เฟด เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย กดดันไทย เสี่ยงบาทอ่อน-เงินไหลออกตลาดหุ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประธานเฟด ส่งสัญญาณเดินหน้านโยบายการเงินเข้มข้นชะลอเงินเฟ้อ แม้จะเกิดภาวะถดถอย คาดกระทบไทย เสี่ยงบาทอ่อน และเงินลงทุนไหลออก หาก กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม

นักลงทุนผวา “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยแรง กดดันตลาดหุ้นไทยผันผวนตามทั่วโลก

เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่เต็มที่ คาด กนง.ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อสูง

เมื่อวานนี้ 29 มิ.ย. 65 เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (Fed) กล่าวในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยมีใจความ คือ การทำ Soft Landing นั้นเป็นไปได้ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถทนต่อการขึ้นดอกเบี้ยของนโยบายการเงินได้ และหวังว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกอยู่ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง

โดย พาวเวลล์ กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ เฟด เข้าใจเรื่องเงินเฟ้อน้อยเกินไป และจะทำทุกทางเพื่อให้เงินเฟ้อปรับตัวลง แม้จะเกิดภาวะถดถอย (Recession) ก็ตาม

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส เผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า สอดคล้องกับ FED Watch Tool เครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มการปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยในการประชุมของเฟด ล่าสุดพบว่าตลาดคาดการณ์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม 0.75% ในเดือนหน้า (มีโอกาสถึง 87%) ตามด้วยปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนกันยายน (มีโอกาสถึง 67%) และมองดอกเบี้ยปลายปีจะอยู่ที่ระดับ 3.5%-3.75%

ด้านประเทศไทยรอบการประชุมปกติของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 จะเหลืออีกจำนวน 3 รอบ โดยรอบที่จะถึงเร็วที่สุดคือ วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ซึ่งช่วงเวลาที่เป็นสูญญากาศก่อนที่จะถึงการประชุมคาดว่าจะเห็นภาพการไหลออกของกระเเสเงินสด (Fund Flow) บวกกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนี่อง เพราะจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย กับ สหรัฐฯ มีโอกาสห่างมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ มากถึง 1.25% และหาก เฟด ยังปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอีกในรอบประชุมที่เหลือของปีนี้อีก 4 ครั้ง ก็จะส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำกว่าของสหรัฐฯ ราว 3% กดดันค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า และกระแสเงินสดมีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ได้เช่นกัน

ขณะที่เงินเฟ้อไทยมีโอกาสขยับขึ้น ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่ามีโอกาสแตะระดับ 10% ในเดือน สิงหาคม 2565 ทั้งจากมาตการช่วยเหลือราคาพลังงานจากภาครัฐทยอยลดลง และ ฐานคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่บนฐานที่ต่ำต่อเนื่องถึงเดือน สิงหาคม 2564 ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนต้องคอยติดตามว่าบริษัทจดทะเบียนจะสามารถรับมือภาวะเงินเฟ้อได้มากน้อยเพียงใด และจะนำไปสู่การปรับประมาณการลงหรือไม่

 

วันนี้ ( 30 มิ.ย.65) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index อยู่ในกรอบจำกัดที่ 1575-1590 จุด

 

 

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ