ธนาคารโลกรายงาน การศึกษาไทยถดถอยสวนทางค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านการศึกษา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อนักเรียน 1 คนในประเทศไทยตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 สูงถึง 27,271 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 800,000 บาท) แต่ทักษะความรู้นักเรียนไทยกลับถดถอย

รมว.ศึกษาธิการ ชี้ เด็กถูกทำร้ายใน รร.เกิดขึ้นมานาน เหตุไม่เข้มงวดกฎระเบียบ

คุรุสภา รับ ตรวจสอบใบวิชาชีพครูไทย-ต่างชาติไม่ทั่วถึง เหตุมีโรงเรียนจำนวนมาก

ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ แสดงประสิทธิภาพการอ่านของนักเรียนไทยที่ลดลง รวมถึงคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ย่ำแย่ ซึ่งเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรและการลงทุนในโรงเรียนไทยที่ไร้ประสิทธิภาพ

โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติปี 2018 หรือ PISA ประเมินทักษะและความรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติ ภูมิหลังที่บ้าน ประสบการณ์การเรียนรู้ และบริบทของโรงเรียน

ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมิน PISA ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จาก 79 ประเทศที่เข้าร่วม ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 68 ด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ในวิชาคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ในวิชาวิทยาศาสตร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) นำหน้าเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ด้อยกว่าประเทศที่เหลือทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน นักเรียนประมาณร้อยละ 60 ความสามารถในการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 53 ความรู้พื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์ และร้อยละ 44 ความรู้พื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์

นอกจากนี้ นักเรียนในประเทศไทยยังมีอัตราการขาดนักเรียนสูงขึ้น และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และประเทศในภูมิภาค EAP

รายงานเรื่อง “การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบรวมในโรงเรียนเพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศไทย” พบว่า การลงทุนด้านการเงิน ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในโรงเรียนไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส โรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งจากรัฐบาล และโรงเรียนในชนบท

รายงานพบว่า ปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการประเมิน PISA ของประเทศไทย ได้แก่

ประการแรก ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อนักเรียน 1 คนในประเทศไทยตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 สูงถึง 27,271 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 800,000 บาท)

ประการที่สอง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายต่อนักเรียน 1 คนในระดับเดียวกัน ประสิทธิภาพของประเทศไทยต่ำกว่าที่คาดไว้ เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในการจัดสรรทรัพยากรให้ครูและทรัพยากรทางการศึกษาอื่น ๆ

ความไม่เสมอภาคกันระหว่างโรงเรียนไทยมีสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยมีปัจจัยจาก คุณภาพการสอนของครู การขาดงานของนักเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้ชายและนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางสังคม และการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน

ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันนี้เด่นชัดขึ้น เบอร์กิต ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “วิกฤตการณ์โควิด -19 ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ... เยาวชนที่ด้อยโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด โรงเรียนทุกแห่งควรมีทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้และประสบความสำเร็จ”

ช่องว่างกว้างในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลระหว่างโรงเรียนในชนบทและในเมือง และระหว่างรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนที่ ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในการศึกษาแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนเป็นเวลานานซึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19 เพราะในขณะที่นักเรียนที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวยเกือบร้อยละ 90 มีคอมพิวเตอร์ประจำบ้านและเกือบทั้งหมดมีอินเทอร์เน็ต ขณะที่ในกลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน และร้อยละ 61 มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน

ธนาคารโลกยังแนะนำประเด็นสำคัญ 3 ประการที่ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษาสามารถแก้ไขเพื่อปรับปรุงผลการเรียนรู้ของนักเรียน:

  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่า “ทุกห้องเรียน” มีบุคลากรที่เพียงพอ พร้อมด้วยครูที่มีคุณสมบัติและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และทรัพยากรเพื่อยกระดับผลการเรียนรู้ของนักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่มีความต้องการสูง
  • ปรับปรุงวิธีการสอนและการจัดการชั้นเรียนเพื่อใช้เวลาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • จัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและอบอุ่นเพื่อให้นักเรียนไม่กลัวหรือปฏิเสธการมาโรงเรียน

 

เรียบเรียงจาก Word Bank

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ