ชี้ภาษีเครื่องดื่มหวานเพิ่มทางเลือกสุขภาพ พบเทรนด์ใหม่ผู้บริโภคสั่งหวานน้อยมากขึ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เทรนด์กำลังมา! เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานเชื่อเก็บภาษีน้ำหวานช่วยเพิ่มทางเลือกสุขภาพแก่ประชาชน หลังจากเทรนด์รักสุขภาพมาแรง ขณะที่ผู้ผลิตเร่งปรับสูตรน้ำตาลน้อยลง เพื่อเลี่ยงภาษีที่เพิ่มขึ้น ยอมรับเป็นผลดีต่อสุขภาพประชาชน

หยิบ "ภาษีสรรพสามิตน้ำหวาน" พิจารณาอีกรอบ

‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ขึ้นภาษีน้ำตาลเฉพาะเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตรงจุด

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะประธานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เปิดเผยว่า หลังจากกรมสรรพสามิตได้เก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนดมาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้เกิดเทรนด์รักสุขภาพ มีการโฆษณารณรงค์ลดการรับประทานอาหารรสหวาน เพราะผู้บริโภคมีความกังวลหรือกลัวโรคภัยที่อาจเกิดขึ้น ส่วนภาคเอกชน โรงงาน ร้านอาหาร หรือร้านค้าต่างๆ ก็มีการปรับตัว ส่งผลให้ภาพรวมของการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศมีการชะลอตัวลง

ทพญ.ปิยะดา กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากกรมสรรพสามิตประกาศเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนดเมื่อ 4 ปีก่อน ส่งผลให้โรงงานผลิตเครื่องดื่มปรับกระบวนการผลิตที่เน้นลดการใช้น้ำตาลทรายลง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำหวานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดผลดีทางสุขภาพแก่ประชาชน เกิดทางเลือกการบริโภคเครื่องดื่ม รสชาติหวานน้อยแก่ประชาชนมากขึ้น

แม้ว่าองค์การอนามัยโลก ได้ออกคำแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 25 กรัมต่อวัน หรือ 4-6 ช้อนชาต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย แต่มีข้อมูลน่าตกใจว่าคนไทยบริโภคปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ย 100 กรัมต่อคนต่อวันหรือมากกว่าที่ควรถึง 4 เท่า ส่งผลให้ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ และหลอดเลือด ไปจนถึงกระทั่งฟันผุ
 

"การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน จะทำให้สมองหลั่งสารที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ทำให้รู้สึกมีความสุข คุ้นชิน รวมถึงสั่งการให้ร่างกายมีความต้องการน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ จน กลายเป็นติดอยู่ในวงจรความหวาน ต้องกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานบ่อยครั้ง เหมือนร่างกายขาดน้ำตาลไม่ได้ จนกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ในที่สุด" ประธานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าว

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ