แม่ค้าเขียงหมู ยันไม่เคยฉวยโอกาสขึ้นราคา วอน รบ.เร่งแก้ หวั่นพุ่งทะลุ 300 บาท


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (AFS) ยังไม่มีความชัดเจนจากกรมปศุสัตว์ แม้ว่า หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยืนยันว่า สาเหตุหมูตายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู แต่กรมปศุสัตว์ ยืนยันต้องรอตรวจสอบ ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นข้อมูลการตรวจซาก และไม่เคยรู้ว่ามีโรคระบาดนี้ ขณะที่ปัญหาเรื่องหมูตาย ทำให้หมูแพงมาก ล่าสุดราคาเนื้อหมูที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง และ ทำให้พ่อค้าแม่ค้า กลายเป็นจำเลยถูกต่อว่า ว่าฉวยโอกาสขึ้นราคา

แม่ค้าโอดราคาหมูพุ่ง กิโลละ 220 บาท แพงสุดในรอบ50 ปี ร้านอาหารบ่นแบกต้นทุนสูง

พาณิชย์ จ่อ คุมราคาหมู-ห้ามส่งออก ถ้าราคายังขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 เสียงสะท้อนของ นางสาวนงค์นุช ถาวระ ผู้ค้าเนื้อหมูในตลาดห้วยขวาง ที่ขายหมูมานานกว่า 30 ปี ยืนยันว่า ผู้ค้าหมูไม่ได้กำไรจากราคาหมูที่ปรับสูงขึ้น เพราะราคาหมูที่ปรับสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท ทำให้ลูกค้าลดลง และหลีกเลี่ยงไปบริโภคอย่างอื่นที่มีราคาถูกกว่า

ขณะที่รายจ่ายของเขียงหมูมีราคาเท่าเดิม อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน เนื้อหมูไทยที่หายไปจากระบบ

เพื่อปรับสมดุลกลไกราคาเนื้อหมูให้ลดลง ก่อนที่ราคาเนื้อหมูจะขยับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งหากถึงจุดนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมูจะเดือดร้อนมากกว่านี้ เพราะลูกค้าคงหันไปบริโภคอย่างอื่นแทน

ทีมข่าวยังได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการโรงเชือดหมู เล่าว่า หมูที่ตอนนี้ซื้อมา เนื้อน้อยลงจากเดิม ส่วนใหญ่มีแต่มันหมู สาเหตุเป็นเพราะ หมูที่ถูกนำมาขายในตลาดตอนนี้ เป็นหมูที่ยังโตไม่เต็มที่ แต่ต้องรีบนำออกมาขาย เพราะ ของขายตลาด

 

โดยวงจรชีวิตของหมู ช่วงที่น้ำหนัก 50-70 กิโลกรัม หมูจะกินเก่ง ทำให้มีไขมันเยอะ  แต่ถ้าเลี้ยงต่อไป จนหมูหนัก 80-90 กิโลกรัม ฟาร์มหมูจะปรับสูตรอาหารลดไขมัน สร้างเนื้อ  แต่สถานการณ์ตอนนี้ทำให้เกิดการเร่งขาย เป็นปัญหาที่ต่อยอดมาจากการที่หมูตายไปจำนวนมาก ทำให้หมูขาดตลาด

ส่วนประเด็นเรื่องต้นตอหมูตาย ล่าสุดวันนี้ นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงข่าวออนไลน์ ยืนยันอีกครั้ง ว่า ไม่เคยเห็นหนังสือที่ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยแจ้งว่าพบการซากหมูที่ตายแล้วติดเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยจะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และจะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ย้ำว่ากรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจ

อธิบดีกรมปศุสัตว์  กล่าวต่อว่า ใน 2 วันที่ผ่านมา ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเลือดสุกรหาเชื้อโรค AFS ในพื้นที่เสี่ยง 10 ฟาร์ม เก็บตัวอย่าง 305 ตัวอย่าง,  โรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง เก็บตัวอย่าง 5 ตัวอย่าง ตอนนี้กำลังรอผลการตรวจจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติว่าผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะทราบผลภายใน 2 วันนี้ จากนั้นจะดำเนินการแถลงข่าวให้เร็วที่สุด

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย วันนี้เดินทางไปยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ  ป.ป.ช. ไต่สวนสอบสวนเอาผิดอธิบดีกรมปศุสัตว์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมองว่า เข้าข่าย ทุจริตต่อหน้าที่ ปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ AFS

นายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีหมูตายมีมานานแล้ว รวมถึง หนังสือจากห้องแล็ปของคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ระบุสาเหตุที่หมูตายมาจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู  แต่กรมปศุสัตว์ไม่ออกมาชี้แจง

นายศรีสุวรรณ โจมตีว่า การปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคทำไปเพราะต้องการโอบอุ้มเอกชนรายใหญ่ หากประกาศว่าเกิดการระบาดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อหมู และต้องจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ  ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายย่อยต้องเลิกอาชีพเลี้ยงหมู เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว 

 

ทีมข่าวพีพีทีวี พบว่า ตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลพูดคุยกันเรื่อง โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูมาตลอด มีการของบประมาณเพื่อดำเนินการ โดนใช้คำว่า ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อ “ป้องกัน” โรค  เช่น เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนรับมือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมสนับสนุนงบประมาณรวม 148 ล้านบาท (โดนจะแบ่งจ่าย 3 ปี )

จากนั้น มีนาคม 2563 มีการของบประมาณเพิ่ม อีก 523 ล้านบาท และ กุมภาพันธ์ 2564 มีการอนุมัติประมาณ เพื่อใช้ชดเชยให้เกษตรกรที่ทำลายหมูตามมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู 279 ล้านบาท ส่วน กรกฎาคม 2564 ก็อนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 140 ล้านบาท แต่งบประมาณทั้งหมดถูกระบุว่าเป็นงบสำหรับป้องกันการระบาด ไม่ใช่การแก้ปัญหาการระบาด สะท้อนว่า จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการระบุชัดว่า ไทยพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู จากทางภาครัฐเลย มีแค่การระบุจากกลุ่มสัตวแพทย์

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ