"นอนแต่พอดี" ช่วยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การนอนนาน ๆ ไม่ได้หมายถึงการนอนที่มีคุณภาพเสมอไป แต่ควรนอนให้พอดี มีคุณภาพ จะช่วยให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การนอน” คือ การพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูความเหนื่อยล้าจากกิจกรรมในแต่ละวัน  มีหลายคนตั้งคำถามว่าควรนอนอย่างไรถึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพ   ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ใช้เวลาในการศึกษาอยู่หลายปีของผู้สูงอายุที่พบว่า คนที่นอนน้อย และนอนนานมักจะพบกับภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนที่นอนในปริมาณที่พอดี และยังพบความเชื่อมโยงการนอนที่ไม่เหมาะสมกับโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

 

อาการ “ปวดหัวบ่อยๆ” อาจเป็นสัญญาณเตือน “เนื้องอกในสมอง”

“สรพงษ์ ชาตรี” ป่วยเป็นมะเร็งสมอง เพื่อนพี่น้องในวงการแห่ส่งกำลังใจ

 

นอนไม่ดีเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม
การนอนที่ไม่ดี และโรคอัลไซเมอร์นั้นมีความเชื่อมโยงกันผ่านภาวะสมองเสื่อม ซึ่งในงานวิจัยได้ติดตาม และวิเคราะห์การทำงานขั้นสูงของสมอง (Cognitive function)ในกลุ่มของผู้สูงอายุเป็นเวลาหลายปี  ค้นพบถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างการนอนหลับกับโรคอัลไซเมอร์ และการทำงานขั้นสูงของสมอง

 

นอนแต่พอดี เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
รองศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา Brendan Lucey และผู้อำนวยการแห่ง Washington University School of Medicine กล่าวว่า “จากผลการศึกษาของเราแนะนำว่า มีระยะเวลาเฉลี่ยที่ดีที่สุดในการนอนแต่ละครั้งของเรา เพื่อรักษาการทำงานขั้นสูงของสมองให้ดีอยู่เสมอ”
ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการนอนน้อยหรือมากเกินไปนั้น พบความเชื่อมโยงว่า ทำให้ประสิทธิภาพของภาวะการรับรู้แย่ลงจากผลของการนอนที่ไม่มีคุณภาพที่ดีพอ

สำหรับคนที่นอนน้อยเกินไป ยังไม่สามารถตอบได้ว่าถ้าเราเพิ่มระยะเวลาการนอนให้นานขึ้นนั้นจะส่งผลเชิงบวกต่อการทำงานขั้นสูงของสมองหรือไม่ยังคงต้องทำการศึกษาต่อไป

 

ระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมโดยทั่วไป
นักวิจัยพบว่า ภาวะการรับรู้ถดถอยลงในกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลองเมื่อนอนน้อยกว่า 4.5 ชั่วโมง และมากกว่า 6.5 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งระยะเวลานอนที่อยู่ในช่วง 4.5-6.5 ชั่วโมง/คืน เหมาะสมที่สุดสำหรับการนอนโดยทั่วไป ในแต่ละคนต่างมีแบบแผนการนอนที่แตกต่างกันไป หากเรานอนน้อยกว่า 4.5 ชั่วโมง แต่ยังรู้สึกสดชื่นเมื่อตอนตื่นนอน ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มระยะเวลาการนอนแต่อย่างใด
ซึ่งศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา David Holtzman ได้พูดถึงการนอนของเราว่า “เพื่อให้การนอนของเรานั้นดีพอ ปัจจัยสำคัญอาจจะอยู่ที่คุณภาพของการนอน”

 

วงจรการนอนหลับในคนปกติทั่วไป มักใช้เวลาตั้งแต่ 30 วินาที – 7 นาที เป็นสภาพที่แม้จะได้รับการกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็จะตื่น จากนั้นเข้าสู่การหลับระยะต่าง ๆ

-หลับตื้น เป็นระยะแรกที่มีการหลับตื้นอย่างแท้จริง แต่ยังไม่มีการฝัน

-หลับลึก ร่างกายจะเข้าสู่โหมดพักผ่อนเมื่อเข้าสู่ระยะหลับลึกเป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอนใช้เวลา 30 – 60 นาที ช่วงระยะนี้อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตจะลดลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือประมาณ 60 ครั้งต่อนาที โกรทฮอร์โมนจะหลั่งในระยะนี้

-หลับฝันอีกระยะหนึ่งที่สำคัญคือ ช่วงหลับฝันร่างกายจะได้พักผ่อน แต่สมองจะยังตื่นตัวอยู่ นอกจากนี้การหลับฝันยังช่วยจัดระบบความจำในเรื่องของทักษะต่าง ๆ ดังนั้น การนอนหลับที่ดีต้องได้ทั้งชั่วโมงการนอนและคุณภาพการหลับด้วย

 

แม้ว่าบางคนนอนหลับเพียง 4 – 5 ชั่วโมง แล้วตื่นมาสดชื่น ต้องดูว่าเป็นแค่หลับตื้นหรือเปล่า เนื่องจากระยะการหลับตื้นทำให้สดชื่นได้ จึงต้องดูว่าความสามารถในเรื่องอื่น ๆ เป็นอย่างไร หากสังเกตว่าตื่นมาสดชื่นแต่ความสามารถในเรื่องอื่น ๆ ลดลง นั่นแสดงว่า ชั่วโมงการนอนไม่เพียงพอ ควรที่จะนอนหลับให้นานกว่านั้น เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์การนอนของแต่ละระยะให้นานขึ้น หรือบางคนนอนมากกว่า 7 – 8 ชั่วโมง แต่ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น เป็นไปได้ว่าชั่วโมงการนอนเพียงพอ แต่คุณภาพการนอนไมได้ คือได้แค่หลับตื้นไม่เข้าสู่ระยะหลับลึก ซึ่งต้องไปหาสาเหตุต่อว่า ทำไมไม่สามารถเข้าสู่ระยะหลับลึกได้เป็นเพราะอะไร

 

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากที่มารับการตรวจสุขภาพแล้วพบว่า มีปัญหาความผิดปกติในการนอนร่วมด้วยและพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นภัยเงียบที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ

 

อาการที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนหลับไม่เต็มที่ซึ่งพบได้บ่อย เช่น ง่วงและเพลียกลางวัน ประสิทธิภาพความคิดความจำลดลง ลืมง่าย กลางคืนหลับ ๆ ตื่น ๆ นอนกรนร่วมกับหยุดหายใจชั่วขณะ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ฉะนั้นการนอนหลับที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาแค่จำนวน 7 – 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และเวลาเข้านอน – ตื่นนอนที่เหมาะสม ไม่ควรนอนดึกหรือตื่นสายจนเกินไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ 


 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ