ออสเตรเลีย ยืนยัน พบผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” กลับจากอังกฤษ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทั่วโลกจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)” หลังมีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น

อังกฤษรายงานพบผู้ป่วยโรคหายาก “โรคฝีดาษลิง” คาดติดมาจากไนจีเรีย

ผู้เชี่ยวชาญเตือน การระบาดของ “ฝีดาษลิง” ไม่ปกติ แนะจับตาใกล้ชิด

ออสเตรเลีย เป็นประเทศล่าสุดที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง โดยเป็นชายอายุประมาณ 30 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากสหราชอาณาจักร ขณะนี้กักตัวแยกโรคอยู่ในโรงพยาบาลในเมลเบิร์น

นอกจากนี้ ยังมีเคสต้องสงสัยอีก 1 คน เป็นชายวัยประมาณ 40 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากยุโรป และมีอาการเข้าข่าย ขณะนี้กักตัวอยู่ที่บ้านในซิดนีย์ และกำลังรอผลตรวจยืนยัน

โดยช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศที่ไม่ใช่ถิ่นระบาด ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ

ได้แก่ สหราชอาณาจักร โปรตุเกส สเปน อิตาลี สวีเดน แคนาดา และสหรัฐฯ ขณะที่ในฝรั่งเศส ตอนนี้พบเคสต้องสงสัย 1 คน

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า พบครั้งแรกในลิงเมื่อปี 1958 ก่อนจะพบในคนเมื่อปี 1970  ส่วนใหญ่พบการระบาดในแอฟริกาตะวันตกแลแอฟริกากลาง และแพร่กระจายไปที่อื่นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้น การระบาดของฝีดาษลิงนอกแอฟริกาล่าสุดนี้จึงทำให้เกิดความกังวลไม่น้อย

จิมมี่ วิตเวิร์ธ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศของสถาบันสุขอนามัย และเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) กล่าวว่า ไม่เคยมีการพบผู้ป่วยโรคนี้นอกแอฟริกามากขนาดนี้มาก่อน ดังนั้น จากมุมมองของสาธารณสุข จึงค่อนข้างน่าตกใจ และเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ วิตเวิร์ธ เตือนว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนก เนื่องจากการแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย ทำให้ไม่แพร่กระจายในประชากรวงกว้าง และเกิดการระบาดใหญ่เหมือนกับโรคโควิด-19 

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ วิตเวิร์ธ  ตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เชื้อกระจายไปทั่วโลก

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ผู้ป่วยฝีดาษลิงที่พบช่วงหลังส่วน]ใหญ่จะเป็นผู้ชายที่อยู่ในกลุ่มคนรักร่วมเพศ หรือผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้จากสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนอง การถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ การสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย โดยเชื้อจะมีระยะฟักตัว 5 วัน ถึง 3 สัปดาห์  อาการได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ใบหน้าและตามตัว ก่อนจะกลายเป็นตุ่มหนอง อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์  

สำหรับการรักษา ไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง โดยสามารถฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 2 – 4 สัปดาห์

 

ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรคของไทยได้เตือนประชาชนแม้มีโอกาสติดน้อย แต่ให้เฝ้าระวัง พร้อมแนะนำวิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศมาเลี้ยง หากกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคให้เฝ้าระวังอาการ 21 วัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ