เมื่อสหรัฐฯ จากไป อัฟกานิสถานอาจจมดิ่งสู่ความวุ่นวาย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เริ่มกระบวนการถอนทหารที่เหลือออกจากอัฟกานิสถานตามข้อตกลงสันติภาพที่ทำไว้กับกลุ่มตาลิบัน หลังตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ สูญเสียงบประมาณและกำลังพลไปมากมาย การจากไปของสหรัฐฯ กำลังสร้างความหวั่นเกรงว่ากลุ่มตาลิบันอาจกลับมาเรืองอำนาจขึ้นอีกครั้ง และขณะนี้ชาวอัฟกันกำลังแตกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการให้สหรัฐฯ อยู่ต่อ และฝ่ายที่ต้องการให้จากไป เป็นอีกครั้งที่อนาคตของประเทศนี้กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน

สหรัฐฯ-ตาลีบัน ลงนามสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์

ไบเดนสั่งถอนกำลังทหารในอัฟกานิสถาน หวังยุติสงครามที่ยาวนาน 20 ปี

ควันไฟลอยคลุ้ง กลิ่นไหม้อบอวลในอากาศ เจ้าหน้าที่เร่งฉีดน้ำลดความร้อน ท่ามกลางซากรถบรรทุกสีดำ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเกิดเหตุรถบรรทุกน้ำมันระเบิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย บาดเจ็บอีกหลายสิบ

เหตุระเบิดปริศนาหวนกลับมาอีกครั้งในกรุงคาบูล ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นอุบัติเหตุหรือความจงใจ แต่หลายฝ่ายคาดว่าอาจเป็นอย่างหลัง เพราะขณะนี้ความมั่นคงของอัฟกานิสถานกำลังอยู่ในช่วงเปราะบาง

มันเปราะบางเพราะย้อนไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่กองกำลังสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายในประเทศนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการถอนตัว หลังประจำการชุดแล้วชุดเล่ามานานอย่างต่อเนื่องถึง 20 ปี

ปัจจุบันสหรัฐฯ คงเหลือทหารราว 2,500 นาย และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่ากระบวนการถอนกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 11 กันยายนที่กำลังจะถึงนี้

ในวันเดียวกัน เกิดความไม่สงบขึ้นที่จังหวัดโลการ์ ทางตะวันออกของประเทศ มันเป็นวันเสาร์ธรรมดาที่นักเรียนชั้นมัธยมปลายกำลังอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ แต่จู่ๆ ก็เกิดเหตุรถยนต์ระเบิดขึ้นที่หน้าบ้านพักของพวกเขาแรงระเบิดคร่าชีวิตนักเรียนมากถึง 27 ราย

หาชมยาก! นักรบตาลีบัน-ทหารอัฟกันโผเข้ากอดกัน ฉลองหยุดยิงชั่วคราว

จุดเริ่มต้นของการส่งทหารสหรัฐฯ เข้าประจำการในอัฟกานิสถานมาจากเหตุ 9/11หลังอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ทั้งสองหลังพังถล่มในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ยี่สิบสามวันถัดมาสหรัฐฯ ก็ส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีอัฟกานิสถานทันที เพื่อจับตัวอุซามะฮ์ บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม รวมถึงล้มล้างรัฐบาลตาลิบันฐานให้ที่หลบซ่อนกลุ่มก่อการร้าย

เครื่องบินและรถถังมากมายเคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนแร้นแค้นที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจมากนักอย่างประเทศอัฟกานิสถาน

สงครามต่อต้านก่อการร้ายเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ จากอัฟกานิสถานภารกิจขยายไปสู่ประเทศมุสลิมอื่นๆ อย่างปากีสถาน ลิเบีย โซมาเลีย และซีเรีย

ปี 2003 สหรัฐฯ โค่นซัดดัม ฮุดเซน ผู้นำอิรักจอมเผด็จการลงได้ และอีก 8 ปีต่อมาก็สามารถจับตายอุซามะห์ บินลาเดนได้ในปากีสถาน

แต่ในอัฟกานิสถาน สองทศวรรษของสงคราม สหรัฐฯ ไม่อาจเอาชนะตาลีบันได้อย่างแท้จริง แม้ในช่วงที่ส่งทหารไปมากที่สุดถึง 100,000 นายในปี 2011

ที่ผ่านมาระเบิด เครื่องบินรบ และกองกำลังทหารคร่าชีวิตประชาชนชาวอัฟกันไป 111,000 คน ไม่ว่าพวกเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ เองก็สูญเสียทหารไปราว 2,400 คน จากการต่อสู้

แนวคิดยุติสงครามในอัฟกานิสถานมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลบารัก โอบามา แต่เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

ตัวเขาระบุว่าถึงเวลาต้อง “พาคนของเรากลับบ้าน” พอกันทีกับการละลายงบประมาณและกำลังพลไปกับสงครามที่ไม่มีวันจบ

สิ้นสุด! นาโตยุติการสู้รบ 13 ปีในอัฟกัน

กระบวนการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มตาลิบันเริ่มต้นขึ้น นำมาสู่ข้อสรุปของการถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดในเดือนพฤษภาคมปี 2021 แลกกับการที่ตาลีบันให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เติบโตขึ้นบนแผ่นดินอัฟกานิสถาน

หลายคนยินดีที่ในที่สุดกองกำลังจากต่างชาติจะเคลื่อนพลออกจากแผ่นดินแม่ แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อยการจากไปของสหรัฐฯ สร้างความหวาดหวั่นต่ออนาคต เพราะตาลิบันอาจกลับมาเรืองอำนาจ

แม้ที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะช่วยจัดตั้งกระบวนการทางประชาธิปไตย ช่วยให้ที่นี่มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ แต่รัฐบาลกลับมีอำนาจแค่กรุงคาบูลและบางพื้นที่เท่านั้น อีกกว่าครึ่งของประเทศถูกควบคุมโดยตาลีบัน

จุดเริ่มต้นในปี 1989 หลังสหภาพโซเวียตถอนกำลัง บรรดากลุ่มมูจาฮิดีนที่ต่อต้านโซเวียตก่อสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจ อัฟกานิสถานกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไร้การควบคุม

ตาลีบันถือกำเนิดขึ้นในช่วงนั้น จากการรวมกลุ่มกันของนักเรียนเคร่งศาสนา พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากปากีสถานและชาวอัฟกัน เพราะคาดหวังว่าจะช่วยยุติความวุ่นวาย

ด้วยความพร้อมด้านอาวุธและกำลังพล ปี 1996 ตาลีบันยึดกรุงคาบูล ขับไล่มูจาฮิดีน และจัดตั้งรัฐบาลขึ้น ทว่าภายใต้การปกครองของรัฐบาลตาลีบัน ชาวอัฟกันต้องเผชิญกับแนวคิดเคร่งศาสนาแบบสุดขั้ว วัฒนธรรมแบบตะวันตกถูกห้าม

เมื่อสหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถาน  ตาลีบันถูกโค่นลงจากอำนาจ เปลี่ยนสถานะมาเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและศัตรูของกองกำลังสหรัฐฯ ทว่าหลายปีของสงคราม สหรัฐฯ ยังคงไม่อาจเอาชนะได้

เครือข่ายของตาลีบันยังคงแทรกซึมทุกหย่อมหญ้า พวกเขามีอิทธิพล มีกองกำลัง และการที่สหรัฐฯ จากไปเช่นนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าตาลีบันเป็นฝ่ายชนะ

พิจารณาจากวีรกรรมความโหดเหี้ยมที่ผ่านมา ความกังวลของชาวอัฟกันจึงไม่ได้เกินจริงไปนัก

30 เมษายนที่ผ่านมา วันสุดท้ายก่อนเริ่มกระบวนการถอนตัวพวกเขารวมตัวกันที่กรุงคาบูล เปล่งเสียงร้องขอความเห็นใจ

“โปรดอย่าทิ้งเรา” เพราะที่ผ่านมาแม้อัฟกานิสถานจะไม่สงบสุข แต่หลายคนระบุว่า บรรยากาศภายใต้การมีกองทัพสหรัฐฯ ประจำการก็ยังดีกว่าสมัยที่ปกครองโดยตาลิบัน

เสียงร้องของพวกเขาไม่เป็นผล กระบวนการถอนทหารสหรัฐฯ เริ่มขึ้นแล้ว รวมถึงทหารนาโต้ของนานาชาติด้วย

สหรัฐฯ ระบุว่าส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจถอนกำลังมาจากความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลอัฟกันและกองกำลังอัฟกันทุกวันนี้มีประสิทธิภาพมากพอในการรับมือกลุ่มก่อการร้าย

กระนั้นสัญญาณอันตรายปรากฏขึ้นในเหตุระเบิดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่ก่อนหน้านี้ตาลีบันเตือนว่าสหรัฐฯ กำลังละเมิดข้อตกลง เพราะเส้นตายของการถอนกำลังคือวันที่ 1 พฤษภาคม

ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยทรัมป์ มาวันนี้ไบเดนขอเวลาเพิ่ม เพราะไม่เพียงแค่ถอนทหาร แต่ยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอีกหลายพันคนในกระบวนการ

นั่นหมายความว่าจากวันนี้ไปในอีก 5 เดือนข้างหน้า ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

11 กันยายนนี้จะเป็นวันครบรอบ 20 ปี ของเหตุวินาศกรรม ที่ไบเดนตั้งใจยุติสงครามในอัฟกานิสถาน มอบเป็นของขวัญให้แก่อเมริกันชน

สำหรับชาวอเมริกันจุดจบของสงครามอันยาวนานกำลังจะมาถึง แต่สำหรับชาวอัฟกันพวกเขายังมองไม่เห็นทางสิ้นสุด

2 ทศวรรษที่ต่างชาติเข้ามาเกี่ยวพัน เมื่อถึงวันที่จากไป อัฟกานิสถานบทใหม่อาจอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือวุ่นวายกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ที่นี่ผู้คนยังคงภาวนา

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ