ส่องมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 ของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เพื่อนบ้านอาเซียนหลายประเทศประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ท่ามกลางกระแสความสนใจว่า ประเทศไทยจัล็อกดาวน์รับมือการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เลวร้ายลงในหลายพื้นที่ ทำให้หลายประเทศพากันประกาศมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลง

นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมมาตรการล็อกดาวน์ของเพื่อนบ้านอาเซียนแต่ละประเทศว่าพวกเขาทำอย่างไร

สธ.ชงศบค.งัดยาแรงคุมโควิด-19“จำกัดเดินทาง-ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น

เศร้า! โควิดคร่า 75 ชีวิต นิวไฮอีกครั้ง พันธุ์เดลตาอินเดียดุเกินต้าน ติดเชื้อ +7,058 ลุ้นล็อกดาวน์

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ทางการเมียนมาเพิ่งประกาศมาตรการภายในนครย่างกุ้ง ให้ประชาชนกักตัวอยู่แต่ในบ้าน เนื่องจากมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 3,900 ราย เป็นนิวไฮสูงสุดของเมียนมา และถือว่าเพิ่มสูงมากเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 50 รายต่อวันเท่านั้น

โดยตั้งแต่วันนี้ (8 ก.ค.) เป็นต้นไป ทางการเมียนมาห้ามบุคคลมากกว่า 1 คนออกจากบ้านด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์หรือเหตุจำเป็นจริง ๆ และยกเว้นให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปทำงานราชการ

"โควิด-19 เดลตา" รุกคืบเอเชีย สัดส่วนการระบาดเกินครึ่งในหลายเมือง

จับตาโควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่า “เดลตา” พบแล้ว 30 ประเทศ

ปัจจุบัน มีข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการอัปเดตว่า เมียนมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 3.5 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเพียง 1.75 ล้านคน หรือ 3% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 176,000 ราย เสียชีวิต 3,570 ราย

ทางด้านมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ทั่วระบบทั้งประเทศ (Total Lockdown) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เดิมมีแผนปลดล็อกดาวน์ตั้งแต่ 14 มิ.ย. แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ทรงตัวอยู่ในระดับ 5,000-8,000 รายต่อวัน จนต้องขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีก

ขณะนี้ มาเลเซียอนุญาตให้มีเพียงภาคบริการ 17 ประเภท และภาคการผลิต 12 ประเภทเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการได้ในช่วงล็อกดาวน์ แต่สำหรับภาคการผลิตต้องใช้แรงงานเพียง 60% ของทั้งหมดที่มี ห้ามให้พนักงาน 100% มาทำงานพร้อมกัน

ส่วนห้างสรรพสินค้าจะต้องปิดทำการทั้งหมด ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ตและสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละครัวเรือนจะมีสมาชิกเพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปซื้อสิ่งของจำเป็นหรือบริการทางการแพทย์ โดยจำกัดการเคลื่อนไหวในรัศมี 10 กิโลเมตร

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของมาเลเซียมีรายงานว่าฉีดไปแล้วกว่า 9.6 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรเกือบ 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 21.6% ของประชากรทั้งประเทศ วัคซีนที่ใช้มี 3 ยี่ห้อ คือ แอสตร้าเซเนก้า ไฟเซอร์ และซิโนแวค ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ราว 792,000 ราย เสียชีวิตกว่า 5,600 ราย

ขึ้นเครื่องแล้ว! สหรัฐฯ ส่งวัคซีน "ไฟเซอร์" 1 ล้านโดส ช่วยมาเลเซีย

ส่วนเวียดนาม หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันอยู๋ที่หลัก 1,000 ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ก็ทำให้ทางการตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. เป็นต้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

โดยเหตุผลที่ล็อกดาวน์เฉพาะโฮจิมินห์ซิตี้ เนื่องจาก ที่ผ่านมานับแต่มีการระบาดของไวรัส จากผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศ 23,000 ราย เป็นการระบาดในโฮจิมินห์ซิตี้ถึง 8,000 ราย มากกว่า 1 ใน 3 ของการระบาด แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สะสมทั่วประเทศนั้นถือว่าน้อยมาก อยู่ที่ 97 เท่านั้น

สถานการณ์โควิด-19 ในเวียดนามเดิมมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงหลักสิบต่อวัน แต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักร้อย และสุดท้ายก็แตะหลักพันในเดือนนี้

ปัจจุบัน เวียดนามฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 3.9 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเพียง 3.7 ล้านคน คิดเป็น 3.8% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น

ที่อินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้มีการประกาศล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เกาะชวาและบาหลี แต่ต่อมาสถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายลง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเกิน 20,000 รายต่อเนื่องเกิน 1 สัปดาห์ และแตะหลัก 30,000 ในสัปดาห์นี้ จึงต้องขยายการล็อกดาวน์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 20 ก.ค. นี้

รัฐบาลอินโดนีเซียระบุพบการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียพบว่า จากการทดสอบสายพันธุ์โควิด-19 ของผู้ติดเชื้อในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า เกือบ 60% ของผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์เดลตา

ขณะนี้เตียงผู้ป่วยและออกซิเจนของหลายโรงพยาบาลในอินโดนีเซียเริ่มร่อยหรอลงและมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เกิดความวิตกกังวลว่า ระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียอาจเข้าสู่ “หายนะ” ในไม่ช้าหากผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง

ปัจจุบัน อินโดนีเซียฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 47.4 ล้านโดส แต่มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกไม่ถึง 34 ล้านคน หรือราว 12% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้อินโดนีเซียยังต้องพยายามเร่งอัตราการฉีดวัคซีนมากกว่านี้

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ที่อินโดนีเซียใช้อยู่หลัก ๆ เป็นของซิโนแวค ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาชี้ชัดว่าสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ราว 2.38 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 62,000 ราย สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

เรียบเรียงจาก CNA / WHO

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ