สุทธิชัย หยุ่น : แก้รัฐธรรมนูญกับมหกรรมนักเลือกตั้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"สุทธิชัย หยุ่น " วิเคราะห์ เมื่อวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นสะท้อนคุณภาพนักการเมืองไทย ชี้ให้เห็นประเด็นการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่พ้นวังวนการเมืองของนักเลือกตั้ง

"สุทธิชัย หยุ่น" วิเคราะห์ ช่วงนี้ไปไหนมาไหนจะได้ยิน 2 หัวข้อหลักที่มีการคุยกันในสภากาแฟ เรื่องแรก เปิดประเทศใน 120 วันได้ไหม เรื่องที่ 2 จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งเรื่องของวัคซีนโควิด-19 การกลายพันธุ์ของเชื่อโควิด-19 เป็นเรื่องที่ทุกบ้านวิพากษ์วิจารณ์กัน  ขณะที่เกือบทุกบ้านสงสัยว่าการเมืองของเรา จะทันกับโควิด-19 หรือไม่ โควิดจะกระทบต่อการเมืองอย่างไร ขณะนี้มีข่าวสาร ทุกพรรคการเมืองได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

สุทธิชัย หยุ่น : นายกฯไทยต้องต่อสายถึง "ไบเดน - สี จิ้นผิง - ปูติน"

สุทธิชัย หยุ่น : ใช้วิกฤตโควิดสร้างผู้นำทุกระดับ

ทั้งหมดนับไปนับมา มีไม่น้อยกว่า 14 ร่างฯ 

เราคงคาดหวังว่า 14 ร่างฯ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนคนไทย มีสิทธิ มีเสียงในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่สะท้อนความต้องการของประชาชน อย่างแท้จริง

เราคงหวังว่าพรรคการเมืองคงต้องการยกระดับคุณภาพของการเมือง เพื่อสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน ตั้งแต่ระดับรากหญ้า ไปจนถึงคนทำงานทุกวิชาชีพ

"แต่ถ้าเราดูความเคลื่อนไหว ฟังลีลาท่าทางของแต่ละพรรคแล้ว มันเกือบจะไม่ใช่การยกระดับคุณภาพการเมือง มันกลับกลายเป็นว่าเราเห็นนักเลือกตั้ง มาถกแถลงหาทางสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งคราวหน้า มากกว่าการที่จะมาปรึกษาหารือกันว่า มีมาตราอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค ต่อการที่ประชาชนคนไทยจะสามารถมีสิทธิ มีเสียง และมีโอกาสที่เท่าเทียบกันมากขึ้น"

เราเห็นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างๆนั้น มีแต่การสะท้อนว่า พรรคนั้นพรรคนี้ต้องการอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อว่าในการเลือกตั้งคราวหน้า ตัวเองจะได้เปรียบมากกว่าอีกพรรค

"เราเห็นว่ากติการเดิมที่เป็นปัญามากมายทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง สิทธิพื้นฐานของประชาชน ไม่ได้รับการแก้ไข ในการเสนอ รัฐธรรมนูญครั้งนี้เลย แม้แต่น้อย กลับกลายเป็นว่าไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่กลายเป็นเรื่องระหว่างการเมืองเก่า กับการเมืองใหม่"

การเมืองเก่า หมายถึง การเมื่องที่มีนักการเมือง ที่อาชีพหลักคือทำอย่างไรถึงจะได้คะแนนมากกว่าอีกพรรคหนึ่ง เพื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อเข้ามามีอำนาจบริหาร เพื่อมีสิทธิบริหารงบประมาณ เพื่อให้กลุ่มก้อนของตัวเองนั้นมีโอกาสที่จะเสวยอำนาจ

เราไม่เห็นความพยายามที่ขยับ เคลื่อนที่ ให้เกิดความหวังของประชาชน ว่าเรากำลังต้องสู้กับความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก เรากำลังต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ เรากำลังต้องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ทันกับความปั่นป่วนจากเทคโนโลยี

เรากำลังไม่เห็นพรรคการเมืองไหน บอกว่า เราต้องแก้ไขกติกาเพื่อว่าจะได้เรียนรู้ว่าบทเรียนที่ได้จากโควิด-19 ซึ่งทำให้เราถูกเขย่า ในแง่ของความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม การเมือง

เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เราต้องมีวิธีการ ที่จะใช้เทคโนโลยีในการสู้กับ ดิจิทัล ดิสทรัปชัน หรือความปั่นป่วนที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีก่อนโควิด พอโควิดมา ทั้งโลกหยุดนิ่ง บทเรียนที่สำคัญสำหรับประเทศไทยคือ เราทำแบบเดิม เราพึ่งพารายได้จากของเดิมๆ การท่องเที่ยว การส่งออก 2 อย่าง พอเครื่องยนต์ 2 เครื่องนี้ดับ เครื่องบินประเทศไทย เกือบจะหาทางร่อนลงไม่ได้เลย เราหวังว่าการเมืองจะแก้ปัญหาเหล่านี้

"เราหวังว่าการเมืองจะมองไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ อย่างกล้าคิดนอกกรอบ อย่างที่จะใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง แต่เรากลับเห็นการเมืองสีเทา เรากลับเห็นการเมือง แม้กระทั่งความหวังเดิมที่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของการเมืองแบบใหม่ ที่หวังจะเปลี่ยน เห็นกติกาของคนทุกหมู่เหล่า ในประเทศ มีความภูมิใจ ว่าคำว่าการเมือง จะไม่ใช่เรื่องสกปรก คำว่าการเมือง จะไม่ใช่เรื่องของการแก่งแย่งอำนาจ  หรือแย่งงบประมาณ หรือที่เขาเรียกกันว่าแบ่งเค้กกันอีกต่อไป"

การเมืองควรจะสะท้อนถึงคนรุ่นใหม่ คนรุ่นกลาง คนรุ่นเก่า มองตรงกันว่าประเทศเราจะไปทิศทางใด

"เพราะว่าถ้าหากคุณภาพการเมืองไม่ดีขึ้น หากการเมืองยังหมายถึงกลุ่มก้อนเดิมๆ มีนักการเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมืองอาชีพ โดยไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารวิกฤตมาก่อน พอเจอวิกฤตเช่นกรณีโควิด เราเห็นชัดเจนเลยว่า นักการเมืองจำนวนไม่น้อย ไม่มีความคิด ความอ่าน ความรู้ ข้อมูล หรือกระบวนการคิด ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้"

มีก็มีเพียงแต่หยิบเอาพาดหัวสื่อ เสนอความคิดเห็นที่เป็นในลักษณะ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แต่ไม่มีความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐาน ข้อมูลที่แท้จริง ไม่มีความสามารถในการบริหารวิกฤต เพราะว่าเรายังมีคนกลุ่มเดิมๆ

"สังเกตุไหมว่าการต่อรองอำนาจทางการเมืองสมัยนี้ ไม่ใช่เพียงการสู้ระหว่างความคิดใหม่ ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง กับความคิดเก่าที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการรวมหัวกัน เกือบจะทุกกลุ่มทุกก้อนการเมือง ว่าต้องการแก้กติการ รัฐธรรมนูญมาตรานี้ เพราะว่าฉันจะมีโอกาสได้ที่นั่งมากกว่าเดิม

"ฉันต้องการให้แก้ตรงนี้เพราะว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ฉันเห็นว่า กติกาเดิมฉันเสียเปรียบคุณ ดังนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง"

"เราไม่ต้องการเมืองสีเทาๆ เราไม่ต้องการ การเมืองที่เป็นการแข่งขันกันเพื่อเอาชนะที่นั่ง เราต้องการแนวทางนโยบายเราต้องการเห็นว่าคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ไม่ใช่นักเลือกตั้งอย่างเดียว แต่เป็นนักบริหาร เป็นนักนวัตกรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ศรัทธาการเมือง เราผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่า การเลือกตั้ง วงจรอุบาทว์ของรัฐประหารการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ร่างกันไม่รู้กี่ฉบับ"

"ลงท้ายเราเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง ในแง่ที่ดีขึ้นไหม เกี่ยวกับการเมือง"

"เราหลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ตื่นขึ้นมาวันนี้ เราได้ยินได้ฟัง การถกแถลงเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องการเมือง เราจะนึกว่าประเทศไทย ไม่ได้ไปไหนเลย นี่คือความน่าเศร้า นี่คือสิ่งที่ผมหวังว่า คนที่อยู่ในแวดวงการเมืองจะตระหนักถึงความรู้สึกของประชาชน ที่ไร้ความศรัทธาต่อคุณภาพของการเมืองที่พึงคาดหมาย"

"และถ้าหาก การเมืองยังอยู่ในลักษณะนี้และเสื่อมสิ้นลงไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งในสังคม ความคาดหวังที่สูง แต่ของจริงที่ต่ำ จะทำให้ ความเป็นไปได้ของประเทศไทย ที่จะรวมตัวกันผนึกกำลังกันเพื่อสร้างประเทศหลังจากโควิดแล้ว เราสามารถ ลุกขึ้นมาแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ที่มีความหวังว่าเราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ได้  ถ้านักการเมืองวันนี้ ที่มองเพียงการเลือกตั้งคราวหน้าไม่มองอย่างรัฐบุรุษที่มองถึงอนาคตประเทศชาติ เราค่อนข้างที่จะสิ้นหวังแล้วครับ"

หวังว่าความสิ้นหวังนี้จะไม่เกิดขึ้น ผมหวังว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ จะสะท้อนให้เห็นว่า คุณคิดแบบเก่า วางแผนแบบเก่า เอาชนะคะแนนแบบเก่า คิดแบบนักเลือกตั้งแบบเก่า ประเทศชาติรอดยากครับ!!

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ