3 หน่วยควงแขนแถลง "กทม." ย้ำ หากวัคซีนมาฉีดต่อได้ทันที ไร้ปัญหา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ศปก.ศบค.นำกรมควบคุมโรค กทม.เปิดโต๊ะแถลงสางปมจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ไร้ปัญหาทำงานร่วม "อัศวิน" ย้ำ หากวัคซีนมาพร้อมเดินหน้าฉีดต่อทันที

เมื่อเวลา 11.40 น. ของวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. นำ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ร่วมกันชี้แจงปมปัญหาการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อคลายความสงสัยของประชาชน

ประชาชนไม่รู้ เลื่อนฉีดวัคซีน ไม่มีประกาศในระบบหมอพร้อม

กทม.ประกาศคลายล็อกเปิดกิจการ/กิจกรรม 5 ประเภทมีผลทันที

นพ.โอภาส ยืนยัน จัดหาวัคซีนยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในปี 2564 ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีการนำเข้าวัคซีนแล้ว 8.1 ล้านโดส เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า 2.1 ล้านโดส, วัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส

ปัจจุบันฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่เริ่มฉีดถึงวันที่ 13 มิ.ย. 64 จำนวน 6,188,124 โดส การฉีดวัคซีนสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 1,716,394 โดส คิดเป็น 27.7% ของวัคซีนที่มีอยู่ทั้งหมด แบ่งเป็นเข็มแรก 1,346,993 โดส เข็มที่สอง 369,401 โดส ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ร้อยละ 17.5 ของเป้าหมายที่วางไว้

นพ.โอภาส ระบุว่า ตามธรรมชาติการผลิตวัคซีนที่เป็นชีววัตถุ มีความไม่แน่นอนในการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้การตรวจสอบ การผลิต มีมาตรฐานสากล จึงต้องควบคุมคุณภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจัดสรรต้องคำนึงถึงพื้นที่ จำนวนประชากร และสถานการณ์ระบาด แบ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด รวมถึงนโยบายอื่นของรัฐบาลเป็นหลัก และการจัดลำดับความสำคัญก็จะให้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ และการควบคุมโรค

ปัจจุบันได้รับวัคซีนเกือบครบ 100% ส่วน ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัคร ก็จะได้รับการฉีดในลำดับถัดไป ส่วนการฉีดวัคซีนที่เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 เป็นการฉีดให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เป็นหลัก โดยเปิดจองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมล่วงหน้าตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และยังมีการฉีดให้กับกลุ่มอื่นๆ ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ครู บุลลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมการเปิดเทอม คนทำงานขนส่งสาธารณะ และแรงงานผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

"เดือนมิถุนายนมีการกระจายวัคซีนซึ่งเราวางแผนไว้อย่างน้อย 2 งวด ครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ งวดแรกที่มีการฉีดวันที่ 7- 20 มิ.ย. ที่จะถึง จะมีการส่งวัคซีนไป 3 ล้านโดส ประกอบด้วยวัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 ล้านโดส จังส่งไปยังกรุงเทพมหานครแล้ว 5 แสนโดส ประกอบด้วยวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า 3.5 แสนโดส วัคซีนของบริษัทซิโนแวค 1.5 แสนโดส นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมแห่งชาติ ส่งไปอีก 3 แสนโดส ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะฉีดในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่งของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. อีก 1.5 แสนโดส ก็จะฉีดในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อม 76 จังหวัด จะมีการส่งวัคซีนไป 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่างๆ ขององค์กรภาครัฐ อย่างที่นำเรียนกลุ่มขนส่งสาธารณะ กลุ่มทหาร ตำรวจที่ต้องดำเนินการกักกันผู้ป่วยที่เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ และครูอีก 1 แสนโดส จากนี้ยังมีวัคซีนที่จัดไว้รองรับเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดซึ่งขณะนี้มีอยู่หลายพื้นที่ เช่น จ.เพชรบุรี เป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่ได้กระจายไปงวดแรก" นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนงวดที่สอง นพ.โอภาส อธิบายว่า ตามกำหนดจะต้องกระจายไปอย่างช้าที่สุด 21 มิ.ย. - 2 ก.ค. 3.5 ล้านโดส จะเป็นวัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1.5 ล้านโดส รวมจำนวนทั้งหมดเป็นวัคซีนที่จะสามารถกระจายไปตามกำหนดคือ 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน ยืนยันว่าสัปดาห์แรกสามารถกระจายได้แล้ว 3 ล้านโดส และอีกครึ่งเดือนหลังจะสามารถกระจายได้อีกอย่างน้อย 3 ล้านโดสเพื่อให้เป็นไปตามแผน

ส่วนภาพรวมการกระจายวัคซีนทั้วประเทศ นพ.โอภาส ระบุว่า ได้กระจายไปจังหวัดต่างๆ เกือบ 8 ล้านโดส มีการฉีดไปแล้ว 6 ล้านโดส จะทยอยฉีดไปตามเป้าหมายและวัคซีนที่มี โดยคาดการณ์ว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดสในภาพรวมของประเทศ

นพ.โอกาส ยังระบุว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่ใช้ในสภาวะฉุกเฉินอยู่ ไม่ได้มีอยู่ในท้องตลาด การสั่งซื้อการจอง จะเป็นการผลิต และจัดส่งทันที เพื่อให้ถึงประชาชนได้เร็วที่สุด ดังนั้นบริษัทวัคซีนที่ทำสัญญา จะดำเนินการจัดส่งเป็นงวดตามสัญญาที่กำหนด ซึ่งขณะนี้วัคซีนหลายบริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ และไม่ขอตอบระบุวัน หรือ ห่วงเวลา เพราะการตรวจสอบคุณภาพเป็นเรื่องที่ผ่อนปรนไม่ได้ และจะไม่ยอมให้เอาวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพมาฉีดให้กับประชาชน แต่เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 7-14 มิ.ย. 64 กรมควบคุมโรคได้จัดส่งวัคซีนให้ กทม. 5 แสนโดส โดยซิโนแวค 1.5 แสนโดส เป็นการนำมาใช้ฉีดเข็มที่สอง 126,000 โดส และอีก 2.4 หมื่นโดส ไว้ใช้สำหรับควบคุมโรคหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่ได้รับมา 3.5 แสนโดส ได้แบ่งแจกจ่ายผู้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม วันที่ 7-14 มิ.ย. ุ4 จำนวน 182,000 โดส และเข็มที่สองที่ฉีกทดลองไว้ก่อน 52,000 โดส ผู้ป่วยติดเตียง และคนชรา 8,000 โดส เหลือสำรองไว้เล็กน้อย และอีก 1 แสนโดส จัดสรรให้กับผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ไทยร่วมใจ

"ที่แรกก็คาดหวังว่าเราจะได้วัคซีนมาก่อนวันที่ 14 มิถุนายน แต่ปรากฏว่าอย่างที่ท่านอธิบดีได้พูดไปแล้วว่า มันอาจจะขัดข้องทางเทคนิกของผู้ที่จะส่งให้ กระทรวงสาธารณสุขก็เลยยังไม่ได้รับวัคซีนตรงนี้ กรุงเทพมหานครก็แก้ปัญหาโดยการแจ้งไปทางผู้ที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 15 - 21 มิ.ย. ให้เลื่อนไปก่อน ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.เป็นต้นไป ทาง กทม. จะหยุดฉีด โดยจะฉีดให้เร็วที่สุดหลังจากที่ได้รับ สมมติว่าวัคซีนมาวันไหน วันรุ่งขึ้นจะฉีดให้เลย ผู้ที่เสียสิทธิไม่ได้ฉีดวันที่ 15 - 20 มิ.ย. ถ้า 20 มิ.ย. เราได้มา นัดฉีดวันที่ 21 มิ.ย. เรานัดฉีด พวกนี้จะเป็นกลุ่มแรกกลุ่มต้นๆ โดยท่านไม่ต้องวนไปต่อท้าย โดยท่านจะได้รับการฉีกดก่อนคนอื่นเลย" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน ระบุต่อไปว่า สำหรับกรุงเทพมหานครได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุขเยอะ เช่นผู้ประกันตน ม.33 ก็ให้กระทรวงแรงงานมาช่วยฉีด ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 2.1 แสนคน การบริการขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงคมนาคม ก็ไปฉีดให้ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งก็เป็นคนใน กทม. และยังเป็นการแบ่งเบาภาระของกรุงเทพมหานครไปด้วย ซึ่งศักยภาพของ กทม. จะฉีดเดือนละ 2.05 ล้านโดส จึงเป็นเรื่องยากมาก

สะพัด! กทม.-สธ.เกาเหลา วัคซีน - คลายล็อก ทำประชาชนสับสน ชงนายกฯ เด้ง "บิ๊กกทม."

"เหตุผลที่ผมบอกว่าให้หมอพร้อมไปที่แรก 1.82 แสนโดส เพราะเราดูแล้วมีเท่านั้น เมื่อสักครู่ได้คุยกับอธิบดีกรมควบคุมโรคเรียนท่านว่าในส่วนของวันที่ 15 - 20 มิ.ย. เราไปดูแล้วที่ลงทะเบียนหมอพร้อมไว้ มันระบุวันเดือนปีไว้เรียบร้อยแล้ว 15 - 20 มิ.ย. มีคนละทะเบียน 1.4 แสนคน และลงทะเบียนไทยร่วมใจ 1.7 แสนคน รวม 3.2 แสนคน ตรงนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งอะไรเลย มีแต่สาธารณสุขที่จะช่วย กทม. อย่างที่ได้เรียนไปแล้ว ให้แรงงานมาช่วย ให้กระทรวงคมนาคมมาช่วยที่สถานีกลางบางซื่อ กระทรวงอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ มาช่วย ที่ 11 มหาวิทยาลัย ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขไว้ด้วย เบื้องต้น กทม. ได้รับเมื่อไหร่ เราจะฉีดวันรุ่งขึ้นทันที" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ส่วนเรื่องการผ่อนคลายกิจการและสถานที่ 5 ประเภท ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ยืนยันว่า คำสั่งจะออกมาในวันนี้ และมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนกิจการกิจกรรมและสถานที่อีก 31 ประเภท ก็จะยังคงมาตรการให้ปิดต่อไป 

ขณะ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ยืนยันช่วงเวลาที่ผ่านมา ศบค. บูรณาการร่วมกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และทุกส่วน เพื่อดูแลประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ ต้องการฉีดวัคซีนให้คนไทย ให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากร หรือประมาณ 50 ล้านคน ต้องใช้วัคซีนทั้งหมด 100 ล้านโดส มีการเตรียมการเรียบร้อย แบ่งเป็น ซิโนแวค 8 ล้านโดส แอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอนสันแอนด์จอนสันที่มีประสิทธิภาพเป็น 2 เท่า 5 ล้านโดส รวมในขณะนี้ 99 ล้านโดส และยังจะมีการจัดหาเพิ่มเติมอีก ยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดประชาชน 50 ล้านคนในปี 2564 แน่นอน

ส่วนแผนการฉีดวัคซีน พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า จากการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เดือนมิถุนายนจะมีการฉีก 6 ล้านโดส และในเดือนต่อๆ ไปจะฉีดให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ฉีกเข็มแรกครบ 50 ล้านคน ภายในเดือนกันยายน หรืออย่างช้าเดือนตุลาคม

หมอชนบท แนะ ฉีดวัคซีน คนแก่-กลุ่มเสี่ยง ลดอาการหนัก

"การวางแผนที่ดีที่สุด และไม่เกิดปัญหาเลยคือได้วัคซีนมาแล้ว ค่อยมาวางแผนฉีด แต่มันจะทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ เพราะฉะนั้น ศบค. กับกระทรวงสาธารณสุข จึงวางแผนล่วงหน้าว่า ประมาณการหรือแผนจัดหาวัคซีนจะเป็นอย่างไร จึงวางแผนล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนวัคซีนไม่ได้เข้ามาตามแผน มันก็ต้องมีการปรับแผน เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเตรียมการล่วงหน้า มีการจองวัคซีน และคลาดเคลื่อนในการเข้ามาตามแผน ก็ทำให้มีการเลื่อนกันบ้าง ตรงนี้ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนด้วย แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงไปแล้ว ในภาพรวมของเดือนก็ยังเป็นไปตามกำหนดการ เช่นเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส ก็ยังเป็นไปตามนั้น เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนบางส่วนอาจจะเข้าใจว่า 6 ล้านโดสมาตั้งแต่ต้นเดือน ความจริงอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงไปแล้วว่าจะทยอยมาเป็นงวด ๆ และยังอยู่ในกรอบของเดือนมิถุนายน"

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล ยืนยันว่า ศบค. ทำงานกับทุกหน่วยงาน และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมยืนยันว่าเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ไม่มีเรื่องการเมือง ทุกหน่วยงานดำเนินการตามนโยบายของ ศบค. เป็นหลัก

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ