่มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดเดาสถานการณ์ได้

จะเห็นว่าโรคที่จะถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้นจะต้องเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถคาดการณ์การณ์เกิดขึ้นได้ในเขตภูมิศาสตร์หรือจุดใดจุดหนึ่ง การลดระดับจากโรคระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่นมีปัจจัยที่สำคัญคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อต้องแตะจุดที่เรียกว่า "จุดสมดุลที่มีโรคประจำถิ่น" หรือ Endemic Equilibrium  คำนี้มีความหมายว่า เมื่อดูระดับยอดผู้ติดเชื้อ อัตราการเข้าโรงพยาบาล และผู้เสียชีวิต เส้นกราฟจะต้องเป็นแนวราบ ไม่ใช่กราฟพุ่งสูง ยกเว้นในกรณีที่เป็นโรคหรือการติดเชื้อตามฤดูกาล ตัวอย่างของโรคประจำถิ่นก็อย่างเช่น มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคระบาดเสมอไป เพียงแต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นประจำ และมีแนวโน้มจะคงอยู่เช่นนั้นต่อไป และขณะนี้แม้หลายประเทศจะเตรียมประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ล่าสุด องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังอาจเร็วเกินไปที่จะประกาศ เพราะโควิดยังคงกลายพันธุ์ได้เร็ว

 

แคเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายฉุกเฉินประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลกพูดถึงประเด็นนี้ระหว่างการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อีกทั้งยังมีปัจจัยจาก โควิดโอมิครอนที่กลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันยังไม่ถึงจุดที่จะนิยามว่าโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้

และแน่นอนสิ่งที่อนามัยโลกให้ความสำคัญไม่ว่าโควิดจะเป็นโรคระบาดหรือถูกลดระดับเป็นโรคประจำถิ่น ยังคงเป็น การฉีดวัคซีน เพราะความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนได้รับเชื้อยังมีอยู่ถึงแม้โรคจะเปลี่ยนสถานะแล้วก็ตาม ข้อมูลของอนามัยโลกระบุว่า กว่า 90 ประเทศทั่วโลกยังฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้คือ น้อยกว่าร้อยละ 40 ของประชากร และส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจนที่เข้าไม่ถึงวัคซีน

ส่วนประเทศร่ำรวยที่เข้าถึงวัคซีนกลับเจอปัญหาคนต่อต้าน ไม่อยากฉีดวัคซีน ทำให้ตอนนี้แต่ละประเทศต้องงัดมาตรการต่าง ๆ มาจูงไจ

 

แคนาดาจ่อเก็บภาษีคนไม่ฉีดวัคซีนได้ผล ยอดจองฉีดพุ่ง

ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา มีการกำหนดให้คนไม่ฉีดวัคซีนต้องเสียภาษี ย้อนดูนโยบายที่เพิ่งประกาศออกมา โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ฟรองซัวร์ เลอโกลต์ มุขมนตรีรัฐควิเบกให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลอาจเรียกเก็บภาษีจากคนที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนเลย

แนวทางดังกล่าวจะเป็นการยกระดับไปอีกขั้น หลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการควิเบกเพิ่งจะออกข้อกำหนดเพิ่มเติมว่า คนที่จะเข้าใช้บริการร้านอาหาร ยิมออกกำลังกาย หรือเข้าชมการแข่งขันในสนามกีฬา ตลอดจนซื้อกัญชาและแอลกอฮอล์นั้นจะต้องได้รับวัคซีนครบแล้ว

อย่างไรก็ตามยังไม่ชัดเจนว่าจะเรียกเก็บเป็นจำนวนเงินเท่าใด แต่เบื้องต้นคาดกันว่าอาจอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 2,600 บาท

ล่าสุดมีรายงานว่า ข้อกำหนดดังกล่าวที่ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างเป็นทางการส่งผลให้คนแห่กันไปลงทำเบียนฉีดวัคซีนกันอย่างล้นหลาม โดยคริสเตียน ดูเบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของรัฐควิเบ กระบุว่า ยอดจองฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวานนี้มีสูงถึง 7,000 คน นับเป็นยอดสูงสุดในรอบหลายวัน หลังที่ผ่านมายอดฉีดวัคซีนเริ่มชะลอตัวลง

ปัจจุบันแคนาดาฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนไปแล้วร้อยละ 82.5 สัดส่วนคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสมีร้อยละ 76.8 ส่วนบูสเตอร์โดสอยู่ที่ร้อยละ 28 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 38 ล้านคน

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ