อินเดียเคราะห์ซ้ำ ผู้ป่วยโควิด-19 หลายร้อยราย "ติดเชื้อรากินสมอง"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภูมิคุ้มกันที่ลดลงจากการติดเชื้อโควิด-19 และการใช้ยาสเตียรอยด์ทำให้ “โรคติดเชื้อรากินสมอง” ระบาดสูงขึ้น

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้รายงานสถานการณ์พบการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อราในสมองที่หายากในกลุ่มผู้ป่วยเปราะบางและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ระบบสาธารณสุขอินเดียยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19

ศ.ปีเตอร์ คอลลิญง หนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า โรคติดเชื้อราดังกล่าวมีชื่อว่า “มิวคอร์ไมโคซิส (Mucormycosis)” มีความร้ายแรงมาก มีอัตราการเสียชีวิตสูง และผู้ป่วยโรคนี้ต้องได้รับการผ่าตัดและต้องใช้ยาจำนวนมากจึงจะรักษาหาย

"โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย" กำลังกลายเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพระดับโลก

โควิดอินเดีย ตาย 4,000 คนต่อวัน แพทย์ร้องขอล็อกดาวน์

ข้อมูลจากโรงพยาบาลในกรุงเดลี รัฐมหาราษฏระ รัฐคุชราต รายงานพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อราในสมองดังกล่าวรวมหลายร้อยรายแล้ว เพิ่มขึ้นจากอัตราการพบปกติในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งบางปีบางโรงพยาบาลพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อรานี้เพียง 10 กว่ารายเท่านั้น

โดยจักษุแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเบงกาลูรูบอกว่า ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อรามิวคอร์ไซโคซิสแล้วถึง 19 ราย ส่วนโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมุมไบบอกว่า ใน 2 เดือนที่ผ่านมาเจอเคสดังกล่าวไปแล้ว 24 ราย ซึ่งส่วนใหญ่บอกตรงกนว่าคนที่ติดเชื้ออยู่ในช่วงวัยรุ่น และเพิ่งหายป่วยจากโควิด-19

โรคนี้เกิดจากกลุ่มของเชื้อราที่เรียกว่า มิวคอร์ไมซีเตส (Mucormycetes) ซึ่งอาศัยอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดินและตามพืชต่าง พบเห็นได้ทั่วโลกรวมทั้งในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย หรือแม้แต่ผู้ที่ป่วยโรคอื่นแล้วกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ติดได้ โดยส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่เพิ่งทำการปลูกถ่าย หากเชื้อราบังเอิญไปติดอยู่บนผ้าปูที่นอนโรงพยาบาล หรือแพร่ผ่านระบบระบายอากาศก็ได้

“มันเป็นเชื้อราที่เข้าไปในรูจมูกของคุณ และสะสมอยู่ที่นั่น และพวกมันสามารถเข้าไปในช่องว่างในหัวของคุณได้ และเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณไม่สามารถควบคุมให้เชื้อราอยู่ภายใต้การควบคุมได้ พวกมันจะบุกเข้าไปในสมองของคุณ ซึ่งนั่นจะกลายเป็นปัญหาที่แท้จริงและร้ายแรงมาก” คอลลิญงกล่าว

เขายังเสริมว่า “นอกจากนี้ คุณยังสามารถติดเชื้อรานี้ได้ตามสถานที่ที่มีการก่อสร้างที่ทำให้พื้นดินสั่นไหว เพราะกิจกรรมดังกล่าวจะตีฝุ่นจำนวนมากในบริเวณนั้นขึ้นมา”

ผู้ที่มีภาวะป่วยอื่น เช่น โรคเบาหวาน หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ที่ทานยา เช่น สเตียรอยด์ ที่ลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรค มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อราตัวนี้และอาการรุนแรงมากขึ้น

ภาวะโรคติดเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิสนี้ มักเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยทั่วไป เฉพาะในสหรัฐฯ มีโอกาสเกิดประมาณ 500 รายต่อปี แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรานี้ที่แน่นอนนั้นยากที่จะระบุได้ เนื่องจากไม่มีการเฝ้าระวังโรคนี้ในระดับชาติ

คอลลิญงกล่าวว่า โควิด-19 กำลังเพิ่มโอกาสสำหรับการติดเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส เพราะระบบภูมิคุ้มกันของผู้คนกำลังถูกทำลายโดยไวรัสโควิด-19

“เราให้สเตียรอยด์จำนวนมากแก่ผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากสเตียรอยด์ช่วยในการรักษาอาการอักเสบ แต่ในขณธเดียวกันสเตียรอยด์ก็ไปกดระบบภูมิคุ้มกันของคุณด้วย นั่นคือเหตุผลที่เราไม่ชอบให้สเตียรอยด์แก่ผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกินควร เพราะนั่นหมายถึงความสามารถในการต่อสู้กับการติดเชื้อตามปกติ เช่น การติดเชื้อรา ก็ลดลงเช่นกัน” คอลลิญงกล่าว

ระบบสาธารณสุขอินเดียที่มีภาระงานจากการระบาดหนักของโควิด-19 และสภาพแวดล้อมที่แออัดคับแคบ ทำให้เชื้อรามิวคอร์ไซโคศิสมีโอกาสแพร่กระจายมากขึ้นด้วย

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อรามิวคอร์ไซโคซิสจะมีอาการปวดและแดงรอบดวงตาและจมูก มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ อาเจียนปนเลือด น้ำมูกสีดำ มีน้ำมูกปนเลือด ปวดที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้าและในรูจมูก จมูกเปลี่ยนเป็นสีดำ ปวดฟัน ปวดตา สายตาพร่ามัว มักต้องใช้ตัวอย่างของเหลวและเนื้อเยื่อเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

คอลลิญงกล่าวว่า มิวคอร์ไซโคซิสนั้นพบได้ยาก แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 50% หรือ 1 ใน 2 ผู้ที่ติดเชื้อรานี้จะเสียชีวิต และยังรักษาได้ยากรวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูง

โดยยารักษาเชื้อราทางหลอดเลือดดำมีค่าใช้จ่าย 3,500 รูปี (ราว 1,480 บาท) ต่อโดส และต้องฉีดต่อเนื่องทุกวันนานถึง 8 สัปดาห์ เป็นยาชนิดเดียวที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคนี้

ล่าสุด สภาการวิจัยทางการแพทย์ของอินเดียและกระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกคำแนะนำให้ประชาชนสวมรองเท้า กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว และถุงมือ หากต้องทำงานกับดิน ตะไคร่น้ำ หรือปุ๋ยคอก นอกจากนี้ผู้คนควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ควรหยุดใช้ยาระงับภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

เรียบเรียงจาก BBC / The Guardian

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ