“5 พันล้านคน” ทั่วโลกจะเสียชีวิต หากเกิดสงครามนิวเคลียร์สหรัฐฯ-รัสเซีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิจัยคาดการณ์ หากเกิดสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย จะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 พันล้านคนทั่วโลก

ความตึงเครียดระหว่างขั้วมหาอำนาจของโลก ทั้งสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย ที่กำลังคุกรุ่นมากขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ที่ส่อเค้าว่าอาจเป็นชนวนนำไปสู่อะไรที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัวกว่านั้น

แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง “สงครามนิวเคลียร์” หรือการสู้รบที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าห้ำหั่นกันอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้เราจะมีบทเรียนจากในอดีตครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ใครจะกล้ายืนยันได้ว่า ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย

จะเกิดอะไรขึ้น? หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียของยูเครนระเบิด

รัสเซียรับมอบ “เรือดำน้ำยาวที่สุดในโลก” รองรับตอร์ปิโดนิวเคลียร์

ส่องงบ 9 ประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ทุ่มมากสุด 1.5 ล้านล้านบาท

อาวุธนิวเคลียร์แม้จะมีสถานะเป็นเหมือนอาวุธต้องห้าม แต่ในความเป็นจริง หลายชาติในโลกยังคงทุ่มงบพัฒนาหัวรบและเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง และในทางปฏิบัติ หากใครคิดจะยิงอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาจริง ๆ การจะไปห้ามคงไม่ง่ายเหมือนบอกคนที่กำลังถือมีดหรือปืนพก

เมื่อความกังวลเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มพยายามศึกษาคาดการณ์ผลกระทบของนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่ออย่างน้อยก็หวังที่จะ “ดึงสติ” บรรดามหาอำนาจ ให้คิดถึงผลที่จะตามมาให้ดีก่อนตัดสินใจใช้อาวุธมหาประลัย

ในปี 2019 โครงการวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยของโลก (SGS) ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐฯ ได้พัฒนาแบบจำลองสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยพิจารณาตำแหน่ง เป้าหมาย และการประมาณการผู้เสียชีวิตอย่างสมจริงที่สุด

ในสถานการณ์จำลอง พวกเขาพบว่า ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้น จะมีผู้เสียชีวิตทันทีอย่างน้อย 34 ล้านคน และบาดเจ็บอีกกว่า 57 ล้านคน หลัก ๆ ความสูญเสียจะเกิดขึ้นในยุโรปและรัสเซียก่อน เพราะในยุโรปมีฐานทัพของนาโต (NATO) ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายการโจมตีหลักของรัสเซียอยู่

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาว มีผลการวิจัยประเมินว่า ผู้เสียชีวิตทั่วโลกอาจมากถึง “5 พันล้านคน” หรือ 75% ของประชากรทั้งโลก จากความอดอยาก ความหิวโหย และผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี

งานวิจัยของ ลี่ลี่ เซี่ย นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์จะทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และพ่นเขม่าสู่ชั้นบรรยากาศ เขม่าเหล่านั้นจะปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องลงมาบนพื้นผิวโลก ส่งผลกระทบต่อการการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ลี่ลี่กล่าวว่า “ผู้คนจำนวนมากจะอดอยากหิวโหย มันจะแย่มาก ๆ ... แสงสว่างที่ลดลง จะทำให้โลกเย็นลง และแนวโน้มจะเกิดข้อจำกัดทางการค้าหลังสงครามนิวเคลียร์ จะเป็นหายนะระดับโลกสำหรับความมั่นคงด้านอาหาร”

ผลการศึกษาระบุว่า การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ที่ผลิตเขม่ามากกว่า 5 เทรากรัม (5 ล้านล้านกรัม) คาดการณ์ว่าจะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารจำนวนมากในเกือบทุกประเทศ

ผลการศึกษายังประมาณการว่า หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน จำนวนผู้เสียชีวิตจากความอดอยากอาจอยู่ที่ 2.5 พันล้านคนภายใน 2 ปี แต่หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย การเสียชีวิตจากความอดอยากอาจสูงถึง 5 พันล้านคน

อลัน โรบ็อก ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส อีกหนึ่งนักวิจัยในการศึกษานี้ กล่าวว่า “ข้อมูลบอกเราอย่างหนึ่ง เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์”

เขาเสริมว่า “ตราบใดที่โลกยังมีอาวุธนิวเคลียร์ มันก็สามารถถูกนำมาใช้ได้ทุกเมื่อ และโลกก็เข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์หลายครั้งแล้ว ... การแบนอาวุธนิวเคลียร์เป็นทางแก้ปัญหาในระยะยาวเพียงทางเดียว”

รายงานจากกลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ (ICAN) ระบุว่า ในปี 2021 มี 9 ประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์มากกว่า 12,000 ลูก และมีสถานะเป็นประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ โดยทั้ง 9 ประเทศนี้ยังคงทุ่มงบในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง

โดยผู้ที่ใช้งบประมาณด้านอาวุธนิวเคลียร์สุงที่สุด คือ สหรัฐฯ คือราว 1.5 ล้านล้านบาท รองลงมาคือจีน 4.1 แสนล้านบาท ส่วนรัสเซียอยู่ในอันดับ 3 ใช้งบไป 3 แสนล้านบาท

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) เตือนว่า ในอนาคตอันใกล้ 9 ประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์จะเพิ่มหรืออัปเกรดคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นไปอีก และความเสี่ยงของการนำอาวุธดังกล่าวไปใช้จะสูงขึ้นอย่างมาก

ความตึงเครียดด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินอยู่ต่อเนื่องจะเข้าเดือนที่ 6 แล้ว

 

เรียบเรียงจาก SGS / USA Today

อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม

ภาพจาก AFP

ตรวจสลากออมสินพิเศษ 1 ปี และสลากออมสินพิเศษดิจิทัล 1 ปี งวดวันที่ 16 สิงหาคม 2565

ตรวจหวย - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ลอตเตอรี่ 16/8/65

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ