ผู้แทนพิเศษUN จี้ รบ.ทหารเมียนมา ปล่อยนักโทษการเมือง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โนลีน เฮย์เซอร์’ ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติด้านเมียนมาเข้าพบพลเอกอาวุโส ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวานนี้ระหว่างการเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรก โดยได้เรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาหยุดการลงโทษประหารชีวิต รวมถึงปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดที่ถูกคุมขัง เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลเมียนมาเผยภาพของ ‘โนลีน เฮย์เซอร์’ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านเมียนมาขณะเข้าพบพลเอกอาวุโส ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาในกรุงเนปิดอว์เมื่อวานนี้

สื่อเมียนมาไม่ได้เผยรายละเอียดการหารือ แต่เฮย์เซอร์ได้ระบุในแถลงการณ์ที่ออกโดยสหประชาชาติว่า การเยือนเมียนมาของเธอมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารความกังวลของสหประชาชาติ และเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการลดความขัดแย้งและความทุกข์ยากของประชาชนชาวเมียนมา

อาเซียนประณามเมียนมา ประหารนักเคลื่อนไหว

เมียนมาประหารชีวิต อดีต ส.ส.-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว

พร้อมย้ำว่า การพบกับผู้นำรัฐบาลทหารครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า สหประชาชาติรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร

โดยผู้แทนพิเศษสหประชาชาติยังกดดันให้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย หยุดการลงโทษประหารชีวิตทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดด้วย

การเยือนเมียนมาของโนลีน เฮย์เซอร์ มีขึ้นในขณะที่ความปั่นป่วนทางการเมืองและความขัดแย้งในเมียนมายังไม่มีท่าทียุติ เนื่องจากรัฐบาลทหารเพิ่งลงโทษประหารชีวิตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 4 คน รวมถึงเพิ่มโทษจำคุก ‘อองซาน ซูจี’ ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกองทัพยึดอำนาจและควบคุมตัวเอาไว้

โดยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร อองซาน ซูจี ซึ่งมีสถานะเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมียนมาได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 18 คดี และหากถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมดเธอจะต้องถูกจำคุกเกือบ 190 ปี  นอกจากนี้ ศาลเมียนมายังได้ตัดสินลงโทษจำคุกนักโทษการเมืองอีกหลายคนอีกด้วย

โนลีน เฮย์เซอร์ ยังได้เรียกร้องขอเข้าพบกับนางอองซาน ซูจี ในเร็วๆ นี้ โดยระบุว่าซูจีเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนสำคัญ ซึ่งผู้แทนพิเศษยูเอ็นต้องการเจรจากับทุกฝ่าย

แต่ ‘ซอ มิน ตุน’ โฆษกรัฐบาลทหารระบุว่า รัฐบาลทหารจะไม่อนุญาตให้ใครก็ตามเข้าพบกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งก็สะท้อนว่าโอกาสที่เฮย์เซอร์จะได้เข้าพบกับอองซาน ซูจี นั้นเป็นไปได้ยาก โดยที่ผ่านมาผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมาก็ไม่สามารถเข้าพบอองซาน ซูจี ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าในระหว่างที่เฮย์เซอร์เข้าพบมิน อ่อง หล่าย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมาก็ได้กล่าวกับผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่า สหประชาชาติก็ควรทบทวนท่าทีของตัวเองในการสร้างความร่วมมือกับเมียนมาด้วย

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่โนลีน เฮย์เซอร์ เดินทางเยือนเมียนมานับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านเมียนมาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แทนที่ ‘คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์’ (Christine Schraner Burgener) นักการทูตสวิสเซอร์แลนด์ที่มีจุดยืนค่อนข้างแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายแห่งบอกว่าไม่คาดหวังมากนักว่า การเยือนของเฮย์เซอร์ครั้งนี้จะทำให้กองทัพเมียนมายุติการปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือด หรือเข้าร่วมการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

สถานการณ์ในเมียนมาปั่นป่วนนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยกองทัพอ้างเหตุผลการยึดอำนาจว่าเป็นเพราะมีการโกงเลือกตั้งขนานใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี  2020 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ของอองซาน ซูจี คว้าชัยชนะถล่มทลาย แม้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งอิสระจะบอกว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการโกงขนานใหญ่เกิดขึ้นตามคำกล่าวอ้างของกองทัพก็ตาม

กลุ่มจับตาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารประชาชนไปแล้วกว่า 2,200 คน และมีอีกกว่า 15,000 คน ที่ถูกจับกุมคุมขัง

ทั้งนี้ มีความพยายามจากสหประชาชาติและอาเซียนในการใช้วิธีการทูตแก้วิกฤตเมียนมา แต่ก็มีความก้าวหน้าน้อยมาก เมื่อรัฐบาลทหารไม่ยอมเจรจากับฝ่ายตรงข้าม

ขณะเดียวกัน การประหารชีวิตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 4 คน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหลังการไต่สวนลับ ก็ทำให้เกิดเสียงประณามจากนานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีแถลงการณ์แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงจากอาเซียน 

การเดินหน้าใช้โทษเด็ดขาดกับฝ่ายตรงข้ามยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมทำตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อยุติความรุนแรงที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้เห็นชอบไว้กับอาเซียน

ล่าสุด รัฐบาลทหารเมียนมายังแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของอาเซียนที่ได้ห้ามนายพลของกองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาค  และเมื่อเดือนที่แล้วก็มีชาติสมาชิกอาเซียนบางส่วนบอกว่า อาจต้องทบทวนบทบาทข้างหน้าใหม่ หากรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมเดินหน้าตามแผนสันติภาพ

โดยโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า หากมีชาติสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ก็ไม่ควรเรียกว่านี่เป็นการประชุมอาเซียนอีกต่อไป

ทั้งยังบอกว่าอาเซียนมีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกมายาวนาน แต่หลักการเหล่านั้นก็สั่นคลอนจากการแทรกแซงจากภายนอกและแรงกดดันของบางชาติสมาชิก แต่ก็ไม่ยอมอธิบายให้ละเอียดว่าการแทรกแซงจากภายนอกหมายถึงใคร

แต่ย้ำว่าการกีดกันเมียนมาออกจากการประชุมนัดสำคัญจะกระทบต่อภารกิจของประชาคมอาเซียนอย่างแน่นอน

โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมายังระบุว่า ที่อาเซียนต้องการให้เจรจากับฝ่ายตรงข้าม ก็เท่ากับเรียกร้องให้เจรจากับ “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งนี่เป็นคำที่รัฐบาลทหารเมียนมาใช้แปะป้ายฝ่ายที่เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย

นอกจากความปั่นป่วนทางการเมืองแล้ว เมียนมายังเจอวิกฤตน้ำมันราคาพุ่งไปถึง 350% นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร

รวมถึงยังเจอปัญหาไฟดับที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้รัฐบาลทหารต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า

แน่นอนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลทหารเมียนมาถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก การหันไปพึ่งพามหาอำนาจขั้วตรงอย่างเช่นรัสเซียจึงยิ่งสำคัญ

โดยเมียนมายังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ซึ่งก็ถูกคว่ำบาตรหนักจากชาติตะวันตกเช่นกันจากการรุกรานยูเครน

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ‘เซอร์เก ลาฟรอฟ’ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียก็เพิ่งเยือนเมียนมาและเข้าพบมิน อ่อง หล่าย ด้วย

ล่าสุด โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า เมียนมาได้รับการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย การขนส่งน้ำมันดิบจะมาถึงในเดือนกันยายนนี้ พร้อมให้เหตุผลการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียว่าเป็นเพราะราคาถูกและมีคุณภาพ

โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมายังบอกว่า มิน อ่อง หล่าย ได้หารือเรื่องน้ำมันและก๊าซระหว่างที่เยือนรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเมียนมาจะพิจารณาเรื่องการสำรวจน้ำมันในประเทศร่วมกับรัสเซียและจีนด้วย

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นในขณะที่รัสเซียเองก็ต้องการหาลูกค้าพลังงานรายใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน เนื่องจากยุโรปซึ่งเป็นปลายทางส่งออกที่ใหญ่ที่สุดจะทยอยห้ามการนำเข้าน้ำมันรัสเซียในปีนี้เป็นการตอบโต้ที่รัสเซียก่อสงครามในยูเครน ขณะเดียวกัน รัสเซียยังเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ให้กับกองทัพเมียนมาด้วย

อีกปัญหาในเมียนมาที่ยังไม่ถูกแก้ไขและทำให้สถานการณ์ซับซ้อนก็คือ สถานะของชาวโรฮิงญา

ปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาที่ปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 ทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนต้องหนีตายไปยังบังกลาเทศ ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่านายกรัฐมนตรีบังกลาเทศยืนยันว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาต้องกลับไปเมียนมาเพราะพวกเขาเป็นประชากรของเมียนมา

แต่ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่กำลังเยือนบังกลาเทศก็ยืนยันว่า สถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ยังไม่ปลอดภัยมากพอจะให้ชาวโรฮิงญากลับไปได้

 ‘มิเชล บาเชเลต์’ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยืนยันว่า หากจะให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับไปเมียนมาต้องเกิดจากความสมัครใจ และสถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ยังไม่ปลอดภัยพอที่จะให้พวกเขากลับไปได้

นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเปิดปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่เมื่อปี 2017 โดยอ้างว่าตอบโต้การโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงโดยกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่มีแนวคิดสุดโต่งก็ทำให้มีชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน ลี้ภัยมายังบังกลาเทศ โดยอาศัยอยู่ในค่ายที่ทั้งแออัดและขาดสุขอนามัยสถานการณ์การเมืองในเมียนมาที่เลวร้ายลงหลังรัฐประหาร ยิ่งทำให้โอกาสที่ชาวโรฮิงญาจะได้กลับไปเมียนมาและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยยิ่งริบหรี่ เนื่องจากกองทัพที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรงปราบปรามกุมอำนาจสูงสุดอยู่ในตอนนี้

ส่วนในบังกลาเทศ หลังผ่านมาเกือบ 5 ปีที่ต้องรองรับผู้ลี้ภัย ความอดทนอดกลั้นต่อการมีประชากรผู้ลี้ภัยเกือบ 1 ล้านคนอยู่ในประเทศยิ่งลดลง วาทกรรมสร้างความเกลียดชังต่อผู้ลี้ภัยโรฮิงญามีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติบอกว่ากังวลอย่างยิ่ง

โดยนอกจากต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ในค่ายที่แออัดแล้ว ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศยังเสี่ยงตกเป็นเป้าความรุนแรงด้วย

รายงานระบุว่าในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่บังกลาเทศมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งการสังหาร ลักพาตัว และการไล่ล่าของตำรวจที่พุ่งเป้าจับเครือข่ายค้ายาเสพติด

เมื่อช่วงต้นเดือน ผู้นำชุมชนโรฮิงญา 2 คนเพิ่งถูกสังหารโดยสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในค่าย  บาเชเลต์บอกว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาคนอื่นๆ ในค่าย

และในขณะที่สถานการณ์ในค่ายที่บังกลาเทศย่ำแย่ลง ส่วนในเมียนมาก็ยังไม่ปลอดภัยพอที่จะกลับไป ทางการบังกลาเทศยังบอกว่าเมียนมาเตะถ่วงไม่เดินหน้ากระบวนการนำชาวโรฮิงญากลับประเทศตามที่สัญญาไว้

ภายใต้ความปั่นป่วนทั้งหมดนี้ อนาคตของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนในบังกลาเทศจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ