เอาชนะ PM 2.5 เพชรฆาตตัวจิ๋ว  


โดย BDMS Wellness Clinic

เผยแพร่




เข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อไหร่ทุกคนคงสังเกตกันว่า ท้องฟ้าหลังตื่นนอนตอนเช้าดูไม่ค่อยแจ่มใสเท่าไหร่นักเหมือนมีหมอกหนาทึบปกคลุมทั่วเมือง หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคงเป็นปรากฏการณ์ปกติตามธรรมชาติ แต่รู้กันหรือไม่ว่าอากาศที่เรากำลังหายใจเข้าไปนั้นกำลังทำลายสุขภาพเราอย่างช้าๆ

ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานปกคลุมกทม.เป็นสัปดาห์ที่ 2

แก้ปัญหามลพิษในอากาศให้อยู่หมัดแบบพญามังกร

PM 2.5 หรือชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Particulate matter คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนคือตัวฝุ่นละอองชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของเราถึง 20 เท่า ที่สามารถผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ (Fine inhalable particles) หลายคนอาจทราบเพียงว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นชนิดหนึ่ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างจมูกหรือปอดเราเท่านั้น แต่เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก จนสามารถทะลุถุงลมจนเข้าไปในกระแสเลือดได้ มันเข้าไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเรา ฝุ่นชนิดนี้จึงก่อก็ให้เกิดผลเสียมากมายมหาศาลกว่าที่เราคาดเดาได้ ซึ่งฝุ่นละอองเล็กจิ๋วที่ลอยล่องอยู่ในอากาศอย่างเจ้า PM 2.5 นี้ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ การปล่อยฝุ่นควันของโรงงานอุตสาหกรรม ควันพิษจากรถยนต์และเครื่องจักรกล การเผาไร่นา การเผาขยะ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ก่อเกิดมลภาวะทางอากาศทั้งสิ้น


แล้ว PM 2.5 มีผลอย่างไรกับสุขภาพของเราบ้าง ทำไมหลายคนจึงตื่นตระหนกกับปรากฏการณ์นี้กันนัก วันนี้เราจึงมาเล่าสู่กันฟังผลของ PM 2.5 ต่อสุขภาพ 
มีโรคทางสุขภาพมากมายที่เป็นผลสืบเนื่องจากการได้รับฝุ่น PM 2.5 ถ้าพิจารณาในระยะสั้น (ภายใน 24 ชั่วโมง) การได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย เกี่ยวพันกับการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เกิดจากปอดและหัวใจ เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลัน หอบหืดเฉียบพลัน ซึ่งอาการเหล่านี้ พบมากใน เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่ปัญหาเกี่ยวกับโรคปอดและหัวใจ
โดยในระยะยาว (ระยะเวลาตั้งแต่หนึ่งเดือนเป็นต้นไป) PM 2.5 มีผลเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (Premature mortality) โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโรคปอดและโรคหัวใจเรื้อรัง มีการศึกษาพบว่า PM 2.5 เพิ่มความเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative diseases) เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease; AD) และยังสามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ของเรา ส่งผลต่อระบบแบคทีเรียในทางเดินอาหารอีกด้วย


นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแค่อนุภาคขนาดเล็ก อย่าง PM 2.5 เท่านั้น แต่โลหะทรานซิชั่น (Transition metals) เช่น เหล็ก ตะกั่ว ปรอท นิกเกิล สังกะสี ที่ปนมาด้วยกัน เมื่อเข้าสู่ในร่างกายจะก่อเกิดสารตัวหนึ่ง ชื่อว่า สารอนุมูลอิสระ (Free radicals หรือ Oxidative stress) ซึ่งสารตัวนี้จะเข้าไปทำลายเซลล์ในร่างกาย หากเป็นเด็กก็ส่งผลทำให้สมาธิสั้นลง ภูมิต้านทานลดต่ำลง ก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้ เป็นหวัดบ่อย ผื่นขึ้นที่ผิวหนัง อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคอื่นๆ อีกมากมายเช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
อนุมูลอิสระก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายอะไรบ้าง


อนุมูลอิสระนั้นทำลายตัวเรา เมื่อเซลล์ในร่างการถูกทำลายจะถูกนำไปรวมที่ตับ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนโรงงานกำจัดของเสียของร่างกาย เมื่อของเสียล้นมากเกินไปและขจัดออกไม่ทัน ของเสียเหล่านี้ก็จะล้นเข้าไปในร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็จะตามมา รวมถึงโรคมะเร็งด้วย โดยปกติตับของเราจะมีสารชนิดหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ขับสารพิษ ชื่อว่า กลูต้าไธโอน (Glutathione) จัดเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ถ้าระดับกลูต้าไธโอนในตับมีมาก ก็เท่ากับว่าร่างกายของเราจะกำจัดของเสียได้เร็ว ในกรณีกลับกันหากร่างกายมีระดับกลูต้าไธโอนน้อย ก็จะกำจัดของเสียได้ช้า โรคภัยไข้เจ็บก็จะเริ่มตามมา ซึ่งสารพิษจากสิ่งแวดล้อม การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ล้วนส่งผลต่อระดับกลูต้าไธโอนที่ลดลงได้


อาหารที่มีส่วนประกอบของสารกลูต้าไธโอน เช่น  อะโวคาโด หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบ ผักโขม ช่วยบำรุงตับได้ดี แต่หากต้องการได้รับกลูต้าไธโอนจากอาหารอาจต้องรับประทานอาหารในปริมาณที่มาก มีการศึกษาพบว่าการเสริมกลูต้าไธโอน 250 ถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลามากกว่าหกเดือน จะช่วยเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนในเลือดได้ โดยหน่อไม้ฝรั่ง 1 ถ้วยตวงครึ่ง มีปริมาณกลูต้าไธโอน 26 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณกลูต้าไธโอนในอาหารจะมีไม่มากนัก แต่ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งดีกว่าไม่มีตัวช่วยในร่างกายเลย
นอกจากนี้ การรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย ยังช่วยลดกระบวนการอักเสบในร่างกายได้อีกด้วย เช่น การได้รับสารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ที่มีอยู่ในขมิ้นชัน ไลโคปีน (Lycopene) จากมะเขือเทศ สารเควอซิทิน (Quercetin) จากผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวและผักใบเขียว หรือวิตามินอีจากถั่วเปลือกแข็ง รวมถึงสารซิลิมาริน (Silymarin) จากธรรมชาติที่สกัดได้จากต้นมิลค์ทิสเทิล (Milk thistle) ที่ช่วยลดสารพิษในตับ เสริมการทำงานกับกลูต้าไธโอนได้อีกด้วย

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราจะป้องกันตัวเองอย่างไร
สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ เริ่มจากการป้องกันไม่ให้มลภาวะเข้าสู้ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง พยายามอยู่ในอาคารที่ปิดมิดชิดหรือมีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศ ถ้าหากใครจำเป็นต้องออกไปข้างนอก การใส่หน้ากากป้องกัน เช่นหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ ก็จะช่วยลดการได้หายใจเอา PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายได้
อย่างไรก็ตามการร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุดูจะเป็นวิธีที่จะช่วยลดมลภาวะได้ในระยะยาว เช่น การไม่เผาป่า เช็คสภาพเครื่องยนต์เพื่อลดควันดำ หลีกเลี่ยงการเผาใบไม้ การเผาขยะ โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ลูกหลานได้อยู่อย่างปลอดภัยในอนาคต

ชัดก่อนแชร์ | สูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปมากๆ เสี่ยงต่อมะเร็งปอด จริงหรือ? | PPTV HD 36

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก BDMS Wellness Clinic

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ