"สารให้ความหวาน" ให้อะไรมากกว่าแทนน้ำตาล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หากใครชอบดื่มน้ำอัดลมแต่ก็อยากเลี่ยงความหวาน สูตรไม่มีน้ำตาล หรือ สูตร Zero ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเครื่องดื่มชนิดอื่นอย่าง ชาเขียว น้ำผลไม้ แต่ปัจจุบันมีการปรับสูตรโดยใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หนึ่งในนั้น คือ “หญ้าหวาน” เลยนำข้อมูลมาบอกต่อกันว่า “หญ้าหวาน” แท้จริงนั้นมีตคุณสมบัติอย่างไรทำไมถึงแทนน้ำตาลได้

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปัจจุบันที่ปลอดภัย มีให้เลือกใช้ในท้องตลาดหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็ มีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกันไป ส่วน  หญ้าหวาน หรือ สตีวิโอไซด์ เป็นสารที่ให้รสหวานแทนน้ำตาล สกัดได้จากต้นหญ้าหวาน ชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni ลักษณะเป็นผลึกสีขาว ดูดความชื่นได้ดี ใบหญ้าหวานนั้นมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า ส่วนสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานที่มีชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า

"เก็บภาษีความหวาน" รอบสองเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ - 30 ก.ย.64

เป๊บซี่ขึ้นราคาน้ำอัดลม 3 ขนาด เซ่นภาษีความหวาน

หญ้าหวานมีข้อดีที่เหนือกว่าน้ำตาลหลายอย่าง เช่น ไม่ทำให้อาหารเกิดสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูงๆ ไม่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์เพราะฉะนั้น เมื่อใช้กับอาหารจึงไม่ทำให้เกิดบูดเน่า และประการสำคัญที่สุดคือ ไม่ถูกดูดซึมในระบบการย่อย ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้พลังงานต่ำ ประมาณร้อยละ 0 - 3 แคลลอรี่ จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสารให้ความหวานกับอาหารสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ

และด้วยคุณภาพที่ทนต่อความร้อนและกรด จึงนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างแพร่หลาย เช่น ทำหมากฝรั่ง ลูกกวาด เครื่องดื่ม ไอศกรีม แยมเยลลี่ มาร์มาเลด ไม่เพียงแต่ใช้กับอาหารเท่านั้น ยังได้นำสตีวิโอไซด์ไปใช้แทนน้ำตาลในการผลิตยาสีฟันและผสมในบุหรี่อีกด้วย จากการศึกษาถึงความปลอดภัยของสตีวิโอไซด์ที่ทำกันมาเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่ามีแนวโน้มทางด้านความปลอดภัยได้ดีพอสมควร

สั่งชานมไข่มุกอย่างไร ลดการทำลายสุขภาพ

ความนิยมหญ้าหวานมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่น นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ.2518 ปลูกกันมากในภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน เพราะชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และจะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร

โดย องค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization ระบุว่า หญ้าชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และต่อมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐ ฯ (FDA) ประกาศว่า หญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย และให้การยอมรับว่าเป็น GRAS (Generally Recognized As Safe) คือ สามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย

สำหรับฤทธิ์ในการออกรสหวานของสารสตีวิโอไซด์จะไม่เหมือนกับน้ำตาล เพราะจะออกรสหวานช้ากว่าน้ำตาลทรายเล็กน้อย และรสหวานของสารสตีวิโอไซด์จะจางหายไปช้ากว่าน้ำตาลทราย นอกจากนี้ สารดังกล่าวยังเป็นสารที่ไม่มีคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด เพราะมีแคลลอรีต่ำมากหรือไม่มีเลย และจะไม่ถูกย่อยให้เกิดเป็นพลังงานกับร่างกาย แต่จากข้อด้อยตรงนี้เองก็ถือเป็นจุดเด่นที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน และโรคหัวใจ

นอกจาก หญ้าหวาน แล้วยังมี สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิมยมใช้ในปัจจุบัน เช่น แอสปาเทม ถือเป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทรายมากที่สุด “ให้ความหวานประมาณ 200-300 เท่าของน้ำตาลทรายในปริมาณเดียวกัน” แต่มีข้อเสีย คือ สลายตัวในอุณหภูมิที่สูง จึงมักเห็นคำแนะนำไม่ให้ใช้ในอาหารขณะที่กำลังปรุงบนเตา เพราะอุณหภูมิสูงทำให้แอสปาเทม สลายตัว รสชาติของอาหารก็จะเปลี่ยนไปจากที่ปรุงตอนแรก

ซัคคาริน มีความหวานเป็น 300 - 400 เท่าของน้ำตาลซูโครส หากรับประทานซัคคารินในขนาด 5 - 25 กรัมต่อวันเป็นเวลาหลายๆ วัน หรือรับประทานครั้งเดียว 100 กรัม จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง ซึมและชักได้ บางคนอาจแพ้ซัคคารินได้แม้กินในจำนวนน้อยอาการแพ้จะมีอาเจียน ท้องเดินและผิวหนังเป็นผื่นแดง “อาหารที่นิยมใส่ซัคคาริน ได้แก่ ผลไม้ดองและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ไอศกรีม และขนมหวานต่างๆ”

แต่ถึงแม้ว่าสารให้ความหวานเหล่านี้จะสามารถทดแทนความหวานจากน้ำตาลได้ และดูจะปลอดภัยสุขภาพมากขึ้น แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะ “ติดหวาน” ถ้าบริโภคมากเกินไป โดย กรมอนามัย ระบุว่า

นักวิทยาศาสตร์ ชี้ ดื่มน้ำหวาน เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็ง

สารให้ความหวานเหล่านี้จะกระตุ้นกลไกการทำงานของสมองให้รับรู้ถึงความหวาน ส่งผลให้ร่างกายโหยหาน้ำตาลมากขึ้น เกิดการติดรสหวาน ต้องการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มรสหวานบ่อยขึ้น ร่างกายหิวง่ายขึ้นและกินมากกว่าปกติร้อยละ 30  ซึ่งจะเป็นการกินไปแบบไม่รู้ตัว จึงควรกินหวานให้น้อยลงหรือสั่งหวานน้อยเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อสร้างความเคยชินในการรับรสของตนเองและกลายเป็นคนไม่ติดหวาน

ส่วนการดื่มน้ำอัดลมสูตรที่ใส่น้ำตาลเทียม ร่วมกับอาหาร จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดขึ้นสูงกว่าการกินอาหารกับน้ำเปล่า แม้น้ำตาลเทียมจะไม่ใช่น้ำตาล แต่ก็กระตุ้นการตอบสนองของอินซูลินในร่างกาย อีกทั้งการใช้น้ำตาลเทียมยังทำหน้าที่หลอกลิ้นว่าหวาน แต่สมองที่ต้องการน้ำตาลจริงไม่ได้รับความหวานตามที่ต้องการ ก็เกิดการกระตุ้นทำให้อยากกินน้ำตาลมากๆ เพื่อให้หาย อยากในภายหลังซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อ้วน

สั่งชานมไข่มุกอย่างไร ลดการทำลายสุขภาพ

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

เว็บไซต์ medthai.com

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ