เมียนมาติดธงขอความช่วยเหลือ เชื่อยอดตายจริงมากกว่านี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การระบาดของโควิดในเมียนมาร์น่าวิตกกังวล เพราะเป็นการระบาดในชุมชนและครอบครัวซึ่งยากต่อการแยกผู้ติดเชื้อ บวกกับระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอ การตรวจเชื้อ ฉีดวัคซีนทำได้น้อย ที่สำคัญคือ ทหารเข้าควบคุมการเข้าถึงยาและออกซิเจนของประชาชน หลายฝ่ายมองว่า เป็นความพยายามปราบปรามประชาชนโดยใช้โรคระบาดเป็นเครื่องมือ สถานการณ์แบบนี้ ประชนชนต้องช่วยเหลือกันเองตามแต่กำลังที่มีและเท่าที่จะทำได้ ในโลกออนไลน์ของเมียนมาร์ตอนนี้ มีแคมเปญติดธงเป็นสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือ

บนโลกออนไลน์ของเมียนมา ผู้คนช่วยกันแชร์ภาพถ่ายของธงสีเหลืองที่ติดอยู่ตามหน้าบ้านต่างๆ  อย่างภาพนี้ถ่ายจากย่านหลวนของนครย่างกุ้ง โดยผู้โพสต์ระบุว่า เจ้าของห้องที่แขวนธงสีเหลืองนี้น่าจะติดเชื้อโควิด-19 กันทั้งครอบครัว พวกเขาออกไปไหนไม่ได้ และขณะนี้กำลังรอความช่วยเหลือ แคมเปญดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ชาวเมียนมาที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ส่งสัญญาณให้แก่คนภายนอกรับรู้ ว่าสมาชิกในบ้านมีผู้ป่วย

“มิน อ่อง หล่าย” เผย รัสเซียช่วยเมียนมา จะมอบวัคซีนโควิด 2 ล้านโดส

สำรวจสถานการณ์โควิด-19 ประเทศในอาเซียน

มากกว่านั้นยังครอบคลุมถึงความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร และน้ำดื่ม โดยบนโลกออนไลน์ระบุว่า สีเหลืองคือสัญลักษณ์บอกว่าต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ ส่วนสีขาวหมายถึงต้องการอาหาร และหากใครไม่มีผ้าสีนั้นๆ ก็สามารถใช้เสื้อสีเหลือง หรือเสื้อสีขาวนำมาแขวนแทนได้

แคมเปญลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในมาเลเซีย เมื่อมาตรการล็อกดาวน์นานถึง 1 เดือนส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากกำลังอดอยาก บนโลกออนไลน์จึงรณรงค์ให้ผู้คนที่ต้องการอาหารติดธงสีขาว จากนั้นร้านค้าหรือสมาชิกในชุมชนก็จะเข้าไปช่วยเหลือ

นอกจากนั้นในหลายพื้นที่ ชาวบ้านยังตั้งจุดแจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ในชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยให้คนที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ในการป้องกันตัวจากโควิด-19 สามารถป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนภาพนี้มาจากรัฐฉาน กลุ่มอาสาสมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ช่วยกันทำอินโฟกราฟฟิกแบบง่ายๆ นำมาติดไว้ยังจุดที่คนในชุมชนมองเห็นได้สะดวก เพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจและป้องกันตัวจากสถานการณ์  ที่คนเมียนมาต้องช่วยเหลือกันเองก็เพราะท่ามกลางการระบาดระลอกที่สาม มีผู้คนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเตียงพยาบาล เนื่องจากขณะนี้ศักยภาพของระบบสาธารณสุขรองรับกับจำนวนผู้ป่วยไม่ไหว

ผู้ป่วยหลายคนถึงแม้จะติดเชื้อ แต่โรงพยาบาลกลับไม่รับรักษา และให้พวกเขากักตัวเองที่บ้าน ในขณะเดียวกันปัญหาเตียงพยาบาลก็ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาขาดแคลนออกซิเจนและยา

ล่าสุดวันนี้ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

การระบาดระลอกสามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งในตอนนั้นเมียนมาพบผู้ติดเชื้อใหม่เพียงวันละ 100 - 200 ราย ก่อนจะเพิ่มเป็นวันละ 2,000 รายในเดือนกรกฏาคม จุดพีคที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมากถึง 7,083 ราย แต่หลังจากวันนั้นยอดก็ลดลงเรื่อยๆ เหลือวันละ 5,000 ต้นๆ

อย่างไรก็ตาม กราฟที่มีแนวโน้มที่จะลดลงกลับสูงขึ้นอีกครั้ง เพราะข้อมูลล่าสุดของวันที่ 20 กรกฎาคม เมียนมาพบผู้ติดเชื้อใหม่ 5,860 ราย สูงที่สุดนับตั้งแต่จุดพีคเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม

คลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นภายในเรือนจำอินเส่ง เรือนจำในนครย่างกุ้งที่ได้ชื่อว่าคุมขังนักโทษทางการเมืองและผู้ประท้วงต้านรัฐประหารจำนวนมาก

ยังไม่ชัดเจนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากแค่ไหน แต่สำนักข่าว AP คาดการณ์ว่ามีมาก โดยเทียบกับกรณีการติดเชื้อในเรือนจำของไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นมีผู้ติดเชื้อสะสมมีมากถึง 39,000 ราย ที่ประเด็นการติดเชื้อในเรือนจำของเมียนมาเป็นที่พูดถึง เพราะล่าสุดมีนักการเมืองเมียนมาจากพรรค NLD เสียชีวิตจากโควิด-19

เขาคือ ญาน วิน ที่ปรึกษาอาวุโสของนางอองซาน ซูจี ตัวเขามีอายุ 78 ปีแล้ว ถูกจับกุมหลังเกิดรัฐประหาร และล่าสุดญาน วิน เสียชีวิตแล้วในโรงพยาบาล หลังล้มป่วยมานานหลายวัน

สถานการณ์ในเมียนมากำลังเข้าขั้นหายนะ

ล่าสุดเมื่อจันทร์ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลแห่งชาติ NUG หรือรัฐบาลคู่ขนานที่ตั้งขึ้นโดยนักการเมืองพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ออกจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการสหประชาชาติ และองค์กรต่างๆ

เนื้อหาระบุว่า เป็นจดหมายเร่งด่วนเรียกร้องความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากนานาชาติให้ช่วยแก้ไขวิกฤตเมียนมาในขณะนี้  พร้อมกันนั้นยังเตือนว่า หากรัฐบาลทหารยังเพิกเฉย หรือกระทำการใดที่เป็นอุปสรรคต่อการขจัดโควิด-19 ในที่สุดแล้วในการระบาดระลอกสามนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 400,000 คน

นอกเหนือจากการจำกัดออกซิเจนและอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ภายใต้วิกฤตโรคระบาดในเมียนมาที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับวิกฤตทางการเมือง การปราบปรามผู้เห็นต่างยังคงเกิดขึ้น  บนโลกออนไลน์เผยภาพของทหารเมียมา บุกค้นรถพยาบาล ก่อนที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่

หลายฝ่ายประณามการกระทำของทหาร โดยคาดกันว่าการมุ่งเป้าโจมตีบุคลากรทางการแพทย์เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลทหารต้องการให้การควบคุมโรคทั้งหมดดำเนินภายใต้ศูนย์ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น พวกเขาจึงไล่จับกุมแพทย์และอาสาสมัครที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับทหาร

 

คอนเทนต์แนะนำ
ชายเร่ร่อน นอนหมดสติหายใจรวยรินอยู่ริมถนน ตร.-แท็กซี่อาสาฯ ช่วยกันนำส่งรพ.
โปรแกรมแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2564

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ