ผู้เชี่ยวชาญย้ำ วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อไม่ด้อยไปกว่ากัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเน้นย้ำ วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อลดอัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ไม่แตกต่างไปกว่ากัน

วันนี้ (6 พ.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าว ประเด็น “ประสิทธิภาพวัคซีน และประโยชน์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19” จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 เพิ่งมีการวิจัยเมื่อ 10 เดือนนี้เอง ต้องเข้าใจว่ามันยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันเป็นอาวุธที่สำคัญ ที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์การระบาด สังคมต้องชั่งน้ำหนักว่าประโยชน์เทียบโทษ ด้านไหนมีมากกว่ากัน

อนามัยโพล ชี้ ช่วงโควิดดุ ทำคนไทยอยากฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น

ครอบครัว ติดใจคนขับรถเอกซเรย์ เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ยันผู้ตายไม่มีโรคประจำตัว

ผลลัพธ์ชัด ๆ จากสหราชอาณาจักร ประโยชน์ของวัคซีนโควิด-19

นพ.ทวีเสริมว่า ปัจจุบันสังคมมักสนใจตัวเลขประสิทธิภาพทั่วไปในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งของไฟเซอร์อยู่ที่ 95%, โมเดอร์นา 94%, สปุตนิกวี 92%, โนวาแวกซ์ 89%, แอสตร้าเซเนก้า 67% และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 66%

“นี่เป็นตัวเลขที่หลายคนยึดติด แต่ตัวเลขเหล่านี้มาจากที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน มีการวิจัยหลายสถานที่ หลายเวลา หลายเชื้อชาติพันธุ์ บางตัววิจัยช่วงที่มีเชื้อกลายพันธุ์ไม่ได้ ดังนั้นอย่าไปดูเฉพาะตัวเลขนี้ ... สิ่งที่การแพทย์อยากเห็นคือวัคซีนที่ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ป้องกันนอนโรงพยาบาลหรือเข้าไอซียู นี่คือที่เราอยากได้” นพ.ทวีกล่าว

เขายังประเมินผลวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายจากประเทศจีน พบว่าป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงได้ 100% ป้องกันไม่ให้เกิดอาการปานกลาง (ป่วยนอนโรงพยาบาล แต่ไม่ต้องให้ออกซิเจนหรือเจาะคอ) ได้ 83.7% และป้องกันติดเชื้อทั่วไป 50.7% ซึ่งถือว่าเข้าเกณฑ์ความต้องการทางการแพทย์ คือลดโอกาสการป่วยหนักหรือเสียชีวิต

“ที่บราซิล ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์กว่า 60,000 คน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคไป 2 สัปดาห์ กราฟผู้ติดเชื้อเขาลดลง ยิ่งฉีดครบ 2 เข็มยิ่งลด เราอยากเห็นตรงนี้” นพ.ทวีกล่าว

ส่วนอีกหนึ่งวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยสั่งซื่อเข้ามาอย่างแอสตร้าเซเนก้านั้น ล็อตใหญ่กำลังจะเข้ามาในเดือน มิ.ย.ประเมินว่า ฉีด 1 เข็มสามารถป้องกันได้ 3 เดือน มีประสิทธิภาพ 62-81.5%

แต่ประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิลนั้น เบื้องต้นทราบว่าลดลง “เมื่อใช้กับสายพันธุ์อังกฤษได้ผลเกือบ 70% กับสายพันธุ์ดั้งเดิม 81% ถือว่าลดลงเล็กน้อย แต่สายพันธุ์ที่วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าได้ผลไม่ดีเลยคือสายพันธุ์แอฟริกาใต้”

โดยการศึกษาในบางประเทศเทศพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นลดเหลือประมาณ 10% เท่านั้น ทำให้ประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบาดหลักของโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าวสั่งระงับใช้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าถาวร

นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า วัคซีนแอสตร้าเซเนก้ากับวัคซีนไฟเซอร์ “ตัวไหนดีกว่ากัน”

นพ.ทวีบอกว่า แอสตร้าเซเนก้าไม่ได้ด้อยไปกว่าไฟเซอร์ อาจดีกว่าในการตอบสนองของภูมิด้วยซ้ำ ไม่ได้ขี้เหร่ไปกว่ากัน

โดยสาธารณสุขสกอตแลนด์ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนดังกล่าวในทุกกลุ่มอายุ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภายในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก วัคซีนแอสตราเซเนกาสามารถลดความเสี่ยงในการต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโควิด-19 ได้มากถึง 94% ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลได้ 85% ตามหลังแอสตราเซเนกาอยู่บ้าง

ส่วนในประเด็นการใช้วัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าแล้วเกิดปัญหาลิ่มเลือดอุดตันนั้น นพ.ทวีกล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เอาข้อมูลหลายชุดออกมาดูว่า การเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มที่ใช้วัคซีนชนิดอะดีโนไวรัสเวกเตอร์ (Adenovirus Vector) เช่น แอสตร้าเซเนก้า จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะพบเคสลิ่มเลือดอุดตันประมาณ 4 ใน 1 ล้านเข็ม หรือ 1 ใน 250,000 เข็ม โอกาสเสียชีวิตแค่ 1 ใน 4 ราย หรือ 1 ในล้านเข็ม เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากโควิด-19 พบว่าเกิดขึ้น 2 ใน 100 เคส

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซเนก้าพบว่า วัคซีนทั้งสองยี่ห้อสามารถป้องกันการติดเชื้อในครอบครัวได้ครึ่งหนึ่งเหมือน ๆ กัน เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ฉีด โดยศึกษาจากคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเผอิญติดโควิด-10 ปรากฏว่าคนในครอบครัวติดเชื้อน้อย

“สุดท้าย สิ่งที่เราอยากเห็น ต้องการแค่กันป่วยหนัก 100% ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทุกตัวตอนนี้ทำได้เกือบหมด ... วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมโรค ขอให้ดูจากข้อมูลแล้วพิจารณาเอาเอง เรากำลังจะเริ่มฉีดมากขึ้นแล้ว ขอย้ำว่าวัคซีนมีประโยชน์ ชั่งน้ำหนักแล้ว มีความคุ้มค่ามากกว่าโทษ” นพ.ทวีกล่าว

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ