เจาะที่มา "เสาไฟกินรี" พิรุธหรือบังเอิญ ผุดอีก “ประติมากรรมภูเขา” อบต.ราชาเทวะ งบ 1 ล้าน ถูกทิ้งร้าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณี "เสาไฟกินรี" อบต.ราชาเทวะ ที่ นายก อบต. ยืนยันทำเสาไฟเป็นรูปกินรี เพราะชาวบ้านอยากได้ ล่าสุด หนึ่งในสภาอบต. เปิดเผย ข้อสังเกต ตอนทำประชาคมถามความเห็นชาวบ้าน ว่า คนที่เข้าร่วมเกือบทั้งหมดเป็น กลุ่มที่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มเห็นต่างไม่ได้มา นอกจากนี้ ทีมข่าวยังพบ อีก หนึ่งประติมากรรม ถูกทิ้งร้างไว้ในอบต.ราชาเทวะ เป็นประติมากรรมหินประดิษฐ์ภูเขา มูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบซากประติมากรรมหินประดิษฐ์ภูเขาไฟเบอร์กลาสเสริมด้วยใบเหล็กด้านหลังทำสีคล้ายจริง มูลค่าโครงการที่ระบุไว้ในสัญญา คือ 991,890 บาท ปัจจุบันอยู่ในสภาพถูกทิ้งร้าง ใกล้ที่ทำการ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตามข้อมูลพบว่า โครงการจัดซื้อ เกิดขึ้นในปี 2555 ตอนแรกตั้งอยู่ที่ทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ต่อมากรมทางหลวงขอให้รื้อถอนเพราะบดบังทัศนวิสัยของผู้สัญจรไปมา จึงทำการรื้อถอนมาไว้ที่ อบต.

"พิศิษฐ์" ชี้ อบต.ราชาเทวะใช้งบฯสิ้นเปลือง

ประติมากรรม"พวงมาลัย" 42ล้าน อบต.ราชาเทวะ

ป.ป.ช.สั่งสอบ ประติมากรรมเสาไฟฟ้า

โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ระบุใน “หนังสือลับ” ของสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสมุทรปราการ ส่งให้นายก อบต.ราชาเทวะ ลงความเห็นว่า อบต. ควรตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชอบ ชดใช้เงิน รวมถึงเสนอให้เอาผิดทางวินัย

นายแดง ปานทอง สมาชิกสภาอบต. ราชาเทวะ หมู่ 11 เล่าว่า ก่อนเริ่มโครงการนี้ นายทรงชัย นกขมิ้น นายกอบต.ราชาเทวะ มีแนวคิดปรับปรุงภูมิทัศน์ ถนนบางนา-ตราด-ท่าอากาศสุวรรณภูมิ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จึงได้มีการนำเสนอโครงการต่อที่ประชุมสภา อบต. ร่วมกับ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดซื้อต้นไม้และงานประติมากรรมรูปสัตว์หล่อไฟเบอร์กลาสฯ โครงการจัดซื้องานประติมากรรมยักษ์หล่อไฟเบอร์กลาส โครงการจัดซื้อประติมากรรมรูปพวงมาลัยดอกไม้ผลิตจากเหล็ก  

ในการประชุมเป็นการสอบถามว่าหากทำรูปแบบนี้จะสวยหรือไม่ แต่ยังไม่ได้มีการลงมติ จากนั้นเพียง 2 เดือน พบว่าโครงการต่าง ๆ ก็เริ่มถูกดำเนินการก่อสร้างขึ้น

โครงการแรกเป็น โครงการจัดซื้อประติมากรรมรูปพวงมาลัยดอกไม้ผลิตจากเหล็ก ที่ติดตามแบริเออร์ แต่สภาอบต.ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินการไปแล้ว

ส่วนเรื่องการจัดซื้อเสาไฟฟ้ากินรี มูลค่าต้นละ 95,000 บาท นั้น นายแดง ระบุว่า ตามปกติแล้วขั้นตอนการอนุมัติโครงการต่าง ๆ ต้องเริ่มจากการทำประชาคม สอบถามความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ก่อน แต่สำหรับโครงการเสาไฟกินรี เกิดจากการที่ อบต. จัดให้มีการทำประชาคมรวม 15 หมู่บ้าน โดยเขาเป็นหนึ่งในคนที่เข้าร่วมทำประชาคม จากการสังเกตพบว่าไม่มีการสอบถามว่าชาวบ้านต้องการอะไร มีเพียงฝ่ายคณะกรรมการพัฒนาแผน เป็นคนถามว่าต้องการเพิ่มเสาไฟหรือไม่ และ ไม่ได้มีการบอกว่า เสาไฟจะเป็นแบบไหน

นายแดง กล่างต่อ วันดังกล่าว คนที่เข้าร่วมทำประชาคมส่วนใหญ่ “เห็นด้วยให้มีเสาไฟเพิ่มในอบต.” นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่าหลายครั้ง อบต. ทำประชาคมโครงการต่าง ๆ กับ “แต่ละหมู่บ้าน”  โดยมีคนมีร่วมจำนวนไม่กี่สิบคนเท่านั้น

ด้านนายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ เปิดเผยที่มาเสาไฟกินรี ว่าเกิดขึ้นจากการเสนอโครงการของชาวบ้านเอง โดยบอกว่า แต่ละตำบลจะส่งตัวแทนเข้ามาเสนอโครงการที่หมู่บ้านตัวเองอยากได้  หนึ่งในนั้น คือ เสาไฟกินรี

นายทรงชัย นายกอบต.ราชาเทวะ ย้ำว่า การทำประชาคมมีผลสรุปว่าประชาชนส่วนใหญ่ขอให้บรรจุแผนการซื้อเสาไฟกินรีเข้าไปในแผนพัฒนาตำบลด้วยเมื่อคณะกรรมการพัฒนาแผนได้รับเรื่องต่อมา ก็นำโครงการบรรจุในแผนพัฒนาตำบล ซึ่งมีกรอบเวลา 5 ปีจากนั้น ตามขั้นตอน คณะกรรมการพัฒนาแผน นำเสนอต่อนายก อบต. เพื่อ นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา อบต. ขอความเห็นชอบ

จากนั้น  นายก อบต. ก็จะดึงโครงการในแผนพัฒนาตำบลมาใส่งบประมาณและขออนุมัติสภา เมื่อสภาอนุมัติจึงนำเงินงบประมาณจ่ายขาดสะสมไปใช้ได้

ทั้งนี้จากข้อมูล ทีมข่าวพบว่า ประธานคณะกรรมการพัฒนาแผน ก็คือ นายทรงชัย ซึ่งเป็น นายก อบต. ขณะที่ ประธาน สภา อบต. ชื่อ นายประสิทธิ์ นกขมิ้น เป็นพี่ชายของนายทรงชัย

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ