แพทย์ชนบท ชี้ WHO รับรองมาตรฐานชุดตรวจ “โฮมยูส”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังผู้นำเข้า Lepu ที่ชนะการประมูลชุดตรวจโควิดแบบ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ออกมาท้วงนายกรัฐมนตรี ว่าปัจจุบันยังไม่มี ATK แบบ Home Use ยี่ห้อใด ได้รับการรับรองจาก WHO ล่าสุดชมรมแพทย์ชนบท เห็นแย้งว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนด สามารถใช้ได้ทั้ง Professional Use และ Home Use

แพทย์ชนบท แถลง อภ. อย. รพ.ราชวิถี สธ. ต้องรับผิดชอบ หากจัดซื้อ ATK แล้วเกิดความเสียหาย

สรุปประเด็น ชี้แจง การจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด

บริษัทชนะประมูลจัดซื้อATK ร่อนจดหมายถึงนายกฯ ปมกำหนดหลักเกณฑ์ชุดตรวจโควิด-19

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 ทีมข่าว PPTV พูดคุยกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ถึงข้อสังเกตที่ บริษัทตัวแทนจำหน่าย Lepu ที่มีต่อมติ ครม.และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องหลักเกณฑ์การจัดซื้อชุดตรวจโควิดแบบ ATK  นพ.สุภัทร ระบุว่า มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เป็นมาตรฐานสำหรับ Professional Use และ Home Use  เพราะแถบของชุดตรวจ น้ำยาตรวจ เป็นเทคโนโลยีเดียวกันหมด

ต่างกันแค่ความยาวของไม้ที่ใช้ตรวจ ส่วนความแม่นยำขึ้นอยู่กับเทคนิคการตรวจ และปริมาณเชื้อที่อยู่ในร่างกายของแต่ละคน ดังนั้นมติของครม. และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จึงไม่ส่งผลต่อการจัดซื้อ ATK สำหรับ Home Use แต่อย่างใด

 

ส่วนกระแสข่าวที่ ชมรมแพทย์ชนบท บอกว่ามีฝ่ายการเมืองพยายามวิ่งเต้น ขอกลับ มติครม. ปมจัดซื้อชุดตรวจโควิด  ทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลด้านกฎหมายไปที่ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  บอกว่าการกลับมติ ครม. หรือ ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี  สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้  แต่ต้องมีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ และต้องดูว่าส่งผลกระทบกับใครบ้าง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง  หากเกิดความเสียหาย บริษัทที่ได้รับผลกระทบ สามารถฟ้องร้องค่าเสียหาย แต่ก็ต้องดูรายละเอียดในTOR ควบคู่ไปด้วย เบื้องต้นคนที่สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ คือ คนที่มีอำนาจในการลงนามในสัญญาจัดซื้อ ส่วนขั้นตอนการแก้ไข หากเป็นมติ ครม. การแก้ไขต้องมีการประชุมคณะรัฐมนตรีใหม่ แต่ถ้าเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ทันที

“คือจริง ๆ การฟ้องร้อง ก็ต้องฟ้องร้องกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจในทางปกครอง ถ้าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจโดยใช้มติของคณะรัฐมนตรี ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือคณะรัฐมนตรี ที่จะต้องถูกดำเนินคดี ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบราชการ ก็ต้องดูว่าในระบบราชการ มีใครเกี่ยวข้องกับอำนาจตัดสินใจไหม แต่ถ้าไม่มีอำนาจมาเกี่ยวข้อง แต่ปฎิบัติตามการตัดสินใจ อันนี้ก็อาจจะไม่ต้องรับผิด ดังนั้นต้องไปไล่เรียงดูในกระบวนการ ในรายละเอียดว่าในการจัดซื้อจัดจ้าง มีใครเกี่ยวข้องบ้างนะครับ” รศ.ยุทธพร กล่าว

สุดท้ายหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือ มติครม. เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รศ.ยุทธพร เชื่อว่าจะไม่เกินการคาดเดาของประชาชน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลถูกตั้งคำถามเรื่องการทำงาน และการสื่อสารที่ขัดแย้งกันเองหลายครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลเสียความน่าเชื่อถือลงไปอีก

ขณะที่ นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่าย Lepu ยอมรับว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนทำให้ต้องเลื่อนการเซ็นสัญญาจัดซื้อกับองค์การเภสัชฯ ออกไปถึง 2 รอบ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจกับภาครัฐ จนรู้สึกเข็ดหลาบกับการทำงานร่วมกับภาครัฐ

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ