วัฏจักรไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ใช้เวลา 4-5 เดือน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หากเราพยากรณ์ไปในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่จะระบาดในประเทศไทยจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นเดลต้า และในที่สุดสายพันธุ์เดลต้าจะกลบสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษต่อไป

วัคซีนป้องกันโควิด19 ทุกบริษัทในโลกนี้ ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยี เชื้อตาย mRNA หรือ ไวรัลเว็กเตอร์ (Viral Vector) ล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน ที่เรียกว่า อูฮั่น หรือสายพันธุ์ G ดังนั้น เมื่อมาเจอสายพันธุ์ของไวรัสที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา อย่างศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ก็ระบุว่าเป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดทอนประสิทธิภาพลดทีละเล็กทีละน้อย ทำให้ตอนนี้ ต้องเร่งศึกษาข้อมูลพร้อมปรับกลยุทธ์การให้วัคซีนสอดคล้องสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ซึ่งกำลังจะมาแทนที่อัลฟา (อังกฤษ)

นพ.ยง แนะฉีดแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็มให้เร็วรับมือ สายพันธุ์เดลตาในอนาคต

เฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 206 รายใน กทม.

 

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบาย ถึงการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส ว่า เป็นเรื่องปกติ อย่างสายพันธุ์ดั้งเดิมจากจีน ที่เรียกว่า อูฮั่น เนื่องจากตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่เมื่อแพร่ระบาดไปทางประเทศยุโรป มันก็ถูกว่าสายพันธุ์จี (G) โดยเริ่มแพร่กระจาย หลังจากการระบาดในอูฮั่นประมาณ 4-5 เดือน จากนั้นนั้นสายพันธุ์จีก็ครองโลก แล้วก็เริ่มมีการกลายพันธ์ เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษมาแทนที่โดยเริ่มประมาณเดือน ต.ค. จากนั้นก็ระบาดเต็มที่หลังจากปีใหม่เป็นต้นมา

โดยคุณสมบัติ ของสายพันธุ์อัลฟานั้น แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ G ประมาณ 1.7 เท่า จึงทำให้สายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษมาครอง ซึ่งตามวัฎจักรจะอยู่ประมาณ 4-5 เดือน

สำหรับสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดีย เราพบเริ่มต้นในแคมปคนงานแถวหลักสี่ เริ่มจากคนวัยทำงาน โดยสายพันธุ์เดลต้าแพร่ง่ายกว่าอังกฤษ 1.4 เท่า หากเราพยากรณ์ไปในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่จะระบาดในประเทศไทยจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นเดลต้า และในที่สุดสายพันธุ์เดลต้าจะกลบสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษต่อไป ซึ่งอาจารย์หมอยง ระบุว่าตามวัฎจักรจะไม่สิ้นสุดแค่สายพันธุ์เดลต้า จะมีสายพันธุ์อื่น แต่ไม่ว่าจะสายพันธุ์เดลต้า หรืออัลฟา ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลงแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์ไวรัสที่เปลี่ยนไปจะเป็นอย่างไร

ศ.นพ.ยง กล่าว ว่า วัคซีนทุกบริษัทในโลกนี้ล้วนพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน ที่เรียกว่า อู่ฮั่น ดังนั้น เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดทอนประสิทธิภาพลดทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชั่น 2 แบบไข้หวัดใหญ่ที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น ทั่วโลกก็จะเผชิญกับการใช้วัคซีนตัวเดิมแต่สายพันธุ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยสายพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงวัคซีน ที่ทำให้ประสิทธิภาพน้อย คือ สายพันธุ์เบต้าหรือแอฟริกาใต้ เพียงแต่ประสิทธิภาพในการแพร่กระจายโรคต่ำกว่าสายพันธุ์อัลฟา และเดลต้า ดังนั้นโอกาสที่สายพันธุ์แอฟริกาใต้จะครองโลกก็จะช้า

ทั้งนี้มีการศึกษาสายพันธุ์เดลต้าในสก๊อตแลนด์ ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลงประมาณ 10% ซึ่งยังป้องกันได้
จากเดิมไฟเซอร์ป้องกันได้กว่า 90% แต่พอมาเจอสายพันธุ์เดลต้า พบว่า ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ที่ให้ 2 เข็มจะป้องกันได้ 79%
ขณะที่ วัคซีนแอสตร้าฯที่ให้ 2 เข็ม ประสิทธิภาพที่มีต่อการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ก่อนหน้านี้สูงเกือบ 90% ปรากฎว่าเหลือ 60% และไม่ว่าไฟเซอร์หรือแอสตร้าฯ หากฉีดเข็มเดียว ระดับภูมิฯที่สูงไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพป้องกันโรคก็จะลดลงเหลือ 20-30% จากผลการศึกษานี้

และจากผลการศึกษานี้ ศ.นพ.ยง ระบุว่า ประเทศไทยจึงเป็นต้องชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าให้มากที่สุด และปูพรมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดโควิดสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษที่ระบาดอยู่ขณะนี้

ขณะเดียวกันทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทย ก็มีการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์ของไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อาจต้องให้แอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้นหรือแม้กระทั่งซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจต่ำอยู่ จึงต้องกระตุ้นเข็ม 3 เข้าไป เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมิจะขึ้นสูงกว่า 10 เท่า ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ส่วนการกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็ม 3 จะสลับยี่ห้อได้หรือไม่นั้น ผลการศึกษาจะรู้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ