สธ.ชี้ถ้าไม่ล็อกดาวน์ไม่เข้มข้น ยอดผู้ป่วยพุ่ง 4 หมื่นคนต่อวันแน่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สธ.เสนอล็อกดาวน์เข้มข้น - ค้นหาผู้ป่วย-เร่งฉีดวัคซีน ช่วยลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลการคาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด 19 โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ SEIR คาดว่าใน 3-4 เดือนข้างหน้า หากไม่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเกิน 4 หมื่นรายต่อวัน สูงสุดวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยคาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 รายต่อวัน จึงเสนอมาตรการล็อกดาวน์ ร่วมกับการค้นหาผู้ป่วย และ ฉีดวัคซีน เพื่อลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลง

แนะ รพ.สนาม เพิ่มเตียงอีก 5,000-10,000 เตียง

สธ. สั่งด่วนทุกจังหวัด เร่งฉีดวัคซีน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป–กลุ่มโรคเสี่ยง-คนท้อง รวมต่างชาติ

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกกลับมาระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยวันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 17,345 ราย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นไปตามตัวเลขการคาดการณ์สถานการณ์ จึงต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดการติดเชื้อและเสียชีวิต โดยนายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด 2 เดือนจากนี้จะมียาประมาณ 80 ล้านเม็ด จัดส่งไปสำรองที่ภูมิภาค เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้านและชุมชน

นอกจากนี้ ยังจัดหน่วยปฏิบัติการเชิงรุกในชุมชน CCR Team ดูแลรักษาพยาบาล ตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) ฉีดวัคซีน กลุ่มเปราะบาง โดย กทม.ฉีดครอบคลุมแล้ว 61.67% เฉพาะผู้สูงอายุใน กทม.ฉีดแล้ว 70% ดังนั้นเดือนสิงหาคมที่จะมีวัคซีนอีก 10 ล้านโดส จะปรับการจัดสรรให้ต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด19 โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ SEIR ใน 3-4 เดือนข้างหน้าหากไม่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเกิน 4 หมื่นรายต่อวัน สูงสุดวันที่ 14 กันยายน 2564 และเสียชีวิตมากกว่า 500 รายต่อวัน แต่หากมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และระยะเวลานานขึ้น จะช่วยลดการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลงได้ และหากการล็อกดาวน์เข้มข้น ร่วมกับการค้นหาผู้ป่วยและฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง จะยิ่งช่วยลดการติดเชื้อและเสียชีวิตลงได้อีก

ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงต้นจะยังไม่เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงมากนัก แต่จากนั้น 2-4 สัปดาห์ จะเห็นผู้ติดเชื้อลดลงชัดเจน โดยจะมีการประเมินเป็นระยะและเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า การกระจายวัคซีนเดือนสิงหาคม นอกจากเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ รวมถึง อสม.เป็นหลัก จะใช้เพื่อควบคุมการระบาด และ ในพื้นที่เป้าหมายพิเศษ พื้นที่ท่องเที่ยว โดยใช้สูตร SA คือ ซิโนแวคเข็มแรก เว้น 3 สัปดาห์ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่สอง จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงใกล้เคียงแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์ในการฉีดเข็มสอง และ จากการใช้พบว่ามีความปลอดภัย

ด้านนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การควบคุมโรคโควิด 19 และการรักษา เน้นการตรวจด้วย ATK รู้ผลรวดเร็ว จัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการที่บ้านและชุมชน โดยเชื่อมต่อกับสถานบริการ ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงบริการลำบาก และ การให้ยารักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต โดยเชิญชวนบุคลากรสาธารณสุขในภูมิภาคเข้ามาร่วมทีม CCR Team ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้ อย่างน้อย 50 ทีม ทีมละ 10 คน เพื่อทำงานเชิงรุกในชุมชนพื้นที่กทม. ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองเชิงรุกได้ 4-5 แสนราย คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างน้อย 7-8 หมื่นราย

พบชายนอนชักริมทาง ไม่ติดโควิด ไม่ได้จัดฉาก

โปรแกรมถ่ายทอดสด โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ