ผลวิจัยในลิงพบ วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสูตรต้าน “โอมิครอน” อาจไม่จำเป็น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิจัยสหรัฐฯ ศึกษาในลิง พบวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาสูตรเดิมและสูตรต้านโอมิครอน มีประสิทธิภาพรับมือโอมิครอนใกล้เคียงกัน

การระบาดของโควิด-19 โอมิครอน ซึ่งมีข้อมูลว่าแพร่กระจายได้เร็ว และมีการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ จนวัคซีนโควิด-19 ที่มีในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันต้านโอมิครอนได้น้อย ทำให้หลายบริษัท เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ประกาศพัฒนาวัคซีนเวอร์ชันรับมือกับโอมิครอนโดยเฉพาะขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา นักวิจัยสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (NIAID) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ รายงานว่า วัคซีนโควิด-19 สูตรต้านโอมิครอนโดยเฉพาะนั้นอาจไม่มีความจำเป็น

เดนมาร์กเผย “โอมิครอน BA.2” ติดได้ง่ายกว่า BA.1 ราว 33%

เปิดผลศึกษาวัคซีนในกาตาร์ เปรียบเทียบประสิทธิผล“โมเดอร์นา- ไฟเซอร์”

“โมเดอร์นา” เริ่มทดสอบวัคซีนบูสเตอร์ สูตรต้าน "โอมิครอน"

ทีมวิจัยได้ศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันโควิด-19 โอมิครอนในลิงที่ได้รับวัคซีนสูตรเดิมของโมเดอร์นา เทียบกับลิงที่ได้รับวัคซีนสูตรต้านโอมิครอนของโมเดอร์นา พบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการป้องกันโอมิครอน

การศึกษานี้ดำเนินการในลิงที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 โอมเดอร์นาสูตรเดิมครบ 2 โดส เว้นระยะ 9 เดือน แล้วฉีดวัคซีนเข็ม 3 บูสเตอร์โดส โดยกลุ่มหนึ่งได้รับวัคซีนเวอร์ชันเดิมเป็นเข็มกระตุ้น ส่วนอีกกลุ่มได้รับสูตรต้านโอมิครอนเป็นเข็มกระตุ้น

จากนั้นนักวิจัยได้ทดสอบระดับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของลิงในแง่มุมต่าง ๆ และให้ลิงสัมผัสกับเชื้อไวรัสโอมิครอน พวกเขาพบว่า เข็มกระตุ้นทั้งสองแบบ “มีระดับการตอบสนองของแอนติบอดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอยู่ในระดับพอ ๆ กันเมื่อเจอกับสายพันธุ์ต้องกังวล (VOC) ทั้งหมด รวมถึงโอมิครอนด้วย”

แดเนียล ดูเอค นักวิจัยด้านวัคซีนที่ NIAID หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “นี่เป็นข่าวที่ดีมาก ... เพราะมันหมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องออกแบบวัคซีนโควิด-19 ตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็นวัคซีนต้านโอมิครอน”

ดูเอคเสริมว่า เขาเชื่อว่าเหตุผลที่ผลการศึกาออกมาเป้นเช่นนี้ ก็คือวัคซีนโมเดอร์นาทั้งสูตรดั้งเดิมและสูตรต้านโอมิครอนนั้น มีความสามารถในจำแนกสายพันธุ์ได้หลากหลาย ทำให้ไม่ต้องมีสูตรเฉพาะ

ด้าน ดร. จอห์น มัวร์ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาจากวิทยาลัยการแพทย์ Weill Cornell ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษา กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคล้ายคลึงกับการศึกษาวัคซีนโควิด-19 สูตรต้านสายพันธุ์เบตาที่เคยมีข่าวการพัฒนาก่อนหน้านี้ และสุดท้ายก็ไม่ได้มีการนำมาใช้จริงเพราะไม่ต่างจากวัคซีนสูตรเดิม

“แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูข้อมูลการศึกษาในมนุษย์แสดงให้เห็นอะไร โดยทั่วไปข้อมูลจากการศึกษาในลิงนั้นค่อนข้างน่าเชื่อถือ แต่คุณยังต้องมีข้อมูลจากมนุษย์อยู่ดี” มัวร์กล่าว

 

เรียบเรียงจาก Reuters

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ