รู้จัก “วัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม” ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเข้า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รวมข้อมูลวัคซีนโควิด-19 “ซิโนฟาร์ม” อีกหนึ่งความหวังใหม่ของประเทศไทย หลัง "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” แถลงข่าวนำเข้า

จากกรณีที่ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” แถลงข่าวนำเข้าวัคซีนโควิด-19 “ซิโนฟาร์ม” ของประเทศจีน เพื่อช่วยรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม

วัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์มมีชื่อทางการว่า “BBIBP-CorV” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคและโควาซิน คือใช้ไวรัสที่ตายแล้วมาพัฒนา ฉีดเข้าไปในร่างกาย ให้ระบบภูมิคุ้มกันได้สัมผัสกับไวรัสโดยไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง

รู้จัก “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” สถาบันวิจัย-การแพทย์ ผู้นำเข้าวัคซีน “ซิโนฟาร์ม”

ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้า "ยา วัคซีนโควิด" ได้เอง แจ้งแถลงนำเข้า "ซิโนฟาร์ม"

องค์การอนามัยโลกอนุมัติวัคซีนโควิดซิโนฟาร์มใช้ในกรณีฉุกเฉิน

BBIBP-CorV เป็นวัคซีนตัวแรก ๆ ที่โลกได้พัฒนาขึ้นมา ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2020 และเพิ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นวัคซีนจากชาติตะวันออกตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากองค์การสากล

วัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์มนั้นต้องฉีด 2 โดส ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ สามารถเก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ปัจจุบันมีการอนุมัติใช้ในมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทุกประเทศแนะนำให้ฉีดเฉพาะในประชากรกลุ่มที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

ปัจจุบันวัคซีนดังกล่าวเสร็จสิ้นการทดลองระยะที่ 3 ใน อาร์เจนตินา บาห์เรน อียิปต์ โมร็อกโก ปากีสถาน เปรู และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) แล้ว โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมรวมกันกว่า 60,000 คน

เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2020 ผลการทดสอบทางคลินิกโดยซิโนฟาร์มเองระบุว่า วัคซีน BBIBP-CorV มีประสิทธิภาพทั่วไปอยู่ที่ 79.34%

ต่อมาผลการทดลองที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ในเดือน พ.ค. ซึ่งได้รับการรับรองแล้วโดยผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและ WHO ระบุว่า จากการการทดลองระยะที่ 3 ในยูเออีและบาห์เรนพบว่า BBIBP-CorV มีประสิทธิภาพทั่วไปในการป้องกันโควิด-19 อยู่ที่ 78.1% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 100%

ส่วนประสิทธิภาพต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ นั้น เบื้องต้นมีเพียงการศึกษากับสายพันธุ์แอฟริกาใต้เท่านั้น โดยเป็นการวิจัยของสถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถาบันในเครือซิโนฟาร์ม ร่วมกับสถาบันจุลชีววิทยาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์จีน

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อใช้วัคซีน BBIBP-CorV กับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใจ้ ประสิทธิภาพลดลงเฉลี่ย 1.6 เท่า ซึ่งลดลงน้อยกว่าวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งมีรายงานพบว่าประสิทธิภาพลดลงถึง 6 เท่า

ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ บราซิล หรืออินเดีย ยังไม่พบผลการศึกษาวิจัย

สำหรับประเด็นเรื่องผลข้างเคียงนั้น ยังขาดหลักฐานยืนยันชัดเจน มีเพียงข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1/2 ว่า วัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์มมีความปลอดภัยดี มีอาการข้างเคียงที่พบทั่วไปคือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด

โดย WHO เคยรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง 2 เหตุการณ์ที่อาจเชื่อมโยงกับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ได้แก่ อาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง และความผิดปกติที่ระบบประสาท หรือโรคไข้สมองอักเสบเฉียบพลัน

WHO ยังพิจารณาข้อมูลจากจีน พบว่า ในบรรดาประชากรจีน 5.9 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2020 มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 1,453 ราย แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่

เรียบเรียงจาก BBC / bioRxiv / JAMA / New York Times / Medical News Today / Reuters / WHO

ภาพจาก AFP

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ