รอลุ้น สปสช.เคาะแจกชุดตรวจโควิด ATK ส่งให้ถึงบ้านด้วยวิธีไหน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สธ.-สปสช.จัดระบบรองรับการแจก ATK ส่งถึงบ้านให้ประชาชนตรวจตรวจโควิดด้วยตัวเอง รอเคาะจะส่งผ่านไปรษณีย์ หรือ ใช้ไรเดอร์ขับรถส่งถึงประตูบ้าน

ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง Antigen test kit (ATK) 8.5 ล้านชุด ที่ทางองค์การเภสัชกรรมกำลังเดินหน้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กำลังหารือว่า วิธีการแจกชุดตรวจ ATK ให้ถึงมือประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยไม่ต้องเดินทางมารับเอง จะใช้วิธีการแบบไหนระหว่างส่งให้ทางไปรษณีย์หรือให้ไรเดอร์ขับไปส่งถึงบ้าน ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เร่งจัดระบบรองรับการแจกชุดตรวจ ATK พร้อมกับลดขั้นตอนให้สามารถเข้า Home Isolation โดยไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR

สปสช.-อภ. แจงจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด โปร่งใสตามขั้นตอนประมูล

สปสช. ยัน ไร้ปัญหาหากชุดตรวจ Lepu ผ่านทดสอบ

 

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งต้องรบกวนให้ประชาชนตรวจด้วยตัวเอง ตัวเลขผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 1 หมื่นราย 1 เดือนก็ประมาณ 3 แสนราย ผู้ติดเชื้อ 1 รายมีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ต้องรับการตรวจประมาณ 10 ราย หรือ 3-4 ล้านราย ทาง สปสช.ได้จัดงบประมาณจัดหาชุดตรวจ ATK โดยเผื่อกรณีที่ผลเป็นลบ ต้องตรวจซ้ำ และสรุปตัวเลขที่ 8.5 ล้านชุด

แนวทางการกระจายจะแจกให้แก่กลุ่มเสี่ยงผ่านหน่วยบริการ ตั้งแต่โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยา เพื่อที่ว่าเมื่อพบผลตรวจเป็นบวก ผู้ติดเชื้อสามารถติดต่อกลับที่หน่วยบริการนั้นๆ เพื่อประสานเข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation

ในส่วนของวิธีการรับชุดตรวจนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าจะวางระบบอย่างไรเพื่อไม่ต้องให้กลุ่มเสี่ยงเดินทางมารับที่หน่วยบริการ เช่น อาจส่งไปรษณีย์ไปให้หรือให้ Rider ขับเอาไปให้ ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้าย เพราะชุดตรวจยังมาไม่ถึง ยังพอมีเวลาอีกระยะในการคิดวิธีการที่เหมาะสมที่สุด

ขณะที่นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไทยใช้การตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งมีความเที่ยงตรงสูงเพราะขณะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่มากและห้องแล็บยังสามารถรองรับการตรวจได้ แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึงหลัก 1-2 หมื่น/วัน การทำ RT-PCR จึงมีข้อจำกัด คนไข้ต้องรอนานและทำให้การป้องกันควบคุมโรคทำได้ล่าช้า เป็นที่มาของการนำ Antigen test kit (ATK)แบบทั้งแบบ Professional use หรือใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และแบบ Self-use หรือประชาชนตรวจด้วยตนเองมาใช้

การตรวจด้วย ATK จะมีผลบวกปลอม (false positive) ประมาณ 3-5% ดังนั้นเพื่อไม่ให้คนที่ตรวจได้ผลบวกปลอมแล้วต้องไปอยู่รวมกับผู้ป่วยจริงจนทำให้กลายเป็นติดเชื้อไปด้วย แนวปฏิบัติก่อนที่จะส่งเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล รวมถึง Community Isolation หรือการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในระบบชุมชน คือ ต้องมีการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง แต่ในส่วนของผู้ที่ดูแลแบบ Home Isolation หรือการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องตรวจยืนยันเพราะกักตัวที่บ้านไม่ได้สัมผัสกับคนอื่นอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน สธ.กำลังจะทำ Fast Track RT-PCR หรือช่องทางด่วนการตรวจโควิดแบบ RT-PCR สำหรับคนที่อยู่ Home Isolation แล้วมีอาการมากขึ้นจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะหากต้องทำ RT-PCR แล้วไม่มี Fast Track ให้ คนไข้ก็จะมีอาการรุนแรงอยู่ที่บ้าน

"การทำ Home Isolation ที่จะประสบความสำเร็จคือถ้าผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้น ต้องมี Fast Track พาเขาเข้าโรงพยาบาลได้ ไม่อย่างนั้นความน่าเชื่อถือของ Home Isolation จะไม่มี" นพ.ธงชัย กล่าว

สำหรับแนวทางการตรวจด้วย ATK ด้วยตัวเองแล้วพบว่ามีผลเป็นบวก ใน กทม.สามารถโทรเข้าสายด่วน 1330 เพื่อให้ช่วยจับคู่ผู้ป่วยกับหน่วยบริการทำ Home Isolation และถ้ามีอาการ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุ ก็จะให้ยาให้เลย นอกจากนี้อาจให้ญาติพี่น้องนำผลตรวจไปที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่แจกชุดตรวจให้ หรือโรงพยาบาลจัดช่องทางสื่อสารให้ส่งภาพถ่ายไปให้ดู โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ถ้าอาการสามารถดูแลแบบ Home Isolation ก็ไม่ต้องตรวจซ้ำ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นก็จะมี Fast Track พาเข้าโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขใช้โรงพยาบาลบุษราคัมเป็น Fast Track ให้

แต่ถ้าผลเป็นลบแต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันหลังจากตรวจครั้งแรก หรือถ้ามีอาการไอ เป็นไข้ ก็ตรวจซ้ำได้เลยโดยไม่ต้องรอ 3-5 วัน

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ