ไฟเซอร์ อิงค์ คาดปีนี้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ 50 ล้านชุด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 “BNT162b2” ความหวังของมนุษยชาติ คาดผลิต 50 ล้านชุดแรกได้ในปีนี้ แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องการขนส่ง

ความหวังมวลมนุษยชาติ วัคซีนโควิด-19 “BNT162”

คู่รักนักวิจัย เบื้องหลังความสำเร็จวัคซีนโควิด-19 ของ Pzifer และ BioNTech

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2020 บริษัท Pfizer จากสหรัฐอเมริกา ร่วมกับบริษัท BioNTech จากเยอรมนี ได้ออกมาประกาศผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ทางคลินิกเฟสที่ 3 ในมนุษย์ สร้างความฮือฮาให้กับทั้งโลก เพราะถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการคิดค้นวัคซีน หากผลลัพธ์ที่ได้รับการตรวจสอบซ้ำเป็นที่น่าพอใจ ก็จะนำไปขึ้นทะเบียน ผลิต และจัดจำหน่ายสู่ท้องตลาดต่อไป

บริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนตัวนี้ได้ 50 ล้านชุดภายในปีนี้ และคาดว่าจะผลิตได้ถึง 1,300 ล้านชุดภายในปีหน้า โดยมีประเทศต่าง ๆ ได้สั่งจองวัคซีน BNT162b2  ไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ล่าสุดสหภาพยุโรปเผยว่า มีการเตรียมลงนามในข้อตกลงซื้อขายวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท Pfizer และ บริษัท BioNTech เป็นจำนวน 300 ล้านชุดในเร็ว ๆ นี้  หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาเพื่อซื้อวัคซีนป้องกันโควิดมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก ๆ คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สถานดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด

วัคซีนโควิด-19 ตัวดังกล่าวมีชื่อว่า “BNT162b2” ผลิตขึ้นโดยนำ mRNA (messenger RNA) ที่จำเพาะต่อโปรตีนหนามของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 มาดัดแปลงและทำให้บริสุทธิ์ จากนั้นห่อหุ้มด้วยไขมันอนุภาคนาโน (Lipid Nanoparticle) ป้องกันไม่ให้ mRNA ถูกย่อยสลายจากกระบวนการในร่างกาย

หลังจากที่ฉีดวัคซีน BNT162b2 เข้าไปในร่างกาย mRNA ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของพันธุกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน จะเข้าไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์สร้างแอนติบอดีที่ใช้ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2

ข้อดีของการใช้เทคโนโลยี mRNA ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คือ สามารถลดขั้นตอนและร่นระยะเวลาจากเดิมได้มาก เพราะการสร้างวัคซีนแบบเก่าจะต้องเพาะเชื้อไวรัสก่อน แล้วทำให้เชื้อนั้นอ่อนแอ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่าและใช้ ระยะเวลามากกว่า

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา บริษัท Pfizer ได้เริ่มทำการทดลองทางคลินิกเฟสที่ 3 ของวัคซีน BNT162b2 โดย ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 มีผู้เข้าร่วมทดสอบแล้วทั้งสิ้น 43,583 ราย จากหลายหลายชาติพันธุ์ จาก 6 ประเทศซึ่งกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี โดยใน 43,583 ราย มีผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวน 38,955 ราย ที่ได้รับวัคซีนเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ในการทดลอง ผู้เข้าร่วมทดสอบได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง คือ วัคซีน BNT162b2 และอีกกลุ่มได้รับวัคซีนหลอก (Placebo) เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่าง 3 สัปดาห์ระหว่างครั้งแรกและครั้งที่สอง

ผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่า วัคซีน BNT162b2 มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัส SARS-CoV-2 ได้สูงกว่าร้อยละ 90 ในช่วง 7 วันหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ให้แก่กลุ่มผู้ทดสอบ ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสามารถเริ่มต้านทานไวรัสได้หลัง 28 วัน นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นการให้วัคซีนครั้งแรก

นอกจากนี้ การทดสอบยังไม่พบปัญหาในด้านความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย การทดสอบทางคลินิกในขั้นสุดท้ายนี้ยังจะดำเนินต่อไป โดยท้ายสุดจะเป็นการทดสอบกับผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จำนวน 164 คน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีน BNT162b2 ในกลุ่มผู้ทดสอบที่มีประวิติเคยติดเชื้อมาก่อน และทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด-19 ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ซึ่งผลการทดสอบครั้งสุดท้ายนี้อาจส่งผลให้ค่าประสิทธิภาพของวัคซีนเปลี่ยนแปลงไปจากผลครั้งล่าสุดได้

หลังจากนี้ บริษัท Pfizer มีแผนที่จะยื่นขออนุมัติการผลิตวัคซีนจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน 2020 หลังจากที่ได้ข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยของวัคซีนที่เพียงพอ

จากนั้นบริษัท Pfizer และบริษัท BioNTech มีแผนที่จะส่งข้อมูลการทดลองวัคซีนทางคลินิกเฟสที่ 3 ให้คณะผู้เชี่ยวชาญอ่านและตรวจสอบซ้ำก่อนนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer และบริษัท BioNTech จะประสบผลสำเร็จอย่างมาก แต่ยังมีข้อกังวลในประเด็นการขนส่งและจัดจำหน่ายไปยังพื้นที่ ภูมิภาค และประเทศ ต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นยังไม่เสถียร ดังนั้นจึงยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอิทธิพลของอุณหภูมิที่อาจะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

ด้วยเหตุนี้ ในการขนส่งทุกขั้นตอนก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องจัดเก็บวัคซีนภายใต้อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส แต่ปัจจุบันยังไม่มีระบบการขนส่งที่มีระบบความเย็นที่สามารถเก็บสินค้าภายใต้อุณหภูมิดังกล่าวได้

วิธีการหนึ่งที่คาดว่าสามารถทำได้คือ การใช้ตู้แช่แข็งยิ่งยวด (Ultra Low Temperature Deep Freezer) แต่ตู้แช่แข็งชนิดนี้มีราคาสูงและหาได้ยาก ด้วยเหตุนี้การใช้น้ำแข็งแห้งดูเหมือนจะเป็นทางออกที่เหมาะสมอีกทางหนึ่งในการรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับดังกล่าว

แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการติดตามตรวจสอบและรักษาอุณหภูมิให้อยู่ต่ำกว่า -70 องศาเซลเซียสอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากหากวัคซีนสัมผัสกับอุณหภูมิภายนอก จะทำให้อุณหภูมิของวัคซีนเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ระหว่างการขนส่งอาจจำเป็นต้องมีการเติมน้ำแข็งแห้งเป็นระยะ ๆ เพื่อรักษาระดับของอุณหภูมิ ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจจะสร้างความลำบากและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอย่างมากในการขนส่งทางเครื่องบิน

อีกหนึ่งประเด็นที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนคือ หลังจากที่ประชาชนได้รับวัคซีน BNT162b2 แล้ว จะสามารถป้องการการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้นานเท่าใด หรือจำเป็นต้องฉีดซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลาเท่าใด

กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลลัพธ์ของวัคซีนโควิด-19 BNT162b2 ณ ปัจจุบันถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากแล้ว และกลายเป็นแสงแห่งความหวังของนานาประเทศทั่วโลก ในการป้องกันโรคโควิด-19 และฟื้นคืนเศรษฐกิจ สังคม ให้กลับสู่สภาวะปกติเสียที

 

เรียบเรียงจาก สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์

ภาพจาก Getty Image / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ