โควิด-19 บราซิลระบาดหนัก คนหนุ่มสาวเข้า ICU มากจนน่าตกใจ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อีกภูมิภาคที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงก็คือ ลาตินอเมริกา ที่บราซิลมีรายงานพบคนหนุ่มสาวเข้ารักษาตัวในแผนกไอซียูมากเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยมาจากคุณสมบัติของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่จ้องเล่นงานคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี รวมถึงความล่าช้าของการแจกจ่ายวัคซีน

เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”

โควิด-19 ทำอดีตคนเลือก "บอลโซนาโร" ตาสว่าง

ขณะนี้ตามแผนกไอซียูของทั้งโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลสนาม บรรดาเจ้าหน้าที่กำลังทำงานอย่างหนัก เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด-19 ทยอยกันเข้ามารักษาตัว

ที่น่าสังเกตคือ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นคนบราซิลที่มีอายุ 40 ปี หรือต่ำกว่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รายงานจากเลขาธิการสาธารณสุขเซา เปาโล ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่เป็นคนหนุ่มสาวมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความชะล่าใจ ว่าตนจะไม่ติดเชื้อ หรือหากติดแล้วอาการก็จะไม่รุนแรง

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ราวร้อยละ 52 ของเตียงไอซียูกำลังรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ตัวเลขนี้สำคัญยังไง? ต้องเทียบกับปีที่แล้ว เพราะปีก่อนที่เป็นการระบาดระลอกแรกของโควิดในบราซิล ตอนนั้นเตียงไอซียูรองรับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เพียงร้อยละ 16.5 เท่านั้น นั่นหมายความว่าจำนวนผู้ป่วยที่เป็นคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

ยังมีอีกสองสาเหตุที่ส่งผลให้คนหนุ่มสาวติดเชื้อกันมากขึ้น หนึ่งคือ การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า P.1 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามันสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายเท่าตัว และยังเพิ่มความสามารถในการระบาดยังกลุ่มคนหนุ่มสาว เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์เดิม

อีกปัจจัยมาจากความล่าช้าของการแจกจ่ายวัคซีน บราซิลอนุมัติใช้วัคซีนของผู้ผลิต 4 ราย ได้แก่ ซิโนแวก แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

การจองวัคซีนหลายเจ้าช่วยให้บราซิลเข้าถึงจำนวนวัคซีนที่มาก เพื่อรองรับกับความต้องการ เนื่องจากประเทศนี้มีประชากรมากถึง 211 ล้านคน

แต่ตอนนี้โครงการแจกจ่ายวัคซีนของบราซิลเป็นไปอย่างล่าช้า อันเนื่องมาจากความล่าช้าในการขนส่งและการผลิตวัคซีน

มีรายงานว่า ปัจจุบันจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสมีเพียง 6 ล้าน 3 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของประชากรเท่านั้น ส่วนจำนวนคนที่ได้วัคซีนแล้วหนึ่งโดสมีราว 21 ล้านคน และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นใหม่ติดเชื้อกันมาก

อีกความน่ากังวลคือจำนวนผู้เสียชีวิต เมื่อไม่กี่วันก่อนอินเดียเพิ่งจะแซงหน้าบราซิล ครองแชมป์จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมโควิดมากที่สุดในโลกอันดับสองไป

บราซิลตกลงมาเป็นอันดับสามก็จริง แต่หากพิจารณาจากจำนวนผู้เสียชีวิต ประเทศนี้ถือเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 358,000 ราย มากแค่ไหน ล่าสุดมีรายงานว่า ขณะนี้ยอดคนตายในหลายเมืองเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมากกว่ายอดทารกเกิดใหม่แล้ว

ตัวอย่างจาก นคร รีโอ เดอ จาเนโร เมื่อมีนาคมที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 36,437 ราย ในขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในเมืองนี้มี 32,060 ราย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างความกังวลต่อคนบราซิลเอง แต่ยังรวมถึงคนต่างชาติด้วย ล่าสุด ฝรั่งเศสประกาศระงับเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกที่เดินทางจากบราซิล เนื่องจากหวั่นว่าจะทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ P.1 จะเดินทางมาระบาดยังที่นี่ด้วย

นี่คือบรรยากาศของสนามบินในนคร รีโอ เดอ จาเนโร เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารเหล่านี้กำลังจะขึ้นเที่ยวบินเที่ยวสุดท้ายที่มุ่งตรงไปยังปารีส ก่อนที่เที่ยวบินที่เหลือจะถูกระงับหมด

ส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสที่อาศัยในบราซิล อย่างผู้หญิงรายนี้ที่พอทราบข่าวก็รีบมาสนามบินทันที เพราะหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้กลับบ้าน

ด้านยอดผู้ติดเชื้อสะสมในบราซิล ปัจจุบันมี 13.5 ล้านราย ยอดผู้ติดเชื้อใหม่เมื่อวันที่ 12 เมษายนมีมากกว่า 35,000 ราย น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 72,000 ราย

 อีกประเทศในลาตินอเมริกาที่ขณะนี้ระบบสาธารณสุขกำลังรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก และหวั่นเกรงว่าจะรับไม่ไหวก็คือ ปารากวัย เพื่อนบ้านที่ติดกับตอนใต้ของบราซิล

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ปารากวัยมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในรอบ 24 ชั่วโมงมากที่สุด คือจำนวน 78 ราย อาจดูไม่เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ประเทศนี้เป็นประเทศเล็กๆ และมีประชากรเพียง 7 ล้านคนเท่านั้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสร้างความกังวลว่าจะยิ่งเลวร้ายลง และทำให้โรงพยาบาลรับมือกับผู้ป่วยไม่ไหว

ความกังวลมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงต้นเดือนเมษายนปารากวัยมีผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 1,500 - 1,700 ราย แต่ยอดล่าสุดของผู้ติดเชื้อใหม่เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 2,250 รายแล้ว

รายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งชาติอิเตากัว ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ของประเทศ สาเหตุสำคัญมาจากประชาชนที่ยังคงไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่รักษาระยะห่างทางกายภาพ

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ชาวปารากวัยไม่ค่อยตื่นตัวส่วนหนึ่งมาจากความไม่เชื่อว่าไวรัสยังมีอยู่จริง

หนึ่งปีกว่าที่ไวรัสระบาด ในหลายสังคมยังเผชิญกับปัญหานี้ และสำหรับประชาชนชาวปารากวัยเองที่ต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปเพราะโควิด พวกเขามองว่า การไม่เชื่อว่าไวรัสมีอยู่จริง เป็นปัจจัยการระบาด ที่ไม่ควรเกิดขึ้น

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ