สุดแปลก! “หอยทากสวมเกราะเหล็ก” เอาชีวิตรอดในอุณหภูมิ 300 องศาฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รู้จักสิ่งมีชีวิตสุดแปลก “หอยทากภูเขาไฟ” เมื่อหอยทากสวมเกราะเหล็ก เอาชีวิตรอดในอุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียสใต้ทะเลลึก

หากพูดถึง “หอยทากสีทอง บริเวณเท้าหุ้มด้วยเกล็ดแข็งเหมือนเหล็ก จนดูแล้วคล้ายกับหอยทากที่กำลังสวมชุดเกราะ” มันคงเป็นเหมือนคำบรรยายที่หลุดออกมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์หรือแฟนตาซี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ลึกใต้มหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ มีหอยทากลักษณะสุดแปลกเช่นนี้อยู่จริง ๆ

จูเลีย ซิกวาร์ต นักชีววิทยาจากสถาบันวิจัยเซนก์เคนแบร์ก ในแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี คนไม่กี่คนบนโลกที่เคยพบเห็นหอยทากเกราะเหล็กดังกล่าวแบบเป็น ๆ บอกว่า “มันดูเหมือนอัศวินหุ้มเกราะกำลังคลานไปมาบนพื้นทะเลลึก”

ภาวะโลกร้อน ทำให้ลูกเต่าทะเลในฟลอริดาฟักออกมาเป็นตัวเมียทุกตัว 4 ปีติด

บางส่วนของแนวปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ฟื้นตัวมากสุดในรอบ 36 ปี

“โลกร้อน” เปิดทางแมงกะพรุนยึดทะเลอิสราเอล

หอยทากดังกล่าวนี้ มีชื่อจริง ๆ ว่า “หอยทากเท้าเกล็ด (Chrysomallon squamiferum) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “ลิ่นทะเล” และ “หอยทากภูเขาไฟ”

ซึ่งสาเหตุที่ได้ชื่อสุดท้ายมานี้ ก็เพราะที่อยู่อาศัยของหอยทากชนิดนี้ “สุดขั้ว” มาก พวกมันอาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรลึกหลายเมตร บนปล่องน้ำร้อนใต้สมุทร (Hydrothermal Vent) หรือรอยแยกในเปลือกโลกที่เป็นช่องทางให้สารละลายน้ำร้อน (Hydrothermal Solution) จากใต้ผิวโลกไหลออกมา ซึ่งบริเวณดังกล่าวมักถูกอาบด้วยสารเคมีที่เป็นพิษ และสามารถมีอุณหภูมิได้มากกว่า 300 องศาเซลเซียส

แต่หอยทากภูเขาไฟนี้แม้จะสวมเกราะเหล็ก มันก็ยังคงดูบอบบางอยู่ดี และชวนสงสัยว่า ที่ปล่องน้ำร้อนใต้สมุทรซึ่งลึกและร้อนระอุขนาดนั้น มันกินอะไรเป็นอาหาร?

ร่างกายของหอยทากภูเขาไฟมีแบคทีเรียที่เติบโตภายในถุงพิเศษในลำคอ ซึ่งเปลี่ยนสารเคมีอันตรายที่ไหลออกจากปล่องน้ำร้อนให้เป็นพลังงาน หรือก็คือ “อาหาร” ของหอยทากชนิดนี้

หอยทากภูเขาไฟยังพัฒนาเหงือกขนาดมหึมาเพื่อดูดซับออกซิเจนและสารเคมีจากน้ำทะเล จากนั้นจึงส่งผ่านไปยังกระแสเลือดและหัวใจที่มีความจุมหาศาล

ในปี 2019 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เกล็ดที่เท้าของหอยทากภูเขาไฟไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันการโจมตีจากสัตว์นักล่า แต่เพื่อป้องกันพิษในร่างกายของตัวเองที่ถูกขับออกมา เพราะแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในลำคอของหอยทากจะปล่อยของเสียของมาเป็นซัลเฟอร์หรือกำมะถัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อหอยทาก (และเป็นสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของยาฆ่าหอยทาก) เกล็ดที่เท้าจึงมีเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวมันไปสัมผัสถูกซัลเฟอร์ที่ขับออกมานั่นเอง

เกล็ดของมันยังไม่ใช่แค่เกราะป้องกันซัลเฟอร์เท่านั้น แต่โครงสร้างภายในยังทำหน้าที่เป็นท่อขนาดเล็ก คอยดึงกำมะถันที่เป็นอันตรายให้ออกห่างจากเนื้อเยื่อของหอยทาก และสะสมเป็นสารประกอบธาตุเหล็กที่ไม่เป็นอันตรายอยู่ด้านนอก

สำหรับซิกวาร์ต หอยทากที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้แสดงให้เห็นได้อย่างยอดเยี่ยมว่า การวิวัฒนาการเป็นอย่างไร “มันแสดงให้เราเห็นเส้นทางที่แปลกและประหลาดที่ชีวิตสามารถใช้เพื่อปรับตัวและเอาชีวิตรอด” เธอกล่าว

ในชีวิตของพวกมันที่วิวัฒนาการกันไปมากขนาดนี้เพื่อเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อม เราอาจจะคิดว่า พวกมันน่าจะมีชีวิตรอดต่อไปได้ในแบบของพวกมัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขณะนี้หอยทากภูเขาไฟถูกจัดให้เป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์” ซึ่งสาเหตุก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่มาจากมนุษย์นี่เอง

พื้นที่อาศัยของหอยทากภูเขา เป็นหนึ่งในเป้าหมายของอุตสาหกรรมทำเหมืองทะเลลึก บริษัทเหมืองแร่หลายแห่งกำลังตามหาทองคำ เงิน และโลหะมีค่าหรือหายากอื่น ๆ ที่สะสมอยู่ในชั้นหินใต้ทะเลลึก

หากที่อยู่อาศัยเล็ก ๆ ของพวกมันได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย หอยทากภูเขาไฟก็จะหายไปในไม่ช้า

หอยทากภูเขาไฟเป็นสัตว์สายพันธุ์แรกในโลกที่ถูกระบุว่า “ถูกคุกคามเนื่องจากการขุดเหมืองในทะเลลึก” แต่ตอนนี้มีหอยทะเลน้ำลึกจำนวนมากที่ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินและเพิ่มในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก

จาก 184 สปีชีส์ที่อาศัยอยู่ตามปล่องใต้น้ำ มีเพียง 25 ชนิดเท่านั้นที่ไม่ถือว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ซิกวาร์ตบอกว่า หอยทากภูเขาไฟยังคงค่อนข้างปลอดภัย เพราะพวกมันอาศัยอยู่บริเวณซึ่งมีการห้ามอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการขุดเหมืองในทะเลลึกในอนาคต ซึ่งรวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำของแคนาดาและรอบ ๆ อะซอเรส

แต่สปีชีส์อื่น ๆ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนปล่องน้ำร้อนใต้ทะเลในเขตทะเลหลวง ซึ่งอยู่นอกเขตคุ้มครอง จึงได้รับการคุ้มครองน้อยกว่า และง่ายต่อการทำเหมืองแร่มากกว่า

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก IUCN

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ