ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติชี้ กองทัพเมียนมาอาจเจริญรอยตาม “ประยุทธ์โมเดล”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเปิดเผยว่า กองทัพเมียนมาอาจวางแผนบริหารประเทศโดยมีนายกรัฐมนตรีไทยเป็นแบบอย่าง

ทหารเมียนมาตบประชาชนกลางถนนในนครย่างกุ้ง

"จีน" หารือ "อาเซียน" ไกล่เกลี่ยวิกฤตเมียนมา

กองทัพเมียนมา ยิงขมับผู้ชุมนุมดับเพิ่ม 3 ศพ - จับชาวบ้านหลังให้สัมภาษณ์สื่อนอก

ดร.พอล แชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสังคมวิทยาการเมืองและการพัฒนาของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับสื่อ CNA ว่า การสร้างแรงสนับสนุนภายในประเทศภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยเทียม” เหมือนประเทศไทย อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้กองทัพเมียนมาอยู่ในอำนาจได้นาน

“อันที่จริงไทยและเมียนมาต่างก็เป็นสังคมที่ทหารเป็นใหญ่ เนื่องจากกองทัพของประเทศเป็นผู้นำทางการเมืองของชาติมาโดยตลอด” ดร.แชมเบอร์สกล่าว

เขาเสริมว่า ทหารเหล่านี้มีอำนาจรัฐ อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางสังคมมหาศาล ภายใต้นาม “ความมั่นคงของชาติ” เมื่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศเมื่อใด สถานการณ์ในไทยและเมียนมามักเต็มไปด้วยความตึงเครียดอย่างมาก ซึ่งสุดท้ายมักนำไปสู่การรัฐประหาร

พลเอก มิน อ่อง หล่าย และผู้นำเมียนมาคนอื่น ๆ ต่างเฝ้าดูและจดจำการรัฐประหารของไทยในปี 2557 เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ค้ำจุนตัวเองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเทียมที่ปกครองโดยทหารเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี

หลังจากการรัฐประหารเมียนมาในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา นายพลของเมียนมาดูเหมือนจะพยายามทำตามโมเดลการปกครองโดยทหารของไทย

โมเดลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กองทัพทหารสามารถประสบความสำเร็จในการก่อรัฐประหาร และชี้นำประชาธิปไตยได้ โดยมีรัฐบาลที่เข้มแข็งทรงอำนาจ และพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถควบคุมกองกำลังทหารได้ มีศาลที่มีกองกำลังติดอาวุธ และพลเรือนที่ถูกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากกว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

ทหารของเมียนมาได้รับบทเรียนสำคัญจากการรัฐประหารของไทยในปี 2549 และ 2557 ซึ่งนำไปสู่การตรารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ทำให้อำนาจการปกครองของพลเรือนอ่อนแอลง และประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยอ่อนแอนาน 6-7 ปี

นอกจากนี้ รัฐบาลพลเรือนของไทยและเมียนมาต่างมีข้อจำกัดในการควบคุมอำนาจทางการทหาร ทำให้ไม่สามารถควบคุมทหารไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ทหารของเมียนมาก้าวนำหน้าประเทศไทยไปอีกก้าว เพราะควบคุมที่นั่งร้อยละ 25 ของสภานิติบัญญัติ มีความเป็นอิสระจากการตรวจสอบทรัพย์สินทางเศรษฐกิจจากพลเรือน และควบคุมสภาป้องกันและความมั่นคงแห่งชาติไว้ได้

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ของไทยสร้างความประทับใจให้กับผู้นำทางทหารของเมียนมา เพราะสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญของไทย ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร สูตรการเลือกตั้งใหม่ที่ป้องกันไม่ให้พรรคต่าง ๆ ได้รับเสียงข้างมาก และรัฐบาลต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้แน่ใจว่ามีเงินทุนมหาศาลสำหรับกองทัพ

ในขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของทหารซึ่งใช้ทรัพยากรของรัฐได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคนี้ยังใช้เครือข่ายการหาเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่น และเสนอการแจกสวัสดิการเพื่อดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เมื่อเรียนรู้จากการเลือกตั้งปี 2562 ของประเทศไทย และการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อล็อกตำแหน่งทางการเมือง ทหารเมียนมาจึงพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอำนาจทางทหาร

แต่ที่ผ่านมา พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมรัฐสภาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คัดค้านความพยายามเหล่านี้

หากผู้นำทางทหารของเมียนมาสามารถใช้กฎบัตรที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ของไทยได้ ในที่สุดพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ก็อาจชนะการเลือกตั้งเพื่อต่อต้านพรรค NLD ได้

แต่ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ของเมียนมา เสียงข้างมากกลับถูกมอบให้กับพรรค NLD อีกครั้ง ซึ่งเป็นการรับประกันว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะไม่มีผลในเร็ว ๆ นี้

เมื่อการรัฐประหารในปี 2557 ของประเทศไทยทำให้กองทัพมีโอกาสหลายปีในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ เมียนมาจึงยึดอำนาจเพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเช่นกัน

เพื่อรักษาสถานะในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ จะเป็นการฉลาดกว่ามากสำหรับทหารเมียนมาในการสร้างแรงสนับสนุนในระบอบประชาธิปไตยเทียม อย่างที่กองทัพของไทยเคยทำ มิฉะนั้นเมียนมาอาจดำเนินไปสู่การเข่นฆ่าสังหารหมู่อย่างในอดีต

จากสถานการณ์ทั้งหมดในปัจจุบัน ดร.แชมเบอร์สวิเคราะห์ว่า ขณะนี้เมียนมามีทางเลือก 3 ทาง

ทางแรก ยอมแพ้ให้กับผู้ประท้วง และกลับไปใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก่อนรัฐประหาร

ทางที่สอง ลองปกครองแบบไทย พยายามตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะทำให้กองทัพเมียนมามีอิทธิพลในระบอบประชาธิปไตยเทียม

และทางที่สาม ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เมียนมาช่วงก่อนปี 2533 ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารที่ใช้ความรุนแรง

ณ เดือนเมษายน 2564 ทางเลือกแรกดูจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด ส่วนทางเลือกที่สองก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากทั้งประชาชนและพรรค NLD ทำให้สถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ดูจะเข้าใกล้ทางเลือกที่สามเข้าไปเรื่อย ๆ

ในที่สุดกองทัพอาจตระหนักอีกหนึ่งทางเลือกที่ว่า พวกเขาจะต้องประนีประนอมกับพรรค NLD ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น เพื่อขอแบ่งอำนาจมาส่วนหนึ่ง

คำถามสำคัญคือ “จะต้องมีคนตายอีกกี่คนกว่าจะเกิดการเจรจา”

 

เรียบเรียงจาก CNA

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ