ญี่ปุ่นไปอีกขั้น เตรียมพัฒนาดาวเทียมทำจากไม้ หวังลดปัญหาขยะอวกาศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายประเทศตั้งเป้าส่งยานอวกาศและดาวเทียมออกไปนอกโลกมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาขยะอวกาศที่พอกพูน ทำให้ญี่ปุ่นเล็งพัฒนาดาวเทียมที่ย่อยสลายได้ในอวกาศ

ไขข้อสงสัย? ทำไมอินเดียจึงสนใจเทคโนโลยีอวกาศ ท่ามกลางความยากจน

เปิดแผน 7 ปี ยานอวกาศไทยไปดวงจันทร์

บริษัทเอกชนญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยเกียวโตได้ร่วมมือกันวางแผนพัฒนา “ดาวเทียมที่ทำจากไม้” ดวงแรกของโลกให้ได้ภายในปี 2023

บริษัท Sumitomo Forestry ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปไม้และก่อสร้าง กล่าวว่า ได้เริ่มการวิจัยเกี่ยวกับการเติบโตของต้นไม้และการใช้วัสดุไม้ในงานด้านอวกาศ โดยจะเริ่มทดลองกับไม้ประเภทต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงบนโลกเพื่อหาชนิดไม้ที่เหมาะสม

โดยบริษัทชี้ว่า ขยะอวกาศกำลังเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นจากหลายประเทศ

ดาวเทียมที่ทำด้วยไม้จะลุกเป็นไฟโดยไม่ปล่อยสารอันตรายสู่ชั้นบรรยากาศ หรือเกิดเศษซากตกลงมาบนผิวโลก

โดอิ ทาคาโอะ (Takao Doi) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตและนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า “เรากังวลมาก ทุกวันนี้ดาวเทียมทุกดวงที่กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกจะถูกเผาไหม้ และเกิดอนุภาคอลูมินาขนาดเล็ก ซึ่งจะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดมันจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลก”

เขาบอกว่า หลังจากทดสอบชนิดไม้เสร็จ ก็จะเริ่มพัฒนาแบบจำลองทางวิศวกรรมของดาวเทียม จากนั้นผลิตแบบจำลองการบิน

โดอิเคยเป็นออกเดินทางสู่อวกาศเพื่อเยี่ยมชมสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนมีนาคม 2008 ในระหว่างภารกิจนั้น เขากลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ทดลองขว้างบูมเมอแรงในอวกาศ

Sumitomo Forestry เป็นส่วนหนึ่งของ Sumitomo Group กลุ่มบริษัทซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 400 ปี กล่าวว่า จะพัฒนาวัสดุไม้ที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและแสงที่เข้มข้น ซึ่งหากค้นพบแล้วก็ไม่แน่ว่าจะเปิดเผยออกมา เพราะถือว่าเป็น "ความลับด้านการวิจัยและพัฒนา" ของบริษัท

ในช่วงหลังมานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศทั่วโลกได้ออกมาเตือนถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากขยะอวกาศที่ตกลงมายังโลก เนื่องจากมีหลายประเทศส่งยานอวกาศและดาวเทียมไปนอกโลกมากขึ้น

ตามข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) มีดาวเทียมเกือบ 6,000 ดวงที่โคจรรอบโลกในปัจจุบัน และกว่า 60% กลายเป็นขยะอวกาศไปแล้ว

บริษัทวิจัย Euroconsult ประเมินว่า ในแต่ละปีจะมีการส่งดาวเทียมออกไปนอกโลกถึง 990 ดวง ซึ่งหมายความว่าภายในปี 2028 อาจมีดาวเทียมมากถึง 15,000 ดวงอยู่ในวงโคจรของโลก

ที่ผ่านมา บริษัท SpaceX ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ปล่อยดาวเทียม Starlink ไปแล้วมากกว่า 900 ดวง และมีแผนที่จะส่งขึ้นไปอีกหลายพันดวง ขยะอวกาศที่เป็นดาวเทียมอาจเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากกว่า 35,900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 7-10 กิโลเมตรต่อวินาที สามารถสร้างความเสียหายอย่างมากต่อวัตถุใด ๆ ที่มันชน

ปัญหาหลักของขยะอวกาศคือ เมื่อดาวเทียมไปชนกับเศษขยะอวกาศ ก็จะส่งผลให้ดาวเทียมพังไม่สามารถใช้ได้ และเมื่อเกิดความเสียหายก็มีโอกาสแตกออกกลายเป็นขยะอวกาศเล็กๆ เพิ่มขึ้นมาเต็มไปหมด ในระยะแรกๆ เศษขยะอวกาศเล็ก ๆ เหล่านี้จะลอยไปในวงโคจรของมันเอง แต่จะค่อย ๆ กระจายออกเป็นวงกว้างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นเหมือนเมฆขยะอวกาศล่องลอยอยู่ หากมีการส่งดาวเทียมมาในวงโคจรเดิมก็จะส่งไม่ได้ทําให้วงโคจรที่มีขยะอวกาศและวงโคจรใกล้เคียงใช้งานไม่ได้

 

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ