เปิดผลฉีดไฟเซอร์ให้เด็กในสหรัฐฯ หลังนร.ไทยเกิดดราม่า #ไฟเซอร์นักเรียน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดข้อมูลจริงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 “ไฟเซอร์” ในเด็กอายุ 12-17 ปีจำนวน 8.9 ล้านคนในสหรัฐฯ โอกาสเกิดผลกระทบรุนแรง 1 ใน 10,000 ราย

จากกระแสดราม่าเด็กนักเรียนไทยที่ได้รับสิทธิ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ บางส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นกังวลและหวาดกลัวการฉีดวัคซีน จนเทรนด์ #ไฟเซอร์นักเรียน ติดอันดับ 1 ในโลกทวิตเตอร์เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.)

นิวมีเดีย พีพีทีวี จึงตัดสินใจเลือกข้อมูลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ และผลการใช้งานจริงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) มานำเสนอ เพื่อให้ประชากรกลุ่มอายุ 12-17 ปีมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือในระดับสากลมาประกอบการตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด-19

ดราม่า #ไฟเซอร์นักเรียน ทำเด็กกลัวฉีดวัคซีน

ดราม่า #ไฟเซอร์นักเรียน เด็กเชื่อเฟกนิวส์ TikTok จนกลัววัคซีน ชาวเน็ตวอน "ไปฉีดเถอะ"

เปิดเกณฑ์ สปสช.เข้าข่ายจ่ายเงินเยียวยาให้นักเรียนหากเกิดผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์

โดยในสหรัฐฯ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้มีการอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ในประชากรกลุ่มอายุ 16 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 11 ธ.ค. 2020 และขยายอนุมัติใช้ในเด็กอายุ 12-15 ปีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2021 หลังวินิจฉัยผลการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กของบริษัทไฟเซอร์

ผลการศึกษาที่ทำให้ FDA ตัดสินใจอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ในประชากรอายุ 12 ปีขึ้นไปคือ ได้ทดลองใช้วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์กับเด็กอายุ 12-15 ปี จำนวน 2,260 คน ครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนจริง และครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก ผลจากการทดลองพบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 18 รายในกลุ่มผู้ได้รับยาหลอก 1,129 ราย และไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียวในกลุ่ม 1,131 รายที่ได้รับวัคซีน

สำหรับผลข้างเคียง จากการทดลองพบว่า ส่วนใหญ่เกิดผลข้างเคียงในระดับน้อยจนถึงปานกลาง อาการที่พบส่วนมากคือ ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ไข้ขึ้น และคลื่นไส้

ส่วนข้อมูลการใช้วัคซีนจริงที่ไม่ใช่การทดลอง ข้อมูลจาก CDC ระบุว่า นับแต่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรกลุ่มอายุ 12-17 ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2020 – 16 ก.ค. 2021 ซึ่งขณะนั้นมีเด็กอายุ 12-17 ปีได้รับวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์อย่างน้อย 1 โดสรวมประมาณ 8.9 ล้านคน

ในเด็กเกือบ 9 ล้านคนนี้ มีการรายงานภาวะไม่พึงประสงค์เข้ามา 9,246 ครั้ง แต่มีเพียง 863 ครั้งเท่านั้นที่เป็นรายงานผลกระทบรุนแรงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์

เท่ากับว่า โอกาสเกิดผลกระทบรุนแรงหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ในประชากรกลุ่มอายุ 12-17 ปี โดยคร่าวจะอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 10,000 เท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจและสอดคล้องกับการรับรู้ของใครหลายคนคือ ในภาวะไม่พึงระสงค์รุนแรง 863 ครั้งนี้ กว่า 70% เกิดในเด็กผู้ชาย เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญว่า “เด็กหญิงสามารถฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มได้ ส่วนเด็กผู้ชายจะให้ฉีดแค่ 1 เข็มก่อน”

เฉพาะในกลุ่มที่มีผลกระทบรุนแรง พบว่า มีอาการเจ็บหน้าอก 487 ราย (56.4%), กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 348 ราย (40.3%), หายใจลำบาก 185 ราย (21.4%), อาเจียน 147 ราย (17%) เหล่านี้เป็นอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่หากเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนควรพบแพทย์ และเป็นอาการที่สามารถดูแลรักษาให้หายดีได้

ยังพบอีกว่า ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์มักเกิดหลังการฉีดเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรกจริง

ส่วนในเรื่องของการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เฉพาะในกลุ่มประชากรเด็กอายุ 12-17 ปีที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในห้วงระหว่าง 14 ธ.ค. 2020 – 16 ก.ค. 2021 พบว่ามีเด็กเสียชีวิต 14 ราย

โดยสาเหตุการเสียชีวิตหลังชันสูตรมีผลดังนี้ เส้นเลือดอุดตันที่ปอด (2 ราย), ฆ่าตัวตาย (2 ราย), เลือดคั่งในกะโหลกศีรษะ (2 ราย), ภาวะหัวใจล้มเหลว (1 ราย), เม็ดเลือดขาวติดเชื้อ (1 ราย) และไม่ทราบหรือรอการชันสูตรเพิ่มเติม (6 ราย)

จะพบว่า บางรายเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น เลือดคั่งในกะโหลกศีรษะ หรือบางรายก็ปลิดชีวิตตัวเอง แต่เพื่อให้คิดได้ง่าย ก็ยึดเลข 14 เป็นตัวเลขการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ เท่ากับว่า ในเด็ก 8.9 ล้านคน เสียชีวิต 14 ราย หรือโอกาสเกิด 1 ใน 635,000 นั่นเอง

เมื่อนำข้อมูลการทดลองที่ได้รับการยอมรับในสากลโกลและข้อมูลการใช้จริงในสังคมใหญ่อย่างสหรัฐฯ มาให้พิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้ปกครองและนักเรียนว่า จะเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์หรือไม่

เพราะในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า ความเสี่ยงจากการป่วยหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ยังสูงกว่าผลกระทบจากการฉีดวัคซีนเสียอีก และผู้เชี่ยวชาญหลายเสียงทั่วโลกต่างออกมายืนยันว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความอันตรายน้อยกว่าการติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ ล่าสุด บริษัทไฟเซอร์กำลังยื่นเรื่องต่อ FDA ให้มีการอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์ฉีดให้กับระชากรกลุ่มอายุ 5-11 ปีในสหรัฐฯ หลังผลการทดสอบทางคลินิกในกลุ่มตัวอย่าง 2,268 คนจากทั่วโลกออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยจะฉีดในปริมาณ 1/3 ของที่วัยผู้ใหญ่ได้รับ และคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปลายเดือน ต.ค. นี้

ปัจจุบัน นอกจากประเทศไทยและสหรัฐฯ ยังมีอีกหลายประเทศที่อนุมัติให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ในเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส เยอรมนี เอสโตเนีย ฮังการี อิตาลี ลิทัวเนีย สเปน สหราชอาณาจักร อิสราเอล ยูเออี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ บราซิล แคนาดา ชิลี ฯลฯ

ใช้สิทธิได้แล้ว ! เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 วิธีลงทะเบียนจองที่พักโรงแรมวันนี้ 8 ต.ค.เริ่มเที่ยว 15 ต.ค...

เรียบเรียงจาก CDC / CNN

ภาพจาก AFP

เด็กชายวัย 12 ปีชนะคดีฟ้องศาลขอฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังพ่อสั่งห้ามฉีด

จีนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปีครบโดสแล้วกว่า 90%

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ