ลดวันตรวจเชิงรุกแยกมหานาค หลายชุมชนชุลมุน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชุมชนในแขวงสี่แยกมหานาคได้ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกแล้ววันนี้ หลัง ศบค.แถลงพบผู้ติดเชื้อรวม 80 คน ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม แต่ล่าสุดปรับแผนกะทันหัน เหลือตรวจวันเดียว จากที่วางแผนไว้ 3 วัน ทำให้ชุมชนต้องปรับแผน คัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงกันหน้างาน

ชาวบ้านใน 3 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา และชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทยอยมาเข้าคิวรอตรวจคัดกรองที่อาคารแอมบาสเดอร์ ตลาดสะพานขาวทรัพย์สินพัฒนาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเจ้าหน้าที่แจกบัตรคิวและจัดเก้าอี้ให้นั่งรอ แต่ด้วยจำนวนคนที่หนาแน่นขณะที่พื้นที่ค่อนข้างแคบ ทำให้ไม่ได้เว้นระยะห่าง

จุดที่มีการคัดกรองวันนี้เป็นอาคารโรงภาพยนต์เก่า ตั้งอยู่กึ่งกลางของ 3 ชุมชน รัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร สามารถเดินถึงกันได้

ชุมชนวัดญวนฯอยู่กันแออัด กักตัวไม่ได้

พบตัวเลขระบาดแยกมหานาค สูงกว่าข้อมูล ศบค.

ทำให้หลายคนเลือกใช้วิธีเดินเท้ามาตรวจ บางชุมชนต้องผ่านตลาดฝั่งตรงข้ามจุดคัดกรอง ซึ่งปิดบางร้าน แต่บางร้านก็ยังตั้งแผงขายปกติ

นายวิโชต แสงนวล ประธานชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ได้รับทราบข้อมูลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 6 ว่าจะมีการตั้งจุดตรวจคัดกรอง 3 วัน คือ วันที่ 7-9 พฤษภาคม โควต้ารวม 1,500 คน ซึ่งตนเองได้ประกาศเสียงตามสายในชุมชนเรียบร้อย ต่อมาเวลา 4 ทุ่ม  ได้รับแจ้งว่าผู้ว่าฯ มีคำสั่งให้ย้ายรถตรวจที่จะมาตรวจในชุมชน ไปช่วยตรวจที่คลองเตย ทำให้เหลือโควต้าตรวจที่สี่แยกมหานาควันเดียว 350 คนเท่านั้น

เช่นเดียวกับ นางพรนภา ตั้งจิตเพิ่มความดี อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก ที่ระบุว่า การเปลี่ยนแผนตรวจคัดกรองกะทันหัน ทำให้ชุมชนเตรียมการไม่ทัน และต้องมาคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงและกลุ่มเสี่ยงต่ำกันหน้างาน    ซึ่งค่อนข้างชุลมุน

ด้าน น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ ที่มาดูพื้นที่พร้อม ผอ.เขตดุสิต ยอมรับว่า การได้รับโควต้าตรวจชุมชนในแขวงสี่แยกมหานาคเพียง 350 คน ไม่เพียงพอ เพราะเป็นแหล่งชุมชนแออัดที่มีคนอาศัยรวมกว่า 7 พันคน และการตรวจวันนี้มีข้อจำกัดคือตรวจได้เพียงคนไทยที่มีบัตร ปชช. เท่านั้น เพราะศูนย์บริการสาธารณสุขต้องส่งข้อมูลประกอบการเบิกงบประมาณ ในขณะที่พื้นที่มีประชากรแฝงเป็นต่างด้าวจำนวนมาก  

โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตดุสิต และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ตลอด แต่พบข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์และบุคลากรในการตรวจไม่เพียงพอ จึงได้วางโมเดลการจัดการเบื้องต้นไว้ 2 แนวทาง อย่างแรกคือการให้กลุ่มเสี่ยงกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยมีการสนับสนุนอาหาร 3 มื้อ // ส่วนอีกแนวทางสำหรับผู้ที่อยู่หลายคนในบ้านหลังเดียว ไม่มีที่กักตัว มีการหารือกับหน่วยงานทหารในพื้นที่ ขอสนับสนุนพื้นที่ให้คนในชุมชนใช้กักตัว

สำหรับโมเดลส่งอาหารให้ชุมชนที่กักตัวอยู่ในบ้านเริ่มมีการดำเนินการแล้วเมื่อวานนี้ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนสวมชุด PPE นำเสบียงไปให้บ้านที่กักตัว ขณะที่การขอพื้นที่ทหารใช้กักตัว ยังอยู่ระหว่างการหารือในแนวทางปฏิบัติว่าจะออกมาในรูปแบบใด

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ