ก่อนทดลองไปนั่งฟรี 3 เดือน ทำความรู้จักรถไฟชานเมืองสายสีแดง เชื่อม บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เริ่มแล้ว 2 ส.ค. ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงฟรี 3 เดือน ( ส.ค.-ต.ค. ) สู่ชานเมือง บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน

วันที่ 2 ส.ค. 2564 นี้ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง หนึ่งในโครงการลงทุนทางรางขนาดใหญ่ จะเริ่มเปิดทดลองให้บริการ โดยให้ประชาชนร่วมใช้บริการฟรี ในช่วงทดลองนี้เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. ก่อนจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ ในเดือน พ.ย. 2564 เป็นต้นไป

ดีเดย์ 2 ส.ค.เปิดทางเชื่อมให้ผู้โดยสาร MRTบางซื่อ ต่อรถไฟฟ้าสีแดงได้

เปิดตารางเวลาเดินรถไฟฟ้าชานเมือง “สายสีแดง” เริ่ม 2 ส.ค.นี้

จุดเริ่มต้นโครงการ 

ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นโครงการในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) ระยะเร่งด่วนซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 กรอบวงเงิน 59,888 ล้านบาท

 

 

โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จากนั้นได้ดำเนินการประกวดราคาจนได้ผู้รับจ้างในสัญญาที่ 1 และ 2 รวมทั้งที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และที่ปรึกษาบริหารโครงการ

หลังได้รับอนุมัติโครงการ จากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน หรือ รถไฟชานเมืองสายตะวันออก-ตะวันตก เป็นหนึ่งโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในรูปแบบอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  มีแนวเส้นทางตามแกนหลักทิศตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากนครปฐม ถึง ชุมทางฉะเชิงเทราโดยที่แนวเส้นทางทั้งหมดอยู่ในเขตทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย

รถไฟชานเมืองสายสีแดงให้บริการเส้นทางไหนบ้าง

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จะแบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่

สีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิตระยะทาง 26 กิโลเมตร 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ,สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี,สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต ใช้เวลาเดินทาง 23 นาที

สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. มี  4 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, สถานีบางซ่อน, สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน ใช้เวลาเดินทาง 14 นาที ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางยังมีส่วนต่อขยายอีกในอนาคต

อัตราค่าโดยสาร หากหมดระยะทดลองฟรี   จะเริ่มต้นที่ 12 บาท สูงสุด 42 บาท 

รูปแบบรถไฟที่ใช้ในโครงการ

ตัวรถไฟ สายสีแดงเข้ม

- ตัวรถ ฮิตาชิ Series2000 (Class2000) เป็นรถปรับอากาศ

- ขนาดกว้าง 2.86 เมตร ยาว 20 เมตร ต่อตู้ สูงประมาณ 3.7 เมตร

- 6 ตู้ต่อขบวน มีทั้งหมด 15 ขบวน 90 ตู้

- ความเร็วสูงสุด 152 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

- สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18,213 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

- จุผู้โดยสารได้สูงสุด 1,366 คนต่อขบวน (คำนวณจากอัตราหนาแน่นที่ 3 คน/ตารางเมตร)

ตัวรถไฟ สายสีแดงอ่อน

- ตัวรถ ฮิตาชิ Series2000 (Class2000) เป็นรถปรับอากาศ

- ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 2.8-3.7 เมตร ยาว 20 เมตร สูงประมาณ 3.7 เมตร

- รูปแบบขบวนรถไฟมี 4 ตู้ต่อขบวน มีทั้งหมด 10 ขบวน 40 ตู้

- ความเร็วสูงสุด 114 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

- รองรับผู้โดยสารได้ 11,960 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

 

ภาพรวมโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ดำเนินการโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 3 เส้นทาง ดังนี้

สายสีแดงเข้ม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย) ระยะทาง 80.5 กิโลเมตร

สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) ระยะทาง 54 กิโลเมตร

แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 50.3 กิโลเมตร ปัจจุบันให้บริการในช่วงพญาไท-มักกะสันสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.5 กิโลเมตร

ประโยชน์ของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)

- ลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด บริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนน จำนวน 8 จุด และลดการเกิด อุบัติเหตุได้อย่างสิ้นเชิง

- สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการ เดินรถไฟทางไกลสายเหนือและสาย อีสาน โดยรองรับการเดินรถที่มีอยู่ ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการ เดินรถระบบรถไฟชานเมืองได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ซึ่งจะช่วย ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของ ประเทศได้อย่างมาก และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม

- คาดว่าเมื่อเดินรถระบบรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร จากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และเมื่อขยาย โครงการจากบางซื่อไปชุมทางบ้านภาชีในอนาคต จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร ที่คาดว่าจะมีประมาณ 449,080 คน/วัน

ที่มาข้อมูล : bangsue-rangsitredline

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ