40 ล้านคนใน 50 ประเทศทั่วโลก ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นับตั้งแต่ปลายปี 2020 จนถึงปัจจุบัน มีประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 40 ล้านคนใน 50 กว่าประเทศ

เข้าใจระดับการป้องกันจากวัคซีนโควิด-19 เมื่อได้รับแล้ว

ประชากรในหลายสิบประเทศยากจนอาจไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19

กว่า 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนทั่วโลกเริ่มมองเห็นความหวังในวิกฤตนี้ หลังมีหลายบริษัทพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมาได้ในระดับที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา กามาเลยา หรือซิโนแวค

นั่นส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกพากันสั่งจองวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทเหล่านี้ให้ประชาชนในประเทศของตนเองฉีด และปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกราว 40 ล้านคนใน 50 กว่าประเทศที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว

สหรัฐอเมริกา มีประชากรได้รับวัคซีนโควิด-19 มาที่สุดในโลก คือ 12.28 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของประชากรทั้งประเทศ โดยวัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีนจากไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นสองวัคซีนที่เชื่อกันว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงที่สุดในปัจจุบัน

โดยสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นรวมถึงว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบทั้ง 2 โดสแล้ว และเขาตั้งเป้าว่าจะทำให้ประชากรในสหรัฐอย่างน้อย 100 ล้านคนได้รับวัคซีนโควิด-19 ภายใน 100 วันหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ

“ไบเดน” รับวัคซีนโควิด-19 โดสที่สองแล้ว

รองลงมาคือ จีน ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของประชากรทั้งหมด วัคซีนที่ใช้เป็นของ ซีเอ็นบีจี (CNBG) และซิโนแวค ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีนทั้งคู่

สำหรับประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ซีเอ็นบีจีมีรายงานว่าสูงถึงร้อยละ 79 ขณะที่วัคซีนซิโนแวคนั้นตกเป็นที่น่ากังขาในหลายประเทศ เพราะมีผลการทดสอบทางคลินิกที่ไม่แน่นอน ตั้งแต่ร้อยละ 50-90 ขณะที่ไทยเองก็สั่งจองวัคซีนซิโนแวคไว้ 2 ล้านโดสเพื่อเริ่มฉีดวัคซีนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

สื่อบราซิลเผยผลทดลองวัคซีนจีน “ซิโนแวค” มีประสิทธิภาพไม่ถึง 60%

ส่วน สหราชอาณาจักร มาเป็นอันดับ 3 ฉีดวัคซีนให้ประชากรแล้ว 4.31 ล้านคน หรือร้อยละ 6.3 ของประชากรทั้งหมด ใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาซึ่งพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และอีกตัวหนึ่งคือสั่งซื้อของไฟเซอร์

สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 และเป็นประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์อย่างเป็นทางการ ล่าสุดสหราชอาณาจักรกำลังเพิ่มจำนวนศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ควีนเอลิซาเบธและพระสวามี ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว

ต่อกันที่ อิสราเอล ประเทศที่มีประชากรเพียง 9 ล้านกว่าคน ซึ่งฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 2.35 ล้านคน หรือร้อยละ 27.1 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด วัคซีนที่ใช้เป็นของไฟเซอร์

ประธานาธิบดีเนทันยาฮูของอิสราเอลประกาศว่า จะเร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้อยู่ที่ 170,000 คนต่อวัน โดยปัจจุบันเน้นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป หลังจากนี้จะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรกลุ่มอายุ 16-59 ปี และกลุ่มอายุต่ำกว่า 16 ปีตามลำดับ

อันดับ 5 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีประชากรได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว 1.88 ล้านคน หรือร้อยละ 19 ของประเทศ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีประชากรไม่มาก เพียง 9.7 ล้านคน ทำให้คาดว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรได้รวดเร็วตามหลังอิสราเอลไปติด ๆ วัคซีนที่ซื้อมาใช้เป็นของไฟเซอร์ และซิโนฟาร์ม

อันดับ 6 และ 7 อยู่ใกล้ ๆ กัน คือ อิตาลี และเยอรมนี ฉีดไป 1.12 ล้านคน และ 1.05 ล้านคนตามลำดับ วัคซีนที่ใช้เป็นของไฟเซอร์เช่นกัน

ที่น่าสนใจคืออันดับที่ 8 รัสเซีย ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของประชากรทั้งหมด วัคซีนที่ใช้คือ Sputnik-V ของบริษัทกามาเลยา (Gamaleya) ซึ่งอ้างว่าวัคซีนโควิด-19 ของตนมีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ 90 พอ ๆ กับไฟเซอร์และโมเดอร์นา และก็มีหลายประเทศเช่นกันที่สั่งจองวัคซีนตัวนี้ไว้ เช่น เบลารุส อาร์เจนตินา อินเดีย เม็กซิโก เนปาล อียิปต์ เป็นต้น

เส้นทาง “Sputnik-V” วัคซีนโควิด-19 ที่ทั้งโลกกังขา

อันดับที่ 9 คือ สเปน มีประชากรฉีดวัคซีนแล้ว 769,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของประเทศ วัคซีนที่ใช้เป็นของไฟเซอร์เช่นกัน

อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจคือ ตุรกี ซึ่งรั้งอันดับ 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรมากที่สุด แม้เพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนไปเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา เพียง 4-5 วันเท่านั้น แต่มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วถึง 706,000 คน หรือร้อยละ 0.8 ของประชากรทั้งประเทศ โดยใช้วัคซีนซิโนแวค

ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 ให้กับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ซึ่งผลการทดสอบในประเทศตุรกีพบว่ามีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 91.25

ปริศนาประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 “ซิโนแวค”

นอกจาก 10 ประเทศข้างต้นที่เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรไปส่วนหนึ่ง ยังมีอีก 2 ประเทศที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั่นคือ อินเดียและบราซิล

อินเดีย สั่งจองวัคซีนจากแอสตราเซเนกา และบริษัทภารัต ไบโอเทค ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชากร 300 ล้านคนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเพิ่งเริ่มฉีดไปเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา มีประชากรได้รับวัคซีนแล้วราว 224,000 คน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลักก่อน

เปิดแผนอินเดียฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่ของโลก 300 ล้านคน

ขณะที่ บราซิล เพิ่งอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและซิโนแวคได้เมื่อวาน (17 ม.ค.) และเริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว โดยปัจจุบันมีเพียงวัคซีนซิโนแวคจำนวน 6 ล้านโดสซึ่งจะทยอยฉีดหลังจากนี้ ส่วนวัคซีน / ล้านโดสจากแอสตราเซเนกากำลังอยู่ระหว่างการจัดส่ง และหลังจากนี้บราซิลก็จะสั่งวัคซีนที่น่าเชื่อถือมาฉีดให้ประชากรในประทศเรื่อย ๆ ขณะที่ล่าสุดเพิ่งปฏิเสธที่จะนำเข้าวัคซีนรัสเซีย Sputnik-V มาใช้ โดยหน่วยงานในบราซิลที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่า “ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำ”

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 40 ล้านคนอาจเป็นตัวเลขที่ดูมาก แต่เมื่อเทียบกับประชากรโลกกว่า 7.8 พันล้านคนแล้ว คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น หนทางที่ประชากรทั้งโลกจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ยังถือว่าอีกยาวไกล

 

เรียบเรียงจาก BBC / Business Insider / CNN / New York Times / Our World in Data / The Guardian

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ