ประเด็นนายกฯ แถลงเปิดประเทศ ไทยฉีดวัคซีนเร็ว Top 10 ของโลก จริงหรือ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิเคราะห์ตัวเลขหาคำตอบ กรณีประชาชนตั้งคำถามถ้อยแถลงนายกฯ “ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลก” จริงหรือ?

ยังคงเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว เมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา

โดยชาวเน็ตเกิดความ “เอ๊ะ” ในข้อมูลบางจุดของแถลงการณ์ของท่านนายกฯ จนดันให้แฮชแท็ก #ประยุทธ์ ติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งไม่เพียงแค่การเปิดประเทศ แต่ยังมีเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังเป็นคำถามว่า เป็นแบบนั้นจริงหรือ

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ แถลงเปิดประเทศ ถือเป็นการส่งสัญญาณ Welcome to Thailand

ด่วน!! นายกฯแถลงการณ์ 1 พ.ย.เปิดประเทศ 1 ธ.ค.64 ขายเหล้านั่งดื่มได้ เล็งเปิดสถานบันเทิง

ข้อความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า “ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลก ปัจจุบัน เฉลี่ยแล้ว เราฉีดวัคซีนได้มากกว่า 700,000 โดสต่อวัน และในบางวัน ฉีดได้มากกว่านั้นอีกมาก”

จากข้อความนี้ทำให้นิวมีเดีย พีพีทีวี ลองค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ Covidvax ซึ่งติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก และพบว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เฉลี่ยรายวันอยู่ที่ราว 730,500 โดส และอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก

เมื่อพิจารณาอัตราฉีดวัคซีนโควิด-19 เทียบประชากร 1 ล้านคน ก็พบว่าอยู่ในอันดับ 12 ของโลก อยู่ที่ 10,400 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

แต่ถามว่า สามารถใช้คำว่า “1 ใน 10 ประเทศที่ฉีดได้เร็วที่สุดในโลก” ได้หรือไม่นั้น หากนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ก็เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว แต่ตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยรวมของประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเพียง 35 ล้านคน หรือเพิ่งครึ่งประเทศเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีอยู่ 23.5 ล้านคน หรือ 33% ของประชากรทั้งประเทศ

และระบบวิเคราะห์ของ Covidvax ยังระบุว่า ไทยจะต้องใช้เวลาอีกราว 2 สัปดาห์ จึงจะบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดสให้ประชากรเกิน 70%

เมื่อมองดูประเทศกลุ่มที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดสให้ประชากรได้เกิน 70% พบว่ามีอยู่ราว 68 ประเทศ แน่นอนว่าหลายประเทศเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรไม่มากเท่าประเทศไทย อาจยังไม่สามารถนำมาเทียบได้มากนัก

แต่ก็มีหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น (ประชากร 125 ล้านคน) สหราชอาณาจักร (68 ล้านคน) ฝรั่งเศส (ประชากร 65 ล้านคน) อิตาลี (60 ล้านคน) ซึ่งมีประชากรมากกว่าหรือใกล้เคียงประเทศไทย ประเทศเหล่านี้กลับสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรครบ 2 โดสเกิน 70% ได้แล้ว

อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ประมาณวันที่ 17 ก.พ. ก่อนประเทศไทย 1 สัปดาห์กว่า ๆ ใช้เวลา 225 วัน ในการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มให้ประชากรได้เกิน 70% หรือเกือบ 90 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยเริ่มฉีด 28 ก.พ. จนถึงวันที่ 11 ต.ค. ใช้เวลา 226 วัน ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปได้ 35 ล้านคน หรือ 50% เท่านั้น โดยญี่ปุ่นมีอัตราฉีดวัคซีนเฉลี่ย 7 วันสูงสุดอยู่ในอันดับที่ 9 เฉลี่ยวันละ 985,000 โดส เหนือกว่าประเทศไทย 1 อันดับ

ลองมาดูประเทศที่ไม่ติด Top 20 อัตราฉีดวัคซีนเฉลี่ยราย 7 วันสูงสุดกันบ้าง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี ใช้เวลา 259 วัน 246 วัน และ 245 วันตามลำดับ ในการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกให้ประชากรได้เกิน 70%

เมื่อเทียบกับ 3 ประเทศหลังนี้ซึ่งมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน จะพบว่าอัตราการฉีดวัคซีนของไทยกับประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงพอจะพูดได้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าบางประเทศ

แต่หากจะบอกว่า เป็น “1 ใน 10 ประเทศที่ฉีดได้เร็วที่สุดในโลก” เมื่อดูจากจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มที่ยังไม่ถึง 70%  น่าจะมองว่า "ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีตัวเลขฉีดวัคซีนเฉลี่ยรอบ 7 วันสูงสุด”  มากกว่า

อีกหนึ่งถ้อยแถลงยอดฮิตติดเทรนด์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวานนี้คือ “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในโลกที่ลงมือดำเนินการรับมือกับโควิด-19 อย่างรวดเร็วและชัดเจนที่สุด และด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสังคม เผชิญหน้ากับวิกฤตที่เกิดขึ้น วันนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในการปกป้องรักษาชีวิตของประชาชน”

จากประโยคดังกล่าว ในช่วงแรกประเทศไทยถือว่ารับมือได้รวดเร็วอาจเป็นเพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากยังอยู่ในไทย ในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศไทยเราเองเป็นผู้รายงานพบ “ไวรัสโรคปอดปริศนา” รายแรกของโลก ด้วยระบบการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ก่อนที่จีนและองค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศยืนยันสถานการณ์โควิด-19 อย่างเป็นทางการ รวมถึงมาตรการในช่วงแรกของไทยที่เข้มงวดก็ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพียงหลักหน่วยถึงหลักร้อยในช่วงปี 2563 จนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศในระดับสากล 

เมื่อเดือน ก.ค. ปี 2563 ประเทศไทยถึงขนาดเคยได้รับการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ให้อยู่ในอันดับ 1 ประเทศที่รับมือและฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก แต่ผ่านไป 1 ปีเต็ม สถานการณ์กลับตาลปัตร ไทยร่วงลงมาอยู่ในอันดับ 160+ แทน กระทั่งในเดือน ต.ค. นี้จึงกระเตื้องขึ้นมาอยู่ในลำดับ 91 ได้

นอกจากดัชนี GCI ยังมีดัชนี Nikkei COVID-19 Recovery Index ที่ปัดไทยร่วงมาอยู่ในอันดับที่ 109 ประเทศฟื้นตัวจากโควิด-19 อาจตรงข้ามกับ ประโยคคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในมุมที่ว่า วันนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในการปกป้องรักษาชีวิตของประชาชน เพราะดัชนีเหล่านี้จะพิจารณาอัตราการตรวจ อัตราการฉีดวัคซีน ยอดติดเชื้อรายวัน ยอดเสียชีวิต ยอดรักษาหาย ซึ่งยอดตัวเลขหลายประการของไทยกำลังถูกตั้งข้อสงสัย

ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตนั้น ไทยมียอดเสียชีวิตจากโควิด-19 สะสม 17,741 ราย อยู่ในอันดับ 40 ของโลก ซึ่งไม่นับว่าสูงมากนัก และเมื่อเทียบสัดส่วนกับประชากรราว 70 ล้านคน ก็อยู่ที่ 254 รายต่อประชากร 1 ล้านคน อยู่ในอันดับที่ 130 ของโลก

แต่แม้ยอดเสียชีวิตจะน้อย ยอดตรวจหาเชื้อกลับอยู่ในระดับน้อยยิ่งกว่า โดย Worldometer ระบุว่า ไทยมียอดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไปเพียง 9.2 ล้านครั้ง อยู่ในอันดับ 54 ของโลก และเมื่อนำมาเทียบสัดส่วนจำนวนประชากรยิ่งแล้วใหญ่ เพราะตรวจไปเพียง 131,000 ครั้งต่อประชากร 1 ล้านคนเท่านั้น หรือมีอัตราตรวจหาเชื้อเพียง 13% ของประชากรทั้งประเทศ อยู่ในอันดับ 154 ของโลก ซึ่งการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่น้อยนี้ อาจดูไม่สอดคล้องนักกับประโยค “ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในการปกป้องรักษาชีวิตของประชาชน” 

อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้ว ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์  ยังมีบางส่วนที่สร้างคำถามและสวนทางกับสิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมาประชาชนจับตาดูการทำงานของรัฐบาลในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 มาตลอด  ทั้งการบริหารจัดการวัคซีน การบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ฯลฯ

ซึ่งประเด็นเหล่านั้นก็มักถูกหยิบมาตั้งคำถามถึงการทำงานของรัฐบาล วิธีการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา ไปจนถึงเรื่องของความโปร่งใส อยู่หลายครั้ง

หากรัฐบาลไทยต้องการให้คำแถลงของผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี ได้รับความเชื่อมั่นโดยไม่มีข้อสงสัยว่าจะสามารถทำได้ตามนั้นจริงหรือไม่  เพราะการที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยในการทำงานของรัฐบาล เท่ากับต้องมีอะไรที่ควรตรวจสอบหรืออาจมีสิ่งที่ไม่ปกติ 

เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนนับจากนี้ก่อนเปิดประตูประเทศ (1 พ.ย.) รัฐบาลควรต้องทำให้ประชาชนในชาติเชื่อมั่น และ มั่นใจในคำแถลงที่ประกาศออกมาให้ได้เสียก่อน

สหรัฐฯ ยอมรับผู้เดินทางจากต่างประเทศหากได้รับ 6 วัคซีน WHO รับรอง

"ปลดไทยจาก Red list" เข้าอังกฤษไม่ต้องกักตัว แต่ต้องฉีดวัคซีน 4 ยี่ห้อที่รับรอง

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ