อินโดนีเซียยกเลิกแบนส่งออกน้ำมันปาล์ม หลังราคาลดลง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากที่อินโดนีเซียแบนการส่งออกน้ำมันปาล์มที่ผลิตในประเทศชั่วคราว เพราะราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น หวั่นปชช.ขาดแคลน แต่หลังราคาลดล่าสุดยกเลิกแบนแล้ว

ติดตามผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้ที่นี่ >>> คลิก <<<

จโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประกาศข่าวดีว่า นโยบายแบนการส่งออกน้ำมันจะถูกยกเลิกในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ นั่นหมายความว่าตั้งแต่วันจันทร์หน้าเป็นต้นไป อินโดนีเซียจะกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มให้กับนานาชาติได้อีกครั้ง หลังระงับไปนานเกือบหนึ่งเดือน

จโก วิโดโด ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังราคาน้ำมันปาล์มลดลง และสินค้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นจนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

ศรีลังกาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน รัฐบาลมีเงินไม่พอนำเข้า

ตาลีบันวอนนานาชาติช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจ หวั่นปชช.ลี้ภัยระลอกใหม่

อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินโดนีเซียจะยังจับตาสถานการณ์ต่อไป หมายความว่าคำสั่งแบนอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต หากราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับ คำสั่งแบนการส่งออกน้ำมันปาล์ม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากอินโดนีเซียประสบปัญหาน้ำมันปาล์มที่ใช้ในการประกอบอาหารมีราคาแพงขึ้นจากความต้องการน้ำมันปาล์มจากต่างชาติเพิ่มขึ้น หลังน้ำมันทานตะวันที่ผู้ส่งออกหลักคือ ยูเครน ขาดตลาด ซ้ำเติมด้วยปัญหาข้าวของทั่วไปราคาแพงขึ้นจากวิกฤตสงครามยูเครนรัสเซียที่ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานมีราคาสูงขึ้น นำมาสู่การประท้วงของประชาชน

แรงกดดันเหล่านี้ส่งผลให้ผู้นำอินโดนีเซียต้องประกาศใช้มาตรการดังกล่าว กักตุนน้ำมันปาล์มไว้ใช้เองในชาติ นโยบายนี้ได้รับเสียงตอบรับทางบวกจากประชาชน

รายงานจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ช่วงเวลาเกือบเดือนของนโยบายแบนการส่งออก ราคาน้ำมันปาล์มลงมาที่ 17,200 - 17,600 รูเปียห์ต่อลิตร หรือราวลิตรละ 40 บาท เทียบกับก่อนคำสั่งแบนการส่งออก ตอนนั้นราคาน้ำมันปาล์มขึ้นไปสูงถึงลิตรละ 19,800 รูเปียห์ หรือลิตรละ 48 - 50 บาท

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้โจโก วิโดโด เคยประกาศว่าจะไม่ยกเลิกคำสั่งจนกว่าราคาจะลงมาจนถึงลิตรละ 14,000 รูเปียห์ หรือราวลิตรละ 34 บาท แต่ที่ยกเลิกนโยบายทั้งที่ราคายังลงไม่ถึงตามที่ต้องการ ก็เนื่องจากเห็นใจผู้คนที่เดือดร้อน รวมถึงอีกเหตุผลหนึ่งคือ ขณะนี้อินโดนีเซียมีน้ำมันปาล์มเพียงพอใช้ในประเทศ
 

ย้อนไปก่อนคำสั่งแบนการส่งออก ช่วงเดือนมีนาคมปริมาณน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียอยู่ที่เพียง 64,500 ตันเท่านั้น ปริมาณที่เพียงพอสำหรับความต้องการอยู่ที่ราว 194,000 ตันต่อเดือน

หลังคำสั่งแบนบังคับใช้ ล่าสุดพบว่าปริมาณน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเป็น 211,000 ตัน บ่งชี้ว่านโยบายดังกล่าวใช้ได้ผล และนี่อาจเป็นแนวทางในอนาคต หากอินโดนีเซียเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มอีก

อย่างไรก็ตามนโยบายนี้มีผลกระทบตามมา เพราะการแบนส่งออก ทำให้อินโดนีเซียมีปาล์มน้ำมันล้นตลาด ก่อผลกระทบตามมา คือ ราคาผลปาล์มตก

ช่วงเดือนที่ผ่านมา บรรดาเกษตรกรพากันออกมาประท้วง ไม่พอใจต่อนโยบาย โดยพวกเขาระบุว่า ก่อนคำสั่งแบน รายได้ดีกว่านี้มาก นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจยกเลิกคำสั่งแบนการส่งออก

น้ำมันปาล์มคือ น้ามันที่ถูกใช้ในการบริโภคมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ขนม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และเครื่องสำอาง

ทั้งนี้แม้ราคาน้ำมันปาล์มจะลงมาแล้ว แต่บางจังหวัดยังคงแพง เช่น ที่จังหวัดปาปัวตะวันตกราคาน้ำมันปาล์มต่อลิตรยังอยู่ที่ลิตรละ 30,000 รูเปียห์

ในขณะที่อีกสองจังหวัดได้แก่ จังหวัดรีเยา และจังหวัดมาลูกู จากการสำรวจพบว่าน้ำมันปาล์มมีราคาถูกที่สุดอยู่ที่ลิตรละ 14,000 รูเปียห์

ทั้งนี้ราคาน้ำมันปาล์มที่ลดลงเป็นข่าวดี แต่ในภาพรวมสถานการณ์อาหารโลกยังน่ากังวล เพราะเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใญ่ประจำสหประชาชาติ ระบุว่า สงครามในยูเครนและองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิงจะยังคงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และอาจทำให้ในปีนี้มีคนมากถึง 10 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับความหิวโหยและภาวะขาดสารอาหาร

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ