อนามัยโลกเตือน “ฝีดาษลิง” อาจระบาดเป็นวงกว้าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กำลังถูกจับตาอยู่อย่างใกล้ชิดสำหรับการระบาดของฝีดาษลิง ตอนนี้มียืนยันการพบแล้วในทั้งหมด 17 ประเทศ เราควรกังวลเกี่ยวกับโรคนี้หรือไม่

ขณะนี้มีรายงานแล้ว 17 ประเทศ  ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา   และล่าสุด คือ อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย  กรีซ และนอร์เวย์

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยในแถลงการณ์ล่าสุดว่า จำนวนผู้ป่วยมีราว 100 รายในประเทศเหล่านี้โดยผู้ป่วยรายแรกที่พบอยู่ในสหราชอาณาจักร เป็นคนที่มีประวัติการเดินทางไปประเทศไนจีเรียเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ที่ปรึกษาอนามัยโลกคาด “ฝีดาษลิง” อาจระบาดหนักเพราะ “เพศสัมพันธ์”

WHO ยืนยัน 15 ประเทศพบผู้ป่วยติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” แล้ว

อังกฤษรายงานพบผู้ป่วยโรคหายาก “โรคฝีดาษลิง” คาดติดมาจากไนจีเรีย

ฝีดาษลิงหรือ Monkeypox virus เป็นเชื้อไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค Smallpox หรือไข้ทรพิษ (ฝีดาษ)

เป็นเชื้อที่ถูกพบตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 ส่วนใหญ่ระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่โรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขในช่วงนั้นเนื่องจากในขณะนั้นประชากรโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษหรือฝีดาษกัน

ปกติแล้วมักจะพบเชื้อไวรัสนี้ในสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ อย่าง หนู และกระรอก

ส่วนคนติดเชื้อได้จากการสัมผัสเลือด สารคัดหลัง และตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง รวมถึงการถูกกัดหรือกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อแบบไม่ปรุงสุก

ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อไปแล้วราว 12 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม ราว 1-3 วันจะมีผื่นขึ้น เริ่มจากใบหน้ากระจายไปตามร่างกาย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายหนองจะแตกและเป็นสะเก็ดหลุดออกมา

"โรคฝีดาษลิง" คืออะไร เผยอาการ วิธีการติดต่อ และการป้องกัน

นายกฯ แนะ สธ. ให้ความรู้ประชาชน"โรคฝีดาษลิง"เรียนรู้แต่ไม่ตื่นตระหนก

ไวรัสตัวนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง Central African Clade และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก West African Clade 2 ตัวนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องความรุนแรง โดยสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกหรือมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลาง

แล้วที่พบการระบาดในขณะนี้เป็นสายพันธุ์อะไรคำตอบส่วนหนึ่งอยู่ที่โปรตุเกส ซึ่งประเทศที่มีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษลิงมากที่สุดคือ 14 รายและอยู่ระหว่างการวินิจฉัยโรคอีก 20 ราย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทีมวิจัยได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อจากตัวอย่างที่เก็บมาจากแผลบนผิวหนังของผู้ป่วยรายหนึ่งพบว่า ไวรัสตัวที่ระบาดอยู่ตอนนี้คือ ตัวสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นตัวที่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยอัตราการตายของคนที่ติดสายพันธุ์นี้อยู่ที่ร้อยละ 1 ในขณะที่สายพันธุ์แอฟริกากลางอยู่ที่ร้อยละ 10

หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมอาการของผู้ติดเชื้อจึงไม่รุนแรงมาก โรคฝีดาษลิงติดต่อจากคนสู่คนได้ยาก โดยการติดต่อจะเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น การสัมผัสกับแผลติดเชื้อโดยตรง

สำหรับกรณีของโปรตุเกส คนที่ติดเชื้อมีอายุประมาณ 20-40 ปี โดยทีมวิจัยนี้เปิดเผยว่าจากการสอบสวนโรค ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน โดยเฉพาะชายกับชาย

ทีมวิจัยนี้จึงสรุปในเบื้องต้นว่า อัตราและแนวโน้มของการแพร่เชื้อนี้ไปสู่กลุ่มประชากรที่กว้างขวางจึงมีไม่สูง แต่ก็ไม่ควรประมาท และทางสาธารณสุขกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

โรคนี้หายไปนาน คำถามคือ ทำไมจึงกลับมาใหม่ ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ เนื่องจากประชากรโลกไม่มีการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษกันมานานแล้ว โดยสำหรับประเทศไทย เรายุติการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ( ราวๆปี 1980) ทั้งนี้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษสามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ถึงร้อยละ 85 เนื่องจากไวรัส 2 ตัวนี้มีความใกล้เคียงกัน

การเลิกฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ที่มีอยู่ลดลง จึงมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสตัวนี้จะกระโดดกลับมาที่ประชากรมนุษย์อีก

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งมาจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) เดวิด เฮย์แมนน์ ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในทางชีววิทยา เป็นไปได้ที่ไวรัสจะแพร่กระจายนอกประเทศที่เป็นถิ่นระบาด แต่ยังไม่เกิดการระบาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคม และการจำกัดการเดินทาง

ข้อสันนิษฐานนี้นำมาสู่การพูดถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษอีกครั้ง  โดยหนึ่งในคนที่พูดถึงเรื่องนี้คือ ผู้นำสหรัฐ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ระหว่างออกเดินทางจากประเทศเกาหลีใต้ไปญี่ปุ่น

วัคซีนไข้ทรพิษ ป้องกัน "ฝีดาษลิง" หมอไขข้อสงสัยมีฤทธิ์นานเท่าใด?

ข่าวปลอม อย่าหลงเชื่อ! ฉีดวัคซีนแอสตร้า เสี่ยงเป็น "โรคฝีดาษลิง"

ผู้นำสหรัฐบอกว่า ฝีดาษลิงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ และขณะนี้รัฐบาลสหรัฐกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เรื่องหนึ่งที่กำลังพิจารณาคือ จะต้องมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้หรือไม่

ทั้งนี้วัคซีนที่มีการพูดถึงเพื่อนำกลับมาฉีดในการป้องกันโรคฝีดาษลิงคือ วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษที่เลิกฉีดไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

การพูดถึงการฉีดวัคซีนคือสัญญานว่า มีความกังวลในระดับหนึ่งต่อโรคฝีดาษลิง ทำไมถึงต้องกังวล

ถึงแม้ว่าเชื้อที่มีการระบาดตอนนี้จะไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อต่ำ ต่างจากโควิด 19

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะการระบาดในคราวนี้มีความแปลกหรือผิดปกติอย่างหนึ่งคือ ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคที่เป็นแหล่งพบโรคอย่างแอฟริกาเลย

หนึ่งในนั้นคือ ผู้เชี่ยวชาญจากแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายงานการระบาด

หัวหน้าคณะทำงานด้านสาธารณสุข เทเรซา แทม ระบุว่า เป็นเรื่องที่แปลกมากที่มีการพบผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่นอกทวีปแอฟริกา  โดยคนเหล่านั้นไม่มีความเชื่อมโยงว่าหรือเคยเดินทางไปที่แอฟริกา

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกด้วยว่า ความผิดปกติอีกอย่างคือ ผู้ติดเชื้อกระจายตัวในที่ต่างๆ ค่อนข้างมาก และทีมงานของเธอกำลังพยายามหาความเชื่อมโยงกันของผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร โปรตุเกส สเปน และในสหรัฐฯว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่อย่างไร

เธอระบุด้วยว่า เราไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน จากมุมมองด้านสาธารณสุข สิ่งนี้จึงค่อนข้างน่ากังวล อย่างไรก็ตาม เรายังไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก เพราะแนวโน้มการแพร่เข้าสู่ประชากรทั่วไปค่อนข้างต่ำ

นั่นหมายความว่ายังมีอีกบางเรื่องที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้ถึงแม้จะเป็นโรคเก่าที่เคยระบาดไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นจากผู้เชี่ยวชาญของประเทศที่พบการระบาด หรือจากองค์การอนามัยโลก นั่นก็คือ การติดเชื้อไม่ง่าย เพราะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดหรือผ่านสารคัดหลั่ง

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในขณะนี้ ติดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยหลายเคสตรวจพบคลินิกสุขภาพทางเพศ

ขณะที่สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรหรือ UKHSA และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า มีข้อบ่งชี้ว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ระบุว่า ตนเองเป็นเกย์ ไบเซกชวล และผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

WHO ย้ำควบคุม “ฝีดาษลิง” ได้ ขณะที่เจอผู้ป่วยเพิ่มอีก 3 ประเทศ

สธ.สั่งเพิ่มด่านคัดกรอง“ฝีดาษลิง”ที่สนามบิน โดยเฉพาะ 17 ประเทศเสี่ยง

ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ของสหรัฐในการควบคุมโรคคือ การกันตัวผู้ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และการใช้วัคซีนเพื่อกันไม่ให้มีการระบาดใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อว่าสามารถคุมการระบาดได้

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง โดย WHO กำลังจัดทำคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับประเทศต่างๆ เกี่ยวกับการควบคุมการระบาดท่ามกลางความกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน

ขณะที่เมื่อวานนี้มีการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกประจำปีขององค์การอนามัยโลกที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขกว่า 100 ประเทศเข้าร่วม

ผู้อำนวยการใหญ่อนามัยโลก มีการพูดถึงเรื่องโรคฝีดาษลิงโดยเขาระบุว่า ขณะนี้หลายประเทศยังต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจัดการและรับมือกับโควิด 19 ที่ยังคงวิกฤต นอกจากโควิดแล้ว เรายังเจอกับการกลับมาระบาดของอีโบลา ตับอักเสบและฝีดาษลิงที่ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ